ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
การประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน วิเคราะห์ประเด็นทางสังคมไทยด้วยมุมมองใหม่
 
Matti Joutsen


สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “แนวทางใหม่เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นธรรมด้วยหลักนิติธรรม” ในวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2561 เวลา 08.30 – 16.30 น. ที่ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ในการลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคมไทย โดยผู้แทนจากหลักสูตรผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development - RoLD Programme) ได้ร่วมกันกลั่นกรองและคัดเลือกประเด็นที่พบเห็นในสังคมไทยปัจจุบัน มานำเสนอ ระดมความคิดเห็น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับหลักนิติธรรม

 

หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาสำหรับผู้บริหารของ TIJ เป็นการนำผู้บริหารรุ่นใหม่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม ตลอดจนเป็นผู้มีจิตอาสา ต้องการใช้ประสบการณ์และทักษะที่สั่งสมมาสร้างสรรค์ให้เกิดการพัฒนาสังคมที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน โดยการประชุมเวทีสาธารณะครั้งนี้ มุ่งสะท้อนความสำคัญของการแก้ไขปัญหาทางสังคมที่มีมานานของประเทศไทยด้วยวิธีการใหม่ เป็นความพยายามในการวิเคราะห์ “ปัญหาเก่า” โดยอาศัยการรวบรวมมุมมองอันหลากหลายของผู้ที่ได้รับผลกระทบ นำมาสังเคราะห์ด้วยวิธีการ “คิดนอกกรอบ” เพื่อค้นหาวิธีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานในหัวข้อ “นวัตกรรมในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ด้วยหลักนิติธรรม” เน้นย้ำถึงความเกี่ยวโยงของหลักนิติธรรม ที่จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายที่ทำให้ประชาชนทุกคนดำรงชีวิตอย่างสงบสุข นั่นคือ กฎหมายต้องถูกร่างให้มีความเป็นธรรมและนำไปใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค ขณะเดียวกัน หลักนิติธรรมจะช่วยให้มั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมได้รับการบริหารจัดการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนและสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ตลอดจนทำให้ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางในสังคม อาทิ เด็กและผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ สามารถเข้าถึงความยุติธรรมในระดับเดียวกับทุกคน

 

TIJ เป็นหนึ่งในสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติ ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Programme Network Institute – PNI) ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำหลักนิติธรรมไปปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในสังคม ที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ประการหนึ่ง ก็คือการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เป้าหมายที่ 16 จาก 17 เป้าหมาย ซึ่งกล่าวถึงหลักนิติธรรมไว้ว่าเป็นรากฐานและเครื่องมือที่สำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจำเป็นต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนให้เกิดหลักนิติธรรมขึ้นในสังคม

 

ศาสตรจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ 2 ประการ คือ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ในปีพ. ศ. 2543 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในปี พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ จากการศึกษาของสหประชาชาติพบว่า ที่ผ่านมาสาเหตุที่ทำให้การนำ MDGs ไปใช้ไม่เกิดผลตามเป้าหมาย มี 2 ประการ คือ ความอ่อนแอของหลักนิติธรรม (Rule of Law) และ ทัศนคติการทำงานที่ไม่บูรณาการระหว่างหน่วยงาน (Silo-mentality) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สหประชาชาติจึงกำหนดกรอบเป้าหมายใหม่ คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและเป็นเครื่องมือสำหรับนำหลักนิติธรรมไปประยุกต์ใช้ในส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทย ประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในการผลักดันการนำหลักนิติธรรมมาใช้ เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน เพราะ ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “เรา” ทุกคน

 

นอกจากนี้ ผู้แทนจากกลุ่มผู้บริหารในหลักสูตร “ผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development - RoLD Programme) ได้นำกรณีศึกษาที่พบเห็นในสังคมไทยปัจจุบัน มาหารือผ่าน 3 หัวข้อ คือ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาในสังคมไทย (Culture of Lawfulness) การสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงในระบบเศรษฐกิจอนาคต (Financial Inclusion for a Future Economy) และการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม (Culture of Social Reintegration in Thailand)

 

การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาในสังคมไทย: หลักนิติธรรม (Rule of Law) และวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา (Culture of Lawfulness) เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมซึ่งกันละกันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปย่อมกระทบต่อดุลยภาพของการพัฒนาทางสังคม กล่าวคือ การบังคับใช้ตัวบทกฎหมายจะไม่เป็นผล หากไม่มีการส่งเสริมให้ “คน” ในสังคมมีวัฒนธรรมที่เคารพกติกา อันเกิดจากความรู้สึกว่ากฎหมายมีความเป็นธรรมและยินยอมพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม ในขณะเดียวกัน การมีหลักนิติธรรมที่ดีก็ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาได้

 

ปัจจัยสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา มี 3 ประการ ประการแรก คือ คนในสังคมต้องตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของกฎหมาย มีจิตสำนึกที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่นและประโยชน์สาธารณะ ประการที่สอง คือ มีเป้าหมายร่วมกันในการที่จะปฏิบัติตามกฎกติกา ประการที่สาม คือ มีระบบควบคุมทางสังคมที่เข้มแข็ง สามารถนำผู้ที่ละเมิดกฎหมายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้จริง

 

ดังนั้น การปฏิรูปกฎหมายใด ๆ ก็ตาม ควรคำนึงถึงวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา ควบคู่กับปัจจัยทางโครงสร้างและสาระของกฎหมาย เพื่อสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในสังคมนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะถ้าการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมแล้ว การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาจะไม่สามารถเกิดขึ้น

 

การสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงในระบบเศรษฐกิจอนาคต: ประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก มีประชากรจำนวนมากประกอบอาชีพอิสระหรือถูกว่าจ้างอย่างไม่เป็นทางการในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) โดยปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนแรงงานนอกระบบ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digitalisation) ที่นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตแทนที่วิธีการทำงานแบบเดิม ทำให้คนหันมาประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น อาทิ ฟรีแลนซ์, ผู้ค้าขายออนไลน์, ผู้ประกอบการ, สตาร์ทอัพ แรงงานนอกระบบเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกจ่ายค่าจ้างด้วยเงินสด หรือแลกเปลี่ยนด้วยสินค้าและบริการ ทำให้ไม่มีหลักฐานทางการเงินที่ดูน่าเชื่อถือและเพียงพอ ใช้เป็นประวัติเครดิต (Credit History) สำหรับขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงิน เช่น สลิปเงินเดือน และเอกสารซื้อขายทางธุรกิจ ส่งผลให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ยาก

 

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจาก RoLD Program มีข้อเสนอแนะทางออกต่อประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินสำหรับผู้ด้อยโอกาสที่มีอาชีพอิสระและ SMEs ว่า สถาบันทางการเงินควรทบทวนกฎระเบียบและข้อบังคับที่ใช้ประเมินความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล นำข้อมูล “ดิจิทัลฟุตพรินต์ (Digital Footprint)” มาวิเคราะห์ให้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนและใช้เป็นข้อมูลที่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ วิธีการนี้จะเป็นการสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มในสังคมเข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งทุนที่มีราคาเหมาะสมตามความเสี่ยงอย่างทั่วถึง

 

การเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม: ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ต้องขังจำนวนมาก ถูกคุมขังจากการกระทำผิดด้วยข้อหาที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และเป็นผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น ไม่เข้าถึงระบบการเงิน ไม่ได้รับการศึกษา หรือมีวุฒิภาวะทางจิตใจ อีกทั้ง เมื่อพวกเขาได้รับการปล่อยตัวกลับเข้ามาในสังคม มักจะถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี ตีตราว่าเป็นคนคุก และถูกปฏิเสธจากคนในสังคม ทำให้ไม่มีโอกาสในการทำงานเลี้ยงชีพหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดในอดีต สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเสมือนตะขอที่เกี่ยวอดีตผู้ต้องขังให้เลือกเดินเส้นทางเดิมและกลับสู่วงจรการกระทำผิด ซึ่งส่งผลให้สังคมมีความเสี่ยงไปด้วย

 

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย สร้างระบบกลไกโดยอาศัยมิติการพัฒนาแบบองค์รวมที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชนผู้จ้างงาน ครอบครัวและบุคคลรอบตัวผู้ต้องขัง เข้ามามีบทบาท ประการแรก คือ การลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและรายได้ ซึ่งจะช่วยสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ประการที่สอง คือ การปรับแนวคิดวิธีการคุมขังผู้กระทำผิดของระบบยุติธรรมทางอาญา เปลี่ยนจาก การจองจำผู้กระทำผิดให้อยู่แต่ในคุก เป็น การให้โอกาสในการก้าวข้ามความผิดพลาด ด้วยการเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนกลับสู่โลกภายนอกตั้งแต่ภายในเรือนจำ ให้ผู้ที่เคยกระทำผิดตระหนักถึงคุณค่าของตนต่อสังคม ประการสุดท้าย การจัดทำโปรแกรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว และโปรแกรมติดตามผล เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ที่เจอปัญหาหรืออุปสรรคหลังพ้นโทษ กล่าวได้ว่า การจัดตั้งระบบที่ให้การช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขัง และสร้างสภาวะการเปลี่ยนผ่านด้วยการให้โอกาสและแรงสนับสนุนจากสังคมอย่างครบวงจรนี้ จะช่วยให้อดีตผู้ต้องขัง กลายเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมายและมีค่าต่อสังคม และเป็นปัจจัยที่ช่วยลดอัตราการกระทำผิดซ้ำได้อย่างแท้จริง

 

 

Back