การประชุมนานาชาติว่าด้วยผู้หญิงและการราชทัณฑ์ (Women in Corrections Conference (WICC) 2025) จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (The Thailand Institute of Justice - TIJ) ร่วมกับสมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศ (The International Corrections and Prisons Association - ICPA) เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ด้านผู้หญิงที่เกี่ยวข้องในงานราชทัณฑ์และการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ

ในงานนี้ ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยน อภิปราย และเผยแพร่องค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ที่เป็นไปตามสิทธิของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมและคำนึงถึงความแตกต่างทางเพศสภาพ ภายใต้หัวข้อนำเสนอหลัก ได้แก่ การจองจำและเส้นทางสู่เรือนจำ การกลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพและทางเลือกแทนการคุมขัง จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ผู้หญิงที่ทำงานในระบบราชทัณฑ์ การตอบสนองต่อผู้ต้องขังกลุ่มเฉพาะ

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวถึงงานครั้งนี้ว่าเป็นการประชุมนานาชาติครั้งใหญ่ที่สุดที่ TIJ ได้จัดขึ้น และที่สำคัญคือเป็นครั้งแรกที่การประชุม WICC มุ่งเน้นการแก้ไขข้อท้าทายและแสวงหาโอกาสให้กับผู้หญิงในราชทัณฑ์ จากที่เคยปรากฏอยู่เฉพาะในกิจกรรมคู่ขนานเท่านั้น และหวังว่าการประชุมนี้จะเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ในการแสวงหาทางออกให้ระบบยุติธรรม โดยมุ่งเน้น “คน” เป็นศูนย์กลาง และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่สะท้อนถึงความเป็นจริง และนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง จากความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วน ทั้งตัวแทนจากรัฐบาล องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และสตรีที่มีประสบการณ์ตรงจากการถูกคุมขัง

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการ TIJ ได้บรรยายถึงจุดเริ่มต้นของข้อกำหนดกรุงเทพ ที่ได้รับมติรับรองเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติ จากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2010 สืบเนื่องจากพระดำริและพระปณิธานอันแน่วแน่ในการพัฒนาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดข้อกำหนดกรุงเทพ


นอกจากนี้ Natalie Boal ผู้อำนวยการ ICPA และ Peter Severin ประธาน ICPA ได้กล่าวในพิธีเปิดโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ว่าเป็นการจัดงานที่เกิดขึ้นตรงกับโอกาสครบรอบ 15 ปี ของข้อกำหนดกรุงเทพ พร้อมกล่าวถึงความก้าวหน้าอย่างเด่นชัดของการนำข้อกำหนดกรุงเทพที่ได้รับการนำไปปรับใช้เพื่อผู้ต้องขังหญิงในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา และความท้าทายของการนำไปปฏิบัติในอนาคต
ขณะที่ Stephanie Covington ผู้อำนวยการร่วมของ Center for Gender and Justice สหรัฐอเมริกา กล่าวปาฐกถาพิเศษถึงประสบการณ์ส่วนตัวและการทำงานในโปรเจ็กต์ล่าสุด “Hidden Healers” ที่ให้คำตอบว่าทำไมเรื่องของเพศจึงสำคัญในระบบยุติธรรม โดยผลงานดังกล่าวเสนอแนวทางที่คำนึงถึงผลกระทบของภาวะบอบช้ำทางจิตใจ (trauma-informed approaches) เพื่อทำความเข้าใจผู้หญิงในเรือนจำ และการจัดระดับการทำงานเกี่ยวกับบาดแผลทางใจ อันจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมได้รับข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นในการทำงานเพื่อผู้หญิงในเรือนจำ



ในการจัดประชุมครั้งนี้ มีการจัดเวทีเสวนาพิเศษหัวข้อ “Part of the Solution: Perspectives of Women with Lived-Experience” ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้หญิงที่เคยอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และเสนอทางแก้ไขปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม โดยผู้ร่วมเสวนาเสนอว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศสภาพและมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องขัง เพื่อการติดตามตรวจสอบ รวมถึงการมีพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ต้องขังและผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง และภาคประชาสังคม ได้สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงประสบการณ์และสิทธิของผู้ต้องขัง และนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

ที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงมาตรการที่มิใช่การคุมขังเพื่อลดปัญหาด้านประชากรในเรือนจำ งบประมาณในการบริหารจัดการ และการตีตราผู้ต้องขังที่ส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตภายหลังการปล่อยตัว เป็นต้น โดยมาตรการที่มิใช่การคุมขังนี้ นอกจากจะพิจารณามาใช้ในกรณีของผู้หญิงแล้ว กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุก็ควรจะได้รับการพิจารณาให้ใช้มาตรการนี้เช่นกัน


ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ “Through a Different Lens” ซึ่งร่วมออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กิจกรรมนำเสนอผลงานและศักยภาพผู้ต้องขังในประเทศไทย รวมไปถึงการศึกษาดูงานทัณฑสถานหญิงในประเทศไทยด้วย
งานประชุมในครั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานราชทัณฑ์ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและระบบกระบวนการยุติธรรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นักวิชาการ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนกว่า 350 คน จาก 56 ประเทศ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ อาคาร TIJ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ และดำเนินงานทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