ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เสวนาออนไลน์เปิดตัว “รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021”

 

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (PRI) จัดเสวนาออนไลน์เปิดตัวรายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021 (Global Prison Trends 2021) รายงานที่จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยความร่วมมือระหว่าง TIJ และ PRI เพื่อนำเสนอแนวโน้มและประเด็นท้าทายต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเกี่ยวกับการใช้โทษจำคุกและการบริหารเรือนจำทั่วโลก นอกจากงานเสวนาดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวรายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021 แล้ว ยังเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเข้าร่วมการเสวนาในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับความท้าทายปัจจุบันในการบริหารจัดเรือนจำในหลากหลายภูมิภาค โดยมีโอลิเวีย โรป ผู้อำนวยการ PRI เป็นผู้ดำเนินรายการ และดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ เป็นผู้กล่าวทิ้งท้ายในการเสวนา

 

ประเด็นสำคัญที่รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลกในปีนี้มุ่งเน้น คือ สถานการณ์ในเรือนจำภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และแนวทางการบริหารจัดการ พร้อมด้วยรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรือนจำในภาวะวิกฤตรูปแบบต่าง ๆ

 

โควิด-19 เผยให้เห็นโลกหลังกำแพงที่น่าห่วงกังวลยิ่งขึ้น

 

ทรีน่า เลนิฮาน ผู้จัดการด้านนโยบายและการรณรงค์ระหว่างประเทศ จาก PRI นำเสนอข้อค้นพบสำคัญจากรายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021 ว่า ปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ต้องขังทั่วโลกมากกว่า 11 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากทศวรรษที่ผ่านมาถึงร้อยละ 8 โดยมีเรือนจำใน 118 ประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้ และมี 11 ประเทศที่มีผู้ต้องขังมากกว่าความจุเรือนจำถึง 250% โดยบางประเทศมีอัตราความหนาแน่นสูงถึง 450-600% เช่น ประเทศเฮติ ฟิลิปปินส์ และคองโก และปีนี้ยังเป็นปีที่มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำสูงที่สุด คือมากกว่า 7.4 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 17% นับจากปี 2010 ส่วนใหญ่ถูกจำคุกด้วยคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และคดีความผิดที่อัตราโทษต่ำ

 

ทรีน่า ชี้ว่า ปัจจัยที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขังคือ นโยบายด้านยาเสพติด การคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี การบังคับใช้โทษจำคุกเป็นระยะเวลานานหรือแม้แต่ตลอดชีวิต รวมถึงการบังคับใช้โทษ เช่น การจำคุกระยะสั้นกับผู้กระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง และความผิดฐานฝ่าฝืนข้อบังคับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นและทำให้เรือนจำในบางประเทศแออัดยิ่งขึ้น

 

กลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างรอศาลพิจารณาตัดสินคดี ปัจจุบันมีจำนวนสูงถึง 3 ล้านคนทั่วโลก โดยในช่วงแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 ศาลในหลายประเทศได้ออกมาตรการปล่อยตัวคนกลุ่มนี้ โดยในช่วงปี 2020 จำนวนผู้ต้องขังระหว่างลดลงไป 43% ในประเทศโคลัมเบีย และ 17% ในเปรู ทั้งนี้ เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ต้องขังระหว่างลดลงไปมาจากการงดหรือเลื่อนการพิจารณาคดีของศาลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021 ระบุว่า เพื่อลดความแออัดของเรือนจำ หลายประเทศเลือกใช้มาตรการฉุกเฉินในการปล่อยตัวผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ตั้งครรภ์ โดยมีผู้ต้องขังทั่วโลกรวมประมาณ 475,000 คน ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอย่างน้อยใน 109 ประเทศ จำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวฉุกเฉิน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2563 คิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรผู้ต้องขังทั้งหมด

