แก้โจทย์ผู้ต้องขังหญิงล้นเรือนจำ ด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้ต้องขังต่อประชากรสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ด้วยจำนวนผู้ต้องขังอยู่ที่ 265,000 คน (ข้อมูล ณ มีนาคม พ.ศ. 2565) โดยมากกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ต้องขังที่กระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวนไม่น้อยต้องโทษ 3-5 ปี ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดประเภทครอบครองเพื่อเสพ หรือครอบครองยาเสพติดจำนวนไม่มากเพื่อจำหน่าย และไม่ใช่ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า มีผู้ต้องขังจำนวนมากที่ถูกคุมขังก่อนการพิพากษาคดี
สำหรับกลุ่มผู้กระทำผิดหญิง ซึ่งแม้จะมีเพียงร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรผู้ต้องขังทั่วโลก แต่แนวโน้มจากทั่วโลกก็แสดงให้เห็นว่ามีอัตราการจำคุกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังชาย และยังเป็นแนวโน้มเดียวกันกับที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
จากสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัด "การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย" (Workshop on Non-custodial Measure in Thailand) ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายนที่ผ่านมา ให้แก่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้เป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทย ในการนำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขัง มาเผยแพร่และปฏิบัติต่อไปในประเทศไทย โดยมีหัวข้อสำคัญ ได้แก่ ความสำคัญของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังและมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในปัจจุบัน การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศสภาวะ ข้อท้าทายในปัจจุบันและแนวทางในอนาคต และการเปิดตัว “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อต่อเพศภาวะ (ฉบับภาษาไทย)”
***
นิยามว่าด้วยแนวปฏิบัติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ (gender-sensitive measures)
แนวปฏิบัติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ (gender-sensitive measures) คือ การกระทำที่สนับสนุนให้มีการดำเนินการในเรื่องมาตรการที่ตอบสนองต่อเพศภาวะอย่างเข้มงวด โดยส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงประเด็นการตอบสนองต่อเพศภาวะมากขึ้น และเปลี่ยนจากแนวทางที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศหรือแนวทางที่ขาดมุมมองในเรื่องบทบาททางเพศที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิงไปสู่แนวทางที่ตระหนักรู้ มุ่งที่จะแก้ไขและเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางเพศภาวะ บทบาท และความไม่เท่าเทียมกันที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง
ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม[1]
***
“การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้กำหนดบทลงโทษจำคุกมากเกินไป ซึ่งเป็นผลให้เรือนจำต้องประสบปัญหาความแออัดดังเช่นปัจจุบัน การลงทุนในการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังมาใช้จะช่วยให้กระบวนการยุติธรรมอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด”
Sven Pfeiffer ผู้แทนส่วนงานยุติธรรมจาก UNODC กล่าว
อีกทั้งเสริมด้วยว่า หวังว่าการผลักดันการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะในประเทศไทยจะช่วยลดการนำกฎหมายอาญามาใช้กับความผิดของผู้หญิงที่มีปัญหาติดสารเสพติด ผู้หญิงที่กระทำผิดในคดียาเสพติดที่ไม่ร้ายแรง และความผิดของผู้หญิงในด้านที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศและภาวะเจริญพันธุ์ ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการจัดการเรือนจำ สนับสนุนการกลับเข้าสู่สังคมอย่างปกติสุข และลดการกระทำผิดซ้ำได้ในอนาคต
ด้าน ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า “เชื่อมั่นว่าการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและได้รับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ว่ามีแนวทางการจัดการผู้กระทำผิดอย่างไร มีแนวทางแก้ไขอย่างไร และทำให้มีความเชื่อและความหวังร่วมกันว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อยในการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะมาใช้ และเอื้อให้เกิดประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรม ทำให้สังคมมีความปลอดภัย และไว้วางใจซึ่งกันและกันได้”
ภาพรวมการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในปัจจุบัน
Sven Pfeiffer ผู้แทนส่วนงานยุติธรรมจาก UNODC เกริ่นนำถึงความสำคัญของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังมาใช้ว่าจะมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจต่อทั้งผู้ต้องขัง ครอบครัวของผู้ต้องขัง และชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ลดการกระทำผิดซ้ำ ลดโอกาสสร้างทักษะทางอาชญากรรมเพิ่มจากการเรียนรู้ในเรือนจำ
