สมัชชาสหประชาชาติมีมติให้ปรับปรุงข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners-SMRs) ซึ่งนานาประเทศใช้เป็นแนวปฏิบัติยาวนานกว่า 60 ปี นับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) เพื่อสะท้อนพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนและความก้าวหน้าด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ร่วมสมัย การปรับปรุง SMRs เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2011 เมื่อสมัชชาสหประชาชาติจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ (Open-ended intergovernmental Expert Group) ขึ้น เพื่อทบทวนเนื้อหาสาระของ SMRs โดยเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติและภาคประชาสังคมได้มีบทบาทร่วมกันพิจารณา ภายใต้หัวข้อหลัก 9 ประเด็น
กระบวนการปรับปรุงแก้ไข SMRs เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 2012 – 2015 ผ่านการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติรวม 4 ครั้ง เพื่อหารือเกี่ยวกับเนื้อหาที่ควรแก้ไข ภายใต้เงื่อนไขว่าการแก้ไขดังกล่าวจะไม่ลดมาตรฐานความคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังลงจากเนื้อหาเดิม การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติครั้งสุดท้ายเกิดขึ้น ณ เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ถือเป็นจุดสิ้นสุดการปรับปรุงเนื้อหา SMRs โดยเนื้อหาของ SMRs ประมาณร้อยละ 35 ได้รับการปรับปรุงใหม่ จากนั้นคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPCJ) และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council – ECOSOC) จึงพิจารณาและรับรองร่าง SMRs ที่ปรับปรุงแล้ว ในเวลาต่อมา
ท้ายที่สุด ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) ได้รับรอง SMRs ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) โดยให้ชื่อย่อของข้อกำหนดฉบับนี้ว่า “ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลา” (The Nelson Mandela Rules) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายเนลสัน แมนเดลลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ผู้ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในเรือนจำและได้รับการยกย่องให้เป็นวีระบุรุษที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติยังกำหนดให้วันที่ 18 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเนลสันแมนเดลาสากล (Nelson Mandela International Day) เป็นโอกาสในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรม รวมทั้งส่งเสริมสิทธิและคุณค่าของผู้ต้องขังในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม
ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลากล่าวถึงประเด็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังควบคู่ไปกับหลักการบริการเรือนจำที่เหมาะสม และประเด็นทางสิทธิมนุษยชนไว้ในเอกสารเดียว โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังที่ควบคู่ไปกับแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิดพื้นฐานเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่บุคคลมีตั้งแต่กำเนิด การไม่เลือกปฏิบัติ การห้ามทรมานและปฏิบัติที่ทารุณโหดร้าย โดยมุ่งเน้นการใช้เรือนจำที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคนในการคุ้มครองสังคม รวมทั้งการลดการกระทำความผิดซ้ำ
ปัจจุบันข้อกำหนดแมนเดลลากลายเป็นมาตรฐานหลักในการบริหารเรือนจำทั่วโลก และทวีความสำคัญในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในมิติการให้บริการด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขัง ข้อกำหนดแมนเดลลาระบุให้รัฐมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพ และให้บริการทางสาธารณสุขแก่ผู้ต้องขังในมาตรฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้งได้กำหนดรายละเอียดหน้าที่ และข้อห้ามของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข เพื่อให้บริการทางการแพทย์ในเรือนจำอยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมและมาตรฐานการดูแลเดียวกันกับผู้ป่วยในชุมชนภายนอก ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ก้าวหน้าอย่างสำคัญในการบริหารเรือนจำไปพร้อมกับส่งเสริมสิทธิของผู้ต้องขัง อีกทั้งยังเป็นข้อกำหนดที่เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญในการจัดการด้านสาธารณสุขของเรือนจำในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันด้วย
ความสำเร็จของการนำข้อกำหนดแมนเดลาไปใช้ในเรือนจำ และกระบวนการยุติธรรมนั้น เกิดจากการร่วมมือกันจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งการขับเคลื่อนมาตรฐานในเรือนจำโดยกรมราชทัณฑ์ การสนับสนุนทางนโยบายจากหน่วยงานภาครัฐในกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ รวมทั้งการสนับสนุนและเปิดรับผู้ต้องขังในสังคมมากขึ้นจากภาคส่วนเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนหน่วยงานทางวิชาการที่ส่งเสริมและสนับสนุนทางเทคนิคในการขับเคลื่อนข้อกำหนดแมนเดลาสู่การปฏิบัติ อาทิ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) และ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice – TIJ) เป็นต้น
TIJ เป็นสถาบันวิชาการภายใต้เครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Crime Prevention and Criminal Justice Programme Network of Institutes – PNIs) ที่มีหน้าที่สนับสนุนเชิงนโยบายและทางเทคนิค เพื่อส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดแมนเดลลาและมาตรฐานระหว่างประเทศอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เนื่องในโอกาสวันเนลสัน แมนเดลลาสากล วันที่ 18 กรกฎาคม ในปีนี้ เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา และการนำปรับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวในบริบทกระบวนการยุติธรรมไทยและสากล TIJ จึงร่วมกับ UNODC จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "การจัดการเรือนจำในช่วงการระบาดของโควิด-19 และการปฏิบัติตามข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา" ผ่านการเสวนาออนไลน์ ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เวลา 14.00 น. โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาผ่านระบบ Zoom ได้
อ่านเพิ่มเติม