 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนปัญหาดั้งเดิมของเรือนจำทั้งในด้านการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันและความล้มเหลวในด้านการบริหารจัดการบริการสุขภาพให้ได้มาตรฐาน รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021 ชี้ว่า มีผู้ต้องขังเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 3,931 ราย ใน 47 ประเทศ และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 532,100 รายใน 122 ประเทศ อย่างไรก็ดี ผลกระทบของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าตัวเลขนี้มาก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบที่แท้จริงของโรคโควิด-19 ต่อการบริหารจัดการเรือนจำ และที่สำคัญคือมีเรือนจำมากกว่า 80 ประเทศ ที่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการระบาดในเรือนจำ

 

นอกจากการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังมีรายงานด้วยว่าปีนี้มีผู้ต้องขังในเรือนจำบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบในเรือนจำ เนื่องจากผู้ต้องขังไม่พอใจต่อมาตรการของเรือนจำระหว่างการล็อกดาวน์ จนนำไปสู่การใช้กำลังเพื่อปราบปรามการประท้วง

 

ทรีน่า แสดงความกังวลต่อมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำบางมาตรการที่มีลักษณะอาจจะกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง เช่น มาตรการแยกผู้ต้องขังโดยการแยกขังเดี่ยวติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี รายงานได้ชี้ถึงความก้าวหน้าในการป้องกันโรคโควิด-19 ในเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งพบว่าขณะนี้มีมากกว่า 13 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรปที่กำหนดให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญลำดับแรก ๆ ที่จะได้รับวัคซีนก่อน เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง

 

ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลานาน จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ เพราะต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ต้องขังใหม่และผู้ต้องขังที่เข้าออกเรือนจำ รายงานฉบับนี้ยังชี้ว่าในบางประเทศมีเจ้าหน้าที่เรือนจำติดเชื้อสูงถึง 88% ของยอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั้งหมด ในขณะที่หลายประเทศไม่เปิดเผยตัวเลขการติดเชื้อในกลุ่มเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน ปัญหาความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่เรือนจำเชื่อมโยงกับปัญหาใหญ่ในเชิงระบบ คือ เรือนจำทั่วโลกใช้งบประมาณ ไม่ถึง 0.3% ของ GDP ในการบริหารเรือนจำ (ข้อมูลจากรายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก ปี 2020) ประกอบกับปัญหานักโทษล้นคุก จึงมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับปริมาณงาน โดยสถิติแล้วเรือนจำทั่วโลกมีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ 1 ต่อ 1 คน ไปจนถึง 1 ต่อ 28 คน

 

ทรีน่า กล่าวทิ้งท้ายว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้นำมาซึ่งความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบเรือนจำ ให้มีการบริหารจัดการที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในเรือนจำได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น และหวังว่าจะทำให้เรือนจำทั่วโลกเข้าใจถึงสถานการณ์มากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

 

เรียกร้องปฏิรูปนโยบายยาเสพติด-ปัจจัยหลักทำผู้ต้องขังล้นคุก

 

“เราควรล้มเลิกความคิดที่ว่า การกระทำใดที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสังคม หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเรา การกระทำนั้นคือ ‘อาชญากรรม’ ส่วนการใช้ยาเสพติดก็ควรลดทอนความเป็นอาชญากรรมลง” รูท ไดรฟัสส์ อดีตประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส และสมาชิกของคณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติด กล่าวระหว่างร่วมการเสวนา

 

รูท ยังกล่าวด้วยว่า ในปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจำนวนมาก เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะลดจำนวนผู้ต้องขังได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากหลายประเทศยังคงใช้โทษจำคุกกับคดีความผิดที่ไม่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ต้องขังเกี่ยวกับคดียาเสพติดทั้งหมด 2.5 ล้านคน และร้อยละ 22 เป็นการกระทำผิดในข้อหาครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ

 

