ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม


เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2557 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ ร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับคดีความรุนแรงทางเพศต่อสตรี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและต่อยอดการวิจัยระหว่าง TIJ และ UN Women

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ นอกจากจะมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรระหว่างประเทศดังเช่น UN Women แล้ว ยังมีผู้แทนที่เป็นบุคคลสำคัญ จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งแต่หน่วยงานต้นน้ำถึงปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรม เช่น พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางสาววันเพ็ญ สุวรรณวิสิฎฐ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย, นางสาวธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง และผู้แทนศาลฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


นางโรเบอร์ต้า คลาร์ก ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค UN Women กล่าวนำเสนอผลการวิจัยในครั้งนี้ว่า ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงและ เด็ก ในสามประเทศได้แก่เวียดนาม อินเดีย และไทย พบว่าทั้งสามประเทศมีการพัฒนาในเรื่องนี้ไปมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล คือ จากการศึกษาเกี่ยวกับระดับการรับได้ของสังคม (Social Tolerance) พบว่าผู้ชายจำนวนมากที่ได้กระทำความรุนแรง ไม่ถูกลงโทษหรือไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นการยอมรับในสังคม (Social Acceptance) ต่อการกระทำที่เป็นความรุนแรงต่อผู้หญิง นอกจากนี้ ในขณะที่แต่ละประเทศมีนโยบายหรือกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ แต่ไม่ได้ถูกบังคับใช้เท่าที่ควร เป็นเพราะช่องว่างระหว่างตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายในความเป็นจริง

 

นางสเตฟานี การ์เร็ตต์ นักวิจัย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือ การขาดความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(Attrition) ในกระบวนการยุติธรรม เช่น เหยื่อไม่แจ้งความ หรือผู้เสียหายเลิกติดตามคดี เพราะความไม่ร่วมมือของเหยื่อ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินการต่อ การขาดหลักฐาน หรือสาเหตุทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ผลการศึกษาในด้านของตัวผู้ที่ตกเป็นเหยื่อพบว่า  ยังมีการเข้าใจผิดผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างมาก เช่น ภาพเหมารวมเกี่ยวกับการข่มขืน ที่ว่าการข่มขืนนั้นจะเกิดโดยคนแปลกหน้าและมีอาวุธ แต่ที่จริงแล้ว การข่มขืนนั้นมักจะเกิดกับคนรู้จัก และเกิดในสถานที่ผู้เสียหายคุ้นเคย

ด้านนางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี สำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย กล่าวว่า ปัญหาความไม่ร่วมมือของเหยื่อ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ไปใช้บริการหน่วยงานของรัฐแล้ว แต่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีจึงเข้ามาหาเอ็นจีโอ โดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งเป็นด่านแรกของกระบวนการยุติธรรม จะต้องแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายด้วย แต่ในทางปฏิบัติมักไม่มีการแจ้ง รวมทั้งเหยื่อยังพบกับปัญหาในทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ความไม่เป็นมิตรของตำรวจ และการที่ต้องเล่าเหตุการณ์รุนแรงที่ต้องเผชิญมาซ้ำๆ ให้หน่วยงานในกระบวนการที่เกี่ยวข้องรับฟัง


ทั้งนี้ ข้อมูลทางวิชาการ ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้ TIJ จะนำไปใช้สนับสนุน โครงการวิจัยและจัดทำสิ่งพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิง ที่จะได้ความรู้ด้านการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของเพศหญิง รวมทั้งได้รับทราบการตีแผ่สถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคในปัจจุบัน ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมการถูกกระทำความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในครอบครัว และประเด็นปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์และค้าประเวณีที่ผู้หญิงไทยกำลังเผชิญอยู่


Update as of 21.03.2014 15.00 by OSCOM Team

Back