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ต้องขังประมาณ 12 ล้านคน และผู้ต้องขังราว 3 ล้านคนเป็นผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับการตัดสินโทษเด็ดขาด ดังนั้นการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังจึงเป็นทางเลือกที่มีส่วนช่วยลดความแออัดในเรือนจำ และผลกระทบอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วได้ และที่ผ่านมาพบว่า หลายประเทศประสบความสำเร็จในการนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เวลส์และอังกฤษ คอสตาริกา และเยอรมนี ส่วนแนวทางเลือกที่ใช้แทนการจำคุก อาทิ การให้ประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ การให้บริการสังคม การติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ การคุมขังภายในบ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศและข้อกำหนดสหประชาชาติ อาทิ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขัง (ข้อกำหนดโตเกียว) และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) รวมไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 (ความเท่าเทียมทางเพศภาวะ การสร้างความเข้มแข็งให้กับเด็กผู้หญิงทุกคน) และเป้าหมายที่ 16.3 (การเข้าถึงระบบยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน) รวมทั้งเป้าหมายในการไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลังขององค์การสหประชาชาติ
“หลักสำคัญคือ การไม่แบ่งแยกและให้มั่นใจว่าผู้กระทำผิดทุกคนได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิที่จะใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง ทั้งในช่วงก่อนการตั้งข้อหาและก่อนการพิจารณาคดี ระหว่างการพิจารณาคดีและการกำหนดโทษ และหลังการพิจารณาคดี” Sven Pfeiffer กล่าว
อย่างไรก็ดี ความท้าทายของการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังไปใช้ คือการที่คนในสังคมยังไม่ยอมรับ เพราะต้องการให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษมากกว่าการประนีประนอม จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม เช่น การสร้างความตระหนักรู้ให้คนในสังคมเห็นประโยชน์จากการใช้มาตรการดังกล่าว เกิดความเข้าใจและยอมรับมากขึ้น
ด้าน ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษา TIJ ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในภูมิภาคอาเซียน โดย ดร.นัทธี นำเสนอว่า หลายประเทศในอาเซียนมีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้บ้างตั้งแต่ระบบคัดกรองคนเข้าเรือนจำ ถึงกระบวนการหลังการพิจารณาคดี แต่ไม่อยู่ในระดับที่เข้มงวด ทำให้หลายประเทศประสบปัญหานักโทษล้นเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ยกเว้นเพียงสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้อย่างเข้มงวดทั้งในขั้นตอนก่อนการตั้งข้อหาและก่อนการพิจารณาคดี ระหว่างการพิจารณาคดีและการกำหนดโทษ ตลอดจนขั้นตอนหลังการพิจารณาคดี
สำหรับประเทศไทยมีการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังมาใช้อยู่บ้างในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมโดยในขั้นแรกก่อนการตั้งข้อหาหรือพิจารณาคดี ตำรวจสามารถดำเนินการได้ เช่น การปรับ ในขั้น ระหว่างพิจารณาคดี อัยการอาจจะมีมาตรการในการชะลอการส่งฟ้อง และในขั้นพิจารณาคดี ศาลสามารถเลือกใช้มาตรการแทนการคุมขังได้หลายประเภท เช่น การคุมประพฤติ การบริการสังคม การคุมขังที่บ้านหรือบ้านเปลี่ยนวิถี การพักโทษ การกำหนดให้รับการอบรม หางานทำ เพื่อแก้ไขพฤติกรรมต่างๆ
“ในอาเซียนเหมือนกับไทยคือ ส่วนใหญ่คนในสังคมมีทัศนคติว่าคนทำผิดต้องติดคุก ถ้าไม่ติดคุกจะสงสัย เกิดคำถามทำไมคนนี้ผิดไม่ติดคุก เพราะอะไร ในอาเซียนด้วยกันจะเห็นว่า ประเทศเหล่านี้จะไม่มีระบบการกรองคนเข้าเรือนจำ เช่น กัมพูชา มีกฎหมายคุมประพฤติ เลี่ยงโทษจำคุก แต่ไม่เอามาปฏิบัติ ศาลไม่สั่ง เพราะระเบียบวิธีการยังไม่มี ไม่มีการผลักดันขับเคลื่อน”
“ในอาเซียนที่พร้อมสุดคือ สิงคโปร์ คุมประพฤติ บริการสาธารณะต่างๆ มีความพร้อมมาก ในขณะที่แบกเอนด์มีระบบกรองคนออก พักการลงโทษ มีการรองรับด้วยระบบอาสาสมัครที่มีประสิทธิภาพ มีชมรม yellow ribbon ช่วยดูแลผู้พ้นโทษ มีหน่วยงาน Singapore Corporation of Rehabilitative Enterprises (SCORE) ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการหางาน ฝึกอาชีพ Yellow Ribbon มีกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนช่วยเหลือผู้พ้นโทษ ไม่ประนาม เปิดรับผู้พ้นโทษ หากผู้พ้นโทษกลับตัว”
ดร.นัทธี กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย ปัญหาเกิดจากคดียาเสพติด เมื่อมีคนเสพยามาก และยาเสพติดราคาลดลง คนที่เสพยาก็พยายามหายาเสพติดไว้ในครอบครองครั้งละมากๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อบ่อย ทำให้กลายเป็นครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ แต่จากจำนวนเม็ดที่ครอบครองทำให้ต้องดำเนินคดีครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย ทำให้ต้องโทษจำคุก ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมไทยจึงต้องใช้มาตรการทางเลือกหลังจำคุก หรือการอภัยโทษ การพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เพื่อกรองคนออกจากเรือนจำ โดยกรองคนในคดีเล็กน้อยอย่างคนเดินยาออกไป แต่คนที่เป็นคนร้ายจริงๆ ก็จำเป็นต้องมีมาตรการที่จะเก็บคนเหล่านี้ไว้เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสังคม
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้รับฟังประสบการณ์และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในปัจจุบันของประเทศไทยจากผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่ หม่อมหลวงศุภกิตติ์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ ซึ่งได้อธิบายถึงอำนาจของพนักงานอัยการและการใช้ดุลยพินิจในบริบทของประเทศไทย ดร.ยศวันต์ บริบูรณ์ธนา จากกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในขั้นหลังพิจารณาคดี สตีเฟน พิทท์ส ในหัวข้อการปล่อยตัวก่อนกำหนดและการคุมประพฤติ ดร.ปีเตอร์ เจ.พี. ทัค บรรยายถึงการส่งเสริมการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย
ขณะที่วันที่สองของการประชุมเชิงปฏิบัติการ มีการพูดคุยเชิงลึกถึงมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ ร่วมด้วยวิทยากร ได้แก่ Sabrina Mahtani หัวหน้าที่ปรึกษาจาก UNODC นำเสนอรายงานการประเมินการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะในประเทศไทย จากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในช่วงก่อนการตั้งข้อหาหรือพิจารณาคดี ช่วงการพิจารณาคดีและหลังการพิจารณาคดี จากนานาประเทศได้ร่วมกันสะท้อนถึงแนวทางและปัญหาท้าทายที่พบระหว่างการใช้มาตรการดังกล่าว
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการวันที่สองสรุปได้ว่า ผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่เกิดจากการนำมาตรการที่เน้นการลงโทษมาใช้กับผู้หญิงที่มีปัญหาติดสารเสพติดและกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ไม่ร้ายแรง รวมทั้งการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศและภาวะเจริญพันธุ์ โดยผู้หญิงมักถูกเลือกปฏิบัติในระบบกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หญิงชนพื้นเมืองหรือชนกลุ่มน้อย และหญิงที่ขายบริการทางเพศ นอกจากนี้ พวกเธอประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชาย โดยในหลายประเทศ ผู้หญิงมักมีฐานะยากจน ถูกกีดกันจากการได้รับการศึกษาหรือการหาเลี้ยงชีพ ทั้งยังต้องรับภาระหาเลี้ยงครอบครัว โดยอาชญากรรมที่ผู้หญิงกระทำมักจะเป็นเหตุที่เกิดจากความยากจน เพื่อนำไปหาเลี้ยงครอบครัวมากกว่าอาชญากรรมรุนแรงอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้ การตัดสินโทษจำคุกจึงส่งผลเสียต่อผู้หญิงทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งทางกายและใจ เช่น เรือนจำหญิง ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยกว่าเรือนจำชายและตั้งอยู่ห่างไกลจากบ้าน ทำให้ต้องพลัดพรากจากครอบครัวและบุตร ทั้งยังมีรายงานว่าผู้หญิงที่ต้องโทษจำคุกมีสถิติฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชาย และเมื่อได้รับการปล่อยตัว ยังถูกตีตราทำให้ไม่สามารถหางานทำได้ และส่งผลให้ต้องกลับไปกระทำความผิดซ้ำ หรือแม้แต่การใช้กำไล EM ก็สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้หญิงได้ เพราะกำไล EM ไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ผู้สวมใส่อาจรู้สึกเจ็บหรือรู้สึกอับอายที่ต้องสวมกำไล EM นอกจากนี้ กำไล EM ยังต้องชาร์จไฟ ซึ่งมีผลทำให้ผู้ใช้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เป็นต้น
ผู้กำหนดนโยบายและประกอบวิชาชีพด้านความยุติธรรมทางอาญาจึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงปัจจัยภูมิหลังเหล่านี้ ก่อนจะกำหนดโทษแก่ผู้หญิง โดยการกำหนดโทษที่มิใช่การจำคุกเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดแก่ผู้หญิงเหล่านี้ได้
สำหรับมาตรการทางเลือกที่อาจใช้เพื่อเบี่ยงเบนคดีสำหรับผู้หญิงที่ต้องโทษไม่เป็นอันตราย รวมถึงการปล่อยตัวแบบมีและไม่มีเงื่อนไข การไกล่เกลี่ย การชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายหรือคำสั่งให้จ่ายค่าทดแทน การออกคำสั่งให้ทำงานบริการชุมชน การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การใช้โครงการบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับเพศภาวะ และการส่งต่อให้เข้ารับบริการสนับสนุนในชุมชน
อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายสำคัญของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ นอกจากเรื่องกฎหมาย กระบวนการทางกฎหมาย การบังคับใช้แล้ว ยังรวมถึงการสร้างทัศนคติในสังคมให้ยอมรับต่อการอยู่ร่วมกันกับผู้กระทำผิด และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างเสริมให้สังคมทั้งในประเทศและในระดับสากลยอมรับการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังเป็นมาตรฐานเพื่อบรรเทาปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และผลกระทบทางลบต่อผู้กระทำผิดต่อไป
ดาวน์โหลด “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ (ฉบับภาษาไทย)”
[1] สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ), คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ (พ.ศ. 2563), บทนำ: แนวทางที่คำนึงถึงและตอบสนองต่อเพศภาวะคืออะไร, หน้า 3.