ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เสนอแก้กฎหมายและปรับขั้นตอนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม
แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมยุคโควิด-19

 

“ในปี 2551 มีผู้ยื่นคำร้องขอเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม 157 คำร้อง แต่พอมาถึงปี 2561 มีถึง 3209 คำร้อง เพิ่มขึ้นถึง 19 เท่า แต่ก็พบสถิติที่สำคัญว่า ในทุกๆ ปี จะมีคำร้องเพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมประมาณ 30-34 % ที่ไม่ได้รับการอนุมัติ”

 

ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยโดย ดร. กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ซึ่งเป็นผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกการทำงานของกองทุนยุติธรรม และเป็นหนึ่งวิทยากรที่มาร่วมถ่ายทอดมุมมอง ในเวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมสู่การเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal” ซึ่งจัดโดย สำนักงานกิจการยุติธรรม หรือ สกธ. ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 และได้รับความร่วมมือจาก เครือข่ายผู้บริหารหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development - RoLD) ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ มาร่วมเป็นวิทยากร ทั้งคุณกิรติพงศ์ คุณมณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และดร.สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูลมอโร จำกัด

 

คุณกิรติพงศ์ ฉายภาพให้เห็นว่า กองทุนยุติธรรม เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม ด้วยการสนับสนุน “เงิน” ไปช่วยเหลือในขั้นตอนต่างๆ ตามหลักการ “สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน”  และแก้ข้อกล่าวหาต่อกระบวนการยุติธรรมว่า “ติดคุกเพราะจน” แต่จากข้อมูลที่นำเสนอไป จะเห็นว่า มีคำร้องจำนวนมากของประชาชนไม่ถูกอนุมัติให้ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน เพราะติดปัญหาจากข้อกฎหมายและการตีความที่คับแคบ ตามหลักการช่วยเหลือ 4 ประการ 

 

ประการแรก คือ การช่วยเหลือในการดำเนินคดี ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือว่าต้องอยู่ในสถานะที่กลายเป็นคดีความแล้วเท่านั้น หากยังไม่เป็นคดี จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ และต้องถูกประเมินว่ามีฐานะยากจน แต่ยังไม่มีมาตรฐานเกณฑ์การประเมินที่เป็นธรรม จึงเสนอว่า จะต้องปรับปรุงกฎหมายโดยลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัด เช่น การประเมินฐานะว่ายากจนหรือไม่ โดยดูจากเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่

 

ประการที่สอง คือ การช่วยเหลือให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีเช่นเดียวกับจำเลยที่เป็นคนรวย แต่ก็พบว่า รูปแบบการประเมินใช้การตีความกฎหมายว่า ถ้าให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหามีความเสี่ยงจะหลบหนีคดีหรือไม่ หรือก่อคดีที่เป็นภัยต่อความสงบสุขหรือไม่ ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้มีสถิติผู้ต้องหาที่มีภูมิลำเนาใกล้ชายแดนและผู้ต้องหาคดียาเสพติดมักจะได้รับสิทธิช่วยเหลือ ข้อนี้จึงเสนอว่า ต้องแก้ไขด้วยการใช้ความรุนแรงของโทษตามข้อกล่าวหาเป็นเกณฑ์ว่าจะให้ปล่อยตัวหรือไม่

 

ประการที่สาม คือ การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งพบว่า ผู้ที่ไม่ถูกอนุมัติคำร้อง เป็นเพราะการตีความเช่นกัน ว่าต้องเป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจงใจกลั่นแกล้ง หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งคับแคบเกินไป

 

ประการที่สี่ คือ การช่วยเหลือด้านการให้ความรู้กับประชาชน ก็ถูกตีกรอบว่าต้องเป็นโครงการที่มาจากส่วนกลางเท่านั้น ทำให้โครงการที่ได้รับอนุมัติขาดความหลากหลาย

 