“การบังคับใช้โทษจำคุกเป็นระยะเวลานานสำหรับคดีความผิดที่ไม่รุนแรง ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล และสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของการลงโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นรายย่อยในกระบวนการค้ายาเสพติด ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพและข้อจำกัดที่เกิดจากการที่นโยบายควบคุมยาเสพติดให้ความสำคัญกับโทษเพียงสถานเดียวคือโทษจำคุก ซึ่งเป็นกระแสที่พบเห็นได้ทั่วทุกมุมโลก”

 

การใช้โทษจำคุกในคดียาเสพติด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ดังนั้น หลายประเทศจึงเริ่มหันไปใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังกับคดียาเสพติด โดยรูทระบุว่า ในบางประเทศ เช่น โคลอมเบีย กาน่า ตูนิเซีย เซเนกัล เอกวาดอร์ ได้ปฏิรูปนโยบายยาเสพติด เพื่อลดการใช้โทษจำคุก หรือในเซเนกัลและเอกวาดอร์ ก็หันมาใช้การทำงานบริการชุมชนแทนการจำคุก นอกจากนี้ ประเทศที่มีบทลงโทษต่อคดียาเสพติดที่รุนแรง อย่างเช่น มาเลเซียและอิหร่าน ก็กำลังทบทวนโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติดเช่นกัน

 

“ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในหัวข้อพิเศษว่าด้วยการกำหนดบทลงโทษในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้เหมาะสมและใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง เมื่อปี 2016 คณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติดได้เรียกร้องให้นานาประเทศให้พันธสัญญาว่าจะใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังดังกล่าว พร้อมทั้งตระหนักถึงความจริงที่ว่าการใช้โทษจำคุกมากเกินไปเป็นนโยบายที่ล้าสมัยในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด และเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เช่น เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ และเป้าหมายที่ 16 การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขยุติธรรม”

 

“การใช้โทษจำคุกในคดียาเสพติดเป็นมาตรการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ มีค่าใช้จ่ายสูง ไร้ประสิทธิภาพและสร้างผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจและสังคม” รูท กล่าวต่อ และเสนอแนะว่า การปฏิรูปที่จำเป็นในขณะนี้มี 2 ประการ ประการแรกคือ “เราควรล้มเลิกความคิดที่ว่า การกระทำใดที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสังคมหรือไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเรา สิ่งนั้นถือเป็น ‘อาชญากรรม’ และการใช้ยาเสพติดก็ควรลดทอนความเป็นอาชญากรรมลง”

 

“ประการที่สองคือ การให้ความสำคัญกับการลงโทษที่ได้สัดส่วนและนำมาตรการแทนการคุมขังมาใช้ในคดียาเสพติดเล็กน้อย สามารถช่วยลดแรงกดดันต่อระบบเรือนจำในการบริหารจัดการเรือนจำให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ข้อกำหนดแมนเดล่าได้ระบุไว้ว่า เรือนจำควรมีบทบาทในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดและสนับสนุนการกลับคืนสู่สังคม รวมทั้งไม่ทำให้คนที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง เช่น ผู้เสพยาเสพติด ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” รูทกล่าวปิดท้าย

 

โควิด-19 กับสถานการณ์เรือนจำในละตินอเมริกา

 

ด้าน มาเรีย ลุยซา โรเมโร อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ประเทศปานามา และสมาชิกของคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งร่วมนำเสนอในหัวข้อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กับนโยบายเรือนจำในภูมิภาคละตินอเมริกา กล่าวว่า ปัญหานักโทษล้นคุกเป็นปัญหาใหญ่ในละตินอเมริกา เรือนจำบางแห่งมีผู้ต้องขังมากเกินกว่าศักยภาพเรือนจำจะรองรับได้ถึง 300%  ผู้ต้องขังจำนวนมากไม่มีเตียงนอน ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขอนามัย บริการทางการแพทย์ หรือ แม้กระทั่งน้ำดื่ม และสบู่

