ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ จุดประกาย ‘ต้านอาชญากรรมเยาวชน’ ด้วย “กีฬา”

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ผลักดัน “กีฬาเพื่อการป้องกันอาชญากรรมในเยาวชน” สู่วาระโลก ประเดิมด้วยการจัดงานเสวนานานาชาติว่าด้วยการใช้กีฬาป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มเยาวชน เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันส่งเสริมเพื่อนำไปขยายผลทั่วประเทศ

 

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่ 36,595 คน (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึง 20 พฤศจิกายน 2562) และจากงานวิจัยนานาชาติพบว่า หากกลุ่มผู้ก้าวพลาดเหล่านี้ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้านตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปัญหาการกระทำผิดในกลุ่มผู้เยาว์จะเกิดขึ้นน้อยลง ดังนั้น เด็กและเยาวชนเหล่านี้ก็ไม่ควรถูกละเลย นอกจากนี้ การใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างศักยภาพด้านร่างกายของเด็กและเยาวชน ควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิต ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นหนึ่งในแนวทางที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพและสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาดมีความพร้อมในการกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข   

 

สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากความสำเร็จ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยได้เสนอ ข้อมติ “Integrating Sport into Youth Crime Prevention and Criminal Justice” ในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) สมัยที่ 28 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้รับการรับรองโดยฉันทามติจากประเทศสมาชิก สาระสำคัญของมติดังกล่าวคือการเน้นย้ำถึงความสำคัญของกีฬาว่าเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่ากีฬามีส่วนช่วยในการส่งเสริมและฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดให้กลับมาอยู่ในสังคมและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เมื่อได้ฝึกฝนกีฬาควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิต  

 

 

ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

“TIJ ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือกับสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เห็นว่าประเด็นการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรมเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม โดยคาดหวังให้มีการนำแนวคิดนี้ไปขยายผลต่อในประเทศไทยด้วย”

 

“งานในวันนี้จัดขึ้นเพื่อบูรณาการให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน ได้ตระหนัก รับทราบถึงความสำคัญ และร่วมมือกันผลักดันการนำกีฬามาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน เพราะเรื่องเหล่านี้จะทำโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง คนใดคนหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือของพวกเราทุกคน” ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ เน้นย้ำ และกล่าวด้วยว่า “ตัวอย่างของความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือสโมสรกีฬา Bounce Be Good: เด้ง ได้ ดี ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่เล็งเห็นถึงการนำกีฬามาเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดในประเทศไทย โดยกีฬาเป็นสื่อกลางเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นพลังสำคัญของชาติ”

 

 

“สำหรับการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในเรื่องดังกล่าว มียุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 โดยส่งเสริมให้มีการใช้กีฬาเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและพัฒนาประเทศ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมภายใต้บทบาทนำของกรมพินิจฯ ก็ได้กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าว” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเสริม

 

ขณะที่ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กล่าวว่า “กีฬามีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพทั้งทางร่างกาย ทัศนคติและจิตใจของคน โดยเฉพาะบทบาทของกีฬาในการให้โอกาสเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดและสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ เพื่อให้พวกเขาได้ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของตนเอง หรือแม้กระทั่งฝึกซ้อมจนเป็นอาชีพ และขอชื่นชมรัฐบาลไทยที่มีความริเริ่มในการนำการกีฬามาใช้พัฒนาเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยทาง IOC พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนทุกรูปแบบ”

 

การเสวนาทางวิชาการ “การใช้กีฬาเพื่อการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มเยาวชน” ซึ่งจัดขึ้น วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้นำจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกีฬาและการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเยาวชน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ได้แก่ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) นายเอกภพ เดชเกรียงไกรสร ประธานสโมสรกีฬา Bounce Be Good (BBG) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และ นายนิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ รองอธิบดีกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

 

ประเด็นหลักในการเสวนา คือ ศักยภาพของกีฬาในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาและประโยชน์ของการใช้กีฬาในการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน โดยการเสวนาครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมและผู้เกี่ยวข้องได้รับความรู้ มีความตระหนัก และมีแนวทางผลักดันแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติภายในประเทศอย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กล่าวสรุปว่า “การเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหวังว่าผลจากการดำเนินงานร่วมกันต่อจากนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดี และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ รวมถึงในระดับสากล ซึ่งผลจากความร่วมมือในเรื่องนี้ ประเทศไทย นำโดย TIJ จะได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) หรือ Crime Congress ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2563 เพื่อให้เป็นที่รับรู้ในระดับสากลด้วย”

 

นอกจากนี้ ในวันที่ 16-18 ธันวาคม 2562 TIJ ร่วมกับ UNODC จัดงานประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติว่าด้วยเรื่องการใช้กีฬาในการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มเยาวชน โดยเป็นการประชุมเพื่อวิเคราะห์และรวบรวมมาตรการและแนวปฏิบัติจากนานาชาติในการนำกีฬามาใช้เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม ตลอดจนเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐในการนำไปบรรจุเป็นนโยบายระดับประเทศและระดับสากลต่อไป

 

Back