คุณกิรติพงศ์ ย้ำว่าทั้งหมดนั้น คือปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมามากกว่าเดิม เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำงานที่บ้านมารับเรื่องโดยตรงไม่ได้ ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือก็มายื่นเรื่องโดยตรงไม่ได้ หรือแม้แต่การพิจารณาอนุมัติว่าจะให้เงินไปช่วยเหลือในคำร้องใดก็ต้องประชุมผ่านออนไลน์ ยากต่อการพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงเสนอว่า กองทุนยุติธรรม ควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาระบบการทำงานให้ทันสมัย เช่น เปลี่ยนจากการใช้กระดาษมาใช้ระบบไฟล์ดิจิทัล สร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม พัฒนาระบบ Big Data และกระจายอำนาจให้หน่วยงานของกองทุนในท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจอนุมัติความช่วยเหลือมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมให้มากขึ้น

 

“ผลการสำรวจทางออนไลน์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 ถึง กันยายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศบังคลาเทศ อินเดีย เนปาล อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทย จากกว่า 20.5 ล้านตัวอย่าง พบ 3500 คำที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยกว่า 80% เป็นประเทศที่มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก” 

 

 

คุณมณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เปิดเผยผลงานวิจัยของ UN Women ที่มีชื่อว่า COVID-19 and Violence Against Women : The Evidence Behind The Talk ซึ่งค้นพบ “คำ” ที่ถูกโพสต์ลงในโลกออนไลน์จำนวนมากแสดงออกถึงความรุนแรงต่อผู้หญิง รวมทั้งยังใช้ AI ค้นพบภาพในโซเชียลมีเดียที่มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเช่นกัน พร้อมระบุว่าในประเทศที่มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติมาอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะใน ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ คนกลุ่มนี้จะอยู่ในภาวะวิตกกังวล เศร้า หวาดกลัวไม่สามารถติดต่อครอบครัวได้ โดยเฉพาะในช่วงของการล็อกดาวน์ พวกเขายังขาดข้อมูลเพราะไม่เข้าใจภาษาของประเทศที่อาศัยอยู่ดีพอ

 

เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษ UN Women ยังเปิดเผยผลการสำรวจช่วงเดือนตุลาคม ปี 2019 ถึง ตุลาคม 2020 โดยพบการใช้ TWITTER ในประเทศไทย กลายเป็นแหล่งที่ใช้ภาษาที่มุ่งร้ายทำให้เสียศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง หรือมีการใช้คำศัพท์ที่เหยียดเพศอยู่มากที่สุดเมื่อเทียบกับชาติอื่น รวมไปถึงพฤติกรรมที่เรียกกันว่า “ล่าแม่มด” และเมื่อเจาะจงไปที่ลักษณะพฤติกรรมรุนแรงในโลกออนไลน์ของประเทศไทย จะพบคำที่บ่งชี้ถึง พฤติกรรมความรุนแรงของคู่รักมากที่สุด รองลงมาคือการใช้ภาษาที่รุนแรงซึ่งทำร้ายต่อจิตใจของเด็ก และอันดับที่สาม คือ ความรุนแรงต่อผู้หญิง

 

แม้จะพบปัญหาความรุนแรงเหล่านี้เป็นจำนวนมากจากสังคมออนไลน์ในประเทศไทย แต่กลับพบด้วยว่า ผู้ถูกกระทำบางส่วนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้กระทำความรุนแรงในสังคมออนไลน์เป็นใคร อยู่ที่ไหน และพบว่าส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะไม่ไว้ใจองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือ และ รวมทั้งยังพบอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ ไทยเป็นประเทศที่มีสถานการณ์การกล่าวโทษประณามผู้ถูกกระทำว่า สมควรแล้วที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ เลือกที่จะไม่บอกใคร

 

คุณมณฑิรา ย้ำด้วยว่า ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยิ่งขยายวงขึ้น แต่ยากจะเข้าถึงได้ เพราะเหยื่ออาศัยอยู่ด้วยกันกับผู้ก่อเหตุ แม้แต่เพื่อนบ้านหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็เข้าไปช่วยเหลือได้ยาก

 