 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น การออกมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดนำไปสู่การก่อเหตุไม่สงบในเรือนจำ กระทั่งเกิดเหตุการณ์อันน่าสลด อย่างเช่นการประท้วงในเรือนจำที่เวเนซูเอลาซึ่งทำให้มีผู้ต้องขังเสียชีวิต 10 ราย นอกจากนี้ ผู้คนในเรือนจำยังต้องเผชิญกับแรงกดดัน ความไม่แน่นอน และการขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่

 

การปล่อยตัวผู้ต้องขังจึงเป็นมาตรการหนึ่งตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และแนวคิดนี้ก็เป็นที่ยอมรับให้นำมาใช้ เช่น ในอาร์เจนตินา และบราซิล ที่ศาลตัดสินหรือทบทวนคำพิพากษาให้ผู้ต้องขังรับโทษอื่นนอกจากการคุมขังได้ เช่น การจำคุกที่บ้านแทนการคุมขังในเรือนจำมาเรีย ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้ต้องขังบางส่วนก็ไม่ประสงค์จะได้รับการปล่อยตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้พร้อมกลับคืนสู่สังคม ผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยที่มีงานในเรือนจำซึ่งช่วยสร้างรายได้เลี้ยงชีพ แต่อาจต้องสูญเสียรายได้ไปหากได้รับการปล่อยตัว

 

“โรคระบาดได้ก่อให้เกิดข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปการลงโทษทั่วโลก ความพยายามให้ลดการพิพากษาโทษจำคุกไม่เคยถูกผลักดันอย่างมหาศาลเช่นนี้มาก่อน และควรจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” มาเรีย กล่าว และทิ้งท้ายด้วยว่า รัฐมีศักยภาพที่จะช่วยให้มาตรการเพื่อการปฏิรูปการลงโทษเป็นรูปธรรมได้ ขณะที่เทคโนโลยีนั้นถึงแม้จะนำมาช่วยบรรเทาข้อขัดข้องในการสื่อสารช่วงโรคระบาดได้ดี แต่ก็ต้องถือเป็นมาตรการส่วนเสริมเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่การเยี่ยมญาติโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เพื่อมิให้กลายเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังไป และควรมีการศึกษาวิจัย เพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

 

ปัญหาสุขภาพจิตในเรือนจำทวีความรุนแรงขึ้นหลังการระบาดของ COVID-19

 

ศาสตราจารย์ฮานส์ วูล์ฟ รองประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม นำเสนอในหัวข้อ สุขภาพและสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกล่าวถึงสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเกิดการติดเชื้อในเรือนจำ อัตราการแพร่ระบาดของเชื้อภายในเรือนจำรวดเร็วกว่าในชุมชนมากถึงสิบเท่าในบางมลรัฐ

 

“กลุ่มเปราะบางควรต้องได้รับการดูแลด้วยการฉีดวัคซีน” ศาสตราจารย์ ฮานส์ กล่าวเสริม หลังจากระบุว่า หลายประเทศมีแผนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน แต่กลับละเลยผู้ต้องขัง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและเสียชีวิต

 

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ฮานส์ยังชี้ถึงปัญหาสุขภาพจิตของผู้ต้องขังที่เริ่มย่ำแย่ลง อันเป็นผลมาจากการบริหารเรือนจำในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสาร ถูกแยกคุมขัง ต้องงดการติดต่อสื่อสารหรือทำกิจกรรมร่วมกันในเรือนจำและกับบุคคลภายนอกเรือนจำ โปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูที่ถูกระงับ ตลอดจนกระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้า ล้วนนำไปสู่ภาวะเครียดสะสมและอาการเกี่ยวกับสุขภาพจิตอื่น ๆ  ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อภาวะทางจิตใจของผู้ต้องขัง และนำไปสู่ความพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง

 

