ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
ครบรอบ 13 ปี “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ข้อกำหนดสหประชาชาติที่เอื้อให้ผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 
 
 
ข้อกำหนดกรุงเทพได้รับการออกแบบตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Principle of Non-Discrimination) โดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะตามเพศภาวะ และแนวทางการบำบัดฟื้นฟูที่สนองตอบกับลักษณะเฉพาะของผู้หญิง เพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิงได้รับโอกาสในการบำบัดฟื้นฟูภายในเรือนจำหรือทัณฑสถานอย่างเท่าเทียม เพราะในภาพรวมแล้วจะพบว่าลักษณะของเรือนจำและทัณฑสถานส่วนใหญ่มักถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้ชายเป็นหลักและไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตและการบำบัดฟื้นฟูของผู้ต้องขังหญิง เนื่องจากตลอดมาจำนวนของผู้ต้องขังชายที่มีสูงกว่าจำนวนผู้ต้องขังหญิง และผู้ต้องขังหญิงมักตกเป็น “ประชากรผู้ถูกลืม” ในเรือนจำ

 

ที่มาของข้อกำหนดกรุงเทพ

 
“ข้อกำหนดกรุงเทพ” เป็นมาตรฐานสหประชาชาติฉบับแรกในโลก ที่มุ่งดูแลความต้องการเฉพาะของเพศหญิง โดยมีเนื้อหาครอบคลุมมิติต่างๆ เช่น อนามัยเจริญพันธุ์ สุขภาพเพศหญิง การดูแลเด็กติดผู้ต้องขัง ตลอดจนส่งเสริมการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง โดยคำนึงถึงลักษณะความผิดที่ไม่รุนแรง และภาระการดูแลครอบครัวที่ผู้หญิงมี
 
 
ความสำเร็จของ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการกำลังใจ ซึ่งเป็นโครงการที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้ทรงริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 เพื่อประทานความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังตามหลักมนุษยธรรม ครั้นเมื่อโครงการกำลังใจประสบความสำเร็จในระดับภายในประเทศ ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล จึงได้พระราชทานแนวพระดำริว่าควรนำเสนอแนวทางการช่วยเหลือและดูแลสนับสนุนผู้ต้องขังหญิงเช่นนี้ให้เป็นที่รับรู้ในเวทีระหว่างประเทศ จนหลายประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไข ประเทศไทยจึงได้ผลักดันการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และแนวร่วม เพื่อรวบรวมแนวปฏิบัติที่ดีและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก จนสามารถจัดทำเป็นร่างข้อกำหนดเพื่อเสนอให้สหประชาชาติพิจารณาและรับรองเป็นข้อกำหนดกรุงเทพในเวลาต่อมา
 
 
 

ผู้ต้องขังหญิงถูกมองว่าเป็น “ประชากรที่ถูกลืม” 

 
 
 
 
ผู้ต้องขังหญิงนั้นมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ต้องขังชาย เมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมของเรือนจำที่แต่เดิมไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับผู้หญิง ทำให้ผู้ต้องขังหญิงใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นได้ 
การลงโทษจำคุกผู้ต้องขังหญิง ยังส่งผลให้มีเด็กมากกว่า 23 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับความยากลำบาก เด็ก 22.5 ล้านคนมีพ่อหรือแม่ถูกจำคุก หรือคิดเป็น 1% ของประชากรเด็กทั่วโลก และ 19,000 คน ต้องอาศัยอยู่กับแม่ในเรือนจำ
 
 
ข้อกำหนดกรุงเทพช่วยวางแนวปฏิบัติในประเด็นที่เป็นความแตกต่างและความต้องการที่เพศหญิงมีและต่างไปจากเพศชาย โดยไม่ได้มีจุดประสงค์สร้างความแตกต่างหรือเลือกปฏิบัติ แต่เน้นให้เกิดมีมาตรฐานความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทั้งสองเพศเท่านั้น

 

ความผิดของผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย

 

 
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงมีการกระทำความผิดมากขึ้นถึง 60% จากการศึกษาภูมิหลังของผู้ต้องขังหญิง พบว่ามีความแตกต่างจากผู้ต้องขังชายที่ส่วนมากเคยตกเป็นเหยื่อการกระทำรุนแรง ติดสารเสพติดหรือสิ่งเสพติด ฐานะยากจน จำเป็นต้องหาเลี้ยงดูครอบครัว  
 
 
การกระทำผิดเป็นคดีที่ไม่ใช้ความรุนแรง โดยเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถึงมากกว่า 70% นอกจากนี้เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เช่นการฉ้อโกง การลักทรัพย์ ระยะเวลาการรับโทษจึงสั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1-5 ปี เป็นต้น
 
 

“ข้อกำหนดกรุงเทพ” ไม่ใช่ “กฎหมาย” แต่เป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับกฎหมายได้

 

 

เนื้อหาของ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ได้มาจากการศึกษาผลงานการศึกษาวิจัยในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก และยังได้นำเอากฎหมายและข้อกำหนดระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงหลายฉบับมาเพื่ออ้างอิงและกลั่นกรองให้เนื้อหามีความสอดคล้องและสามารถใช้ร่วมกันได้กับกฎหมายและข้อกำหนดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ ข้อกำหนดนี้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดหญิงและผู้ต้องขังหญิงทุกประเภท และการปฏิบัติที่ควรจะเป็นต่อผู้ต้องขังหญิงเหล่านั้น รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมโดยรวมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ข้อกำหนดกรุงเทพ ใน พรบ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560

 

 

การนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมายในประเทศไทย จากพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 

 

มาตรา 39 วรรค 2 ให้เรือนจำจัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้เด็กติดผู้ต้องขังตามสมควร ซึ่งตรงกับข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อ 42 วรรค 2 

 

มาตรา 47 สิทธิร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงานของเรือนจำ ซึ่งตรงกับข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อ 25 วรรค 2 

 

มาตรา 57 ให้เรือนจำจัดให้ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรได้รับคำแนะนำทางด้านสุขภาพและโภชนาการจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และต้องจัดอาหารที่เพียงพอและในเวลาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ ทารก เด็กและมารดาที่ให้นมบุตรและต้องไม่ขัดขวางผู้ต้องขังหญิงจากการให้นมบุตรเว้นแต่มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งตรงกับข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อ 48 

 

มาตรา 58 วรรค 3 ให้เด็กที่อยู่ร่วมกับมารดาในเรือนจำได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กเพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาตามความจำเป็น รวมทั้งการตรวจป้องกันโรค และการบริการด้านสุขอนามัย ซึ่งตรงกับข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อ 9 

 

มาตรา 59 ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องขังหญิง ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะผู้ซึ่งตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิด ตรงกับข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อ 25 วรรค 2 

 

อ้างอิงข้อมูล

 

ข้อกำหนดกรุงเทพ. https://knowledge.tijthailand.org/th/publication/detail/78#book/ 

แนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก ปี 2566.

https://knowledge.tijthailand.org/th/publication/detail/global-prison-trends-2023#book/ 

สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ วันที่ 1 ธันวาคม 2566. http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_index.php?report=drug

พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560.

https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/021/1.PDF 

Back
chat