ดร.สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูลมอโร จำกัด ในฐานะผู้ที่ผลิตสื่อสร้างสรรค์ในชื่อเพจ Toolmorrow ได้อธิบายถึง โครงการอบรมทางออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาความไม่เข้าใจในครอบครัวคือ โครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โดยระบุว่า ในช่วงที่ผู้ปกครองต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาทำงานที่บ้านพร้อมกันกับที่เด็กๆ ต้องเรียนทางออนไลน์ และการอยู่ร่วมกันตลอดเวลา ทำให้ผู้ปกครองเห็นพฤติกรรมติดเกมออนไลน์ของลูก ในขณะที่มีความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 ต้องหยุดงาน มีรายได้ลดลงอยู่แล้ว จนมีหลายครอบครัวใช้รูปแบบ “การสื่อสารทางลบ” ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก บานปลายไปเป็นปัญหาใหญ่ในครอบครัว  จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมโครงการนี้ขึ้น

 

 

 

“ในช่วงปกติจะมีเครื่องมือที่ผู้ปกครองสามารถติดต่อเข้าอบรมเมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ เรียกว่า โรงเรียนพ่อแม่ แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ต้องล็อกดาวน์ ทำให้โรงเรียนพ่อแม่ ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งทำงานไม่ได้ตามไปด้วย เราจึงสร้างโครงการ คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ขึ้นมา ทำให้ผู้ปกครองสามารถสมัครเข้ามาอบรมได้ ลดภาระค่าคอร์สเรียน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเสียเวลาลองผิดลองถูก และค่าปรึกษาจิตแพทย์ จึงเห็นว่า การอบรมทางออนไลน์เช่นนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของกลุ่มที่มีปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ปกครองกับลูกได้”

 

ส่วนรูปแบบการอบรม จะแยกผู้ปกครองออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามวัยของเด็กและจัดกลุ่มเล็กไม่เกิน 6-7 คนต่อกลุ่ม โดยกลุ่มที่มีผู้ปกครองเข้าร่วมโครงการมากที่สุดคือกลุ่มที่มีลูกอยู่ในช่วงอายุ 9-18 ปี มีผู้ปกครองที่เคยอบรมมาแล้วมาเป็นผู้นำกลุ่ม 1 คน เป็นผู้ปกครองอาสาอีก 1 คน มีช่องทางให้ผู้ปกครองทำการบ้านทางเว็บไซต์และแชทบอท มีช่องทางให้แต่ละคนเล่าประสบการณ์ผ่านวีดีโอคอลในกลุ่ม

 

“อุ้ม” เยาวชนคนหนึ่งที่เป็นเด็กติดเกม และเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกับคุณแม่ จนมีปากเสียงรุนแรง เข้าไปเก็บตัวอยู่ในห้อง เล่าผ่านคลิปในเวทีเสวนาว่า เมื่อคุณแม่ตัดสินใจเข้าอบรม ก็ใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยนขึ้นในการพูดคุยกับเธอ หันมาขอร่วมดูเกมด้วยว่าเป็นอย่างไร และเมื่อเห็นว่าแม่มีความพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม เธอก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนให้แม่บ้าง นำไปสู่การวางข้อตกลงร่วมกัน ให้เธอมีเวลาส่วนตัวที่จะเล่นเกม และแบ่งเวลามาใช้ชีวิตร่วมกับคุณแม่ กินข้าวร่วมกัน

 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูลมอโร บอกว่า โครงการ “คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน” มีผู้สมัครเข้าอบรมกว่า 4,000 คน แต่สามารถรับได้เพียง 600 คน มีผู้ปกครองที่เรียนจบโครงการ 494 คน และสามารถสร้างเครือข่ายต่อเนื่องไปได้อีกนับหมื่นคน ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้เขามองว่า ยังจำเป็นต้องขยายช่องทางการเข้าถึงเพื่อให้รองรับผู้ปกครองที่สนใจได้มากขึ้น ต้องสร้างผู้นำกลุ่มและผู้ปกครองอาสาเพิ่มขึ้นให้เพียงพอ และยังจำเป็นต้องขยายฐานของกลุ่มเป้าหมายจากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางไปยังกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยด้วย เพราะจะช่วยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้

 

Back