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับรายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021 ที่ระบุว่า โดยทั่วไปประชากรผู้ต้องขังมีอาการของโรคจิตเภทในอัตราที่สูงกว่าคนภายนอก โดยชี้ว่าประชากรผู้ต้องขังประมาณ 10-12% มีภาวะโรคซึมเศร้า เปรียบเทียบกับ 2-5% ในกลุ่มประชากรภายนอก หรือผู้ต้องขัง 21% มีสภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder - PTSD) เทียบกับประชากรภายนอกซึ่งมีเพียง 3% ที่เผชิญกับภาวะดังกล่าว พื้นฐานทางสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ประกอบกับระบบสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอส่งผลให้สถานการณ์ของผู้ต้องขังเลวร้ายลง ข้อมูลในยุโรป
แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องขังมีอัตราการทำร้ายตัวเองในช่วงเดือนธันวาคม 2563 - มีนาคม 2564 เพิ่มสูงขึ้นถึงสามเท่าเมื่อเทียบกับช่วงห้าปีที่ผ่านมา

 

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการด้านสุขภาพของผู้ต้องขังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศาสตราจารย์ ฮานส์ ได้ยกตัวอย่างกรณีของสภายุโรปว่าได้ออกประกาศหลักการว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในภาวะวิกฤต ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการแทนการคุมขัง  ให้กลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ ตลอดจนเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล เป็นต้น โดยเน้นย้ำว่า วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนที่ดีในการแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขในเรือนจำระยะยาว

 

“เรามีระบบยุติธรรมที่เน้นการจำคุก เหยียดเชื้อชาติ ไร้มนุษยธรรม” – การเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของสหรัฐฯ  

 

ดอนนา ฮิลตัน นักเขียน นักรณรงค์ด้านความยุติธรรมทางอาญา และอดีตผู้ต้องขังในเรือนจำสหรัฐอเมริกา ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในการเสวนา และกล่าวถึงการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่พบในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ และคนกลุ่มนี้ประสบกับปัญหาจากการเลือกปฏิบัติเมื่อเข้าสู่ระบบเรือนจำ

 

“สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ทั่วโลกมักจะมองว่าเป็นต้นแบบของระบบยุติธรรม แต่เรากลับมีระบบยุติธรรมที่เน้นการกักขัง จำคุกคนผิวดำ เหยียดเชื้อชาติ ไร้มนุษยธรรม และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ดังเช่นคดีของจอร์จ ฟลอยด์ ที่คงจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี” ฮิลตัน กล่าว

 

ในแง่การบริหารจัดการเรือนจำสหรัฐฯ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฮิลตัน ระบุว่า ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เมื่อแรกเกิดการแพร่ระบาด ผู้คนในเรือนจำไม่ได้รับการดูแลอย่างดีพอ อีกทั้งอุปกรณ์และมาตรการที่มีก็ไม่เพียงพอ “เมื่อคุณอยู่ในเรือนนอนภายในเรือนจำ การเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นทำไม่ได้จริง” และคนส่วนใหญ่ในเรือนจำก็ถูกละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงผิวดำ

 

ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายในการเสวนา โดยสรุปว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราเห็นถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมชัดเจนขึ้น และถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ความแออัดจากผู้ต้องขังล้นเรือนจำและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทำให้เรือนจำทั่วโลกกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายของไวรัส นำมาซึ่งผลกระทบด้านสุขภาพ ชีวิต และการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกล่าวทิ้งท้ายว่า “หัวใจสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือการจัดลำดับความสำคัญ และเราควรต้องลงทุนในมาตรการที่มุ่งแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ดังนั้น เรือนจำจึงอาจไม่ได้เป็นเพียงแนวทางเดียวที่ตอบสนองต่อเป้าหมายนี้ หากแต่ยังมีมาตรการทางเลือกอื่น ๆ แทนการคุมขัง ที่อาจเหมาะสมยิ่งกว่าในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดและไม่สร้างปัญหาความแออัดในเรือนจำ”


ดาวน์โหลด
รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021 ฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) 

Back