ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ครบรอบ 8 ปีข้อกำหนดกรุงเทพก้าวต่อไปของการคืนคนดีสู่สังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ข้อกำหนดกรุงเทพมีความเป็นมานานกว่า 8 ปี ริเริ่มจากวิสัยทัศน์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งทรงเล็งเห็นในประเด็นนักโทษหญิง โดยเฉพาะกลุ่มที่ตั้งครรภ์ และมีลูกเล็ก ๆ นำมาสู่โครงการกำลังใจ ที่มีความโดยเด่น แตกต่างจากวิธีแก้ปัญหาที่เคยมีมา กล่าวคือ เป็นรูปแบบการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โมเดลนี้ต่อได้ถูกนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ และได้รับการยอมรับจากที่ประชุมสหประชาชาติในปี 2554 นับเป็นครั้งแรกในโลกที่เกิดมาตรฐานสำหรับผู้ต้องขังหญิง เพราะเดิมเรือนจำถูกสร้างเพื่อผู้ต้องขังชาย ปราศจากมิติของผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีความแตกต่างทางเพศสภาวะ

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเรือนจำต้นแบบ 12 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือของกรมราชทัณฑ์และ TIJ เป็นความสำเร็จของอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพมาสู่การปฏิบัติจริง โดยเรือนจำที่ได้รับรางวัลเรือนจำต้นแบบ 2 แห่งในปี 2561 นี้ ได้แก่ เรือนจำกลางจังหวัดนครราชสีมา และ เรือนจำอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ ภายในงาน มีการมอบโล่รางวัล Crafting Hope Awards
แก่หน่วยงานเอกชนที่ดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งแรกแก่ 3 องค์กร ได้แก่ ร้านลีลานวดไทย จังหวัดเชียงใหม่ บ้านกึ่งวิถี "เธอ" (SHE) และ มูลนิธิบ้านพระพร (มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน)

 

พลเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในปาฐกถาเปิดงานว่า “โอกาสครบรอบ
8 ปีข้อกำหนดกรุงเทพเป็นช่วงเวลาอันดีที่ทุกภาคส่วนได้ทบทวนความพยายามในช่วงเวลาที่ผ่านมา และก้าวต่อไป
ในการช่วยเหลือ สนับสนุนให้ผู้ทำผิดได้เริ่มชีวิตใหม่ ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อน
ความยุติธรรมต่อผู้กระทำผิด ข้อกำหนดกรุงเทพนับว่า เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของกระทรวงยุติธรรม ในการสร้าง
ความยุติธรรมตามมาตรฐานสากล ก้าวต่อไป ประเทศไทยจะต้องสามารถขยายความร่วมมือทางภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหา
ความยุติธรรมอาญา โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคม”

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรือนจำและผู้กระทำผิด ต้องมองทั้งประเด็นภายในเรือนจำ (Inside Prison) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการและวางเส้นทางชีวิตผู้ต้องขัง   มองเรื่องที่กว้างไปกว่าเรือนจำ (Beyond Prison) หรือชีวิตนอกเรือนจำของผู้ต้องขัง ทำอย่างไรให้เขาได้เริ่ม
ชีวิตใหม่อย่างภาคภูมิใจและได้รับการยอมรับจากสังคม และประเด็นนอกเหนือไปจากเรื่องเรือนจำ (Beside Prison) ทั้งเรื่องนโยบาย การนำมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การจองจำมาใช้ทดแทน การจองจำควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะผลกระทบนั้น ส่งไปถึงผู้ที่ต้องพึ่งพาผู้ถูกจองจำด้วย ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ผู้สูงอายุ ลูก การปฏิรูปและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนอาศัยความร่วมมือและ
การสนับสนุนจากทุกภาคส่วน”  

 

งานเสวนาในช่วงเช้า ภายใต้หัวข้อ การสร้างโอกาสและส่งเสริมการกลับสู่สังคม ได้ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้ นำไปสู่โครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ โครงการจันแลนด์ โครงการที่จะกลายเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของจังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่บนแนวคิดในการคืนโอกาสให้กับผู้ก้าวพลาด โดยสร้างอาชีพให้กับอดีตผู้ต้องขัง เมื่อผู้ต้องขังสามารถยืนบนลำแข้งของตัวเอง ก็จะเป็นการลดการกระทำผิดซ้ำไปพร้อม ๆ กัน “หัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการจันแลนด์ประสบความสำเร็จ คือ การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขัง (Reintegration) สร้างความตระหนักรู้ว่าผู้ก้าวพลาดเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ เคารพกฎกติกา เป็นการทลายกำแพงระหว่างเรือนจำกับชุมชน โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่กว่า 10 ไร่ ของจันทร์แลนด์ล้วนสร้างโอกาสและอาชีพให้กับอดีตผู้ต้องขัง อาทิ ร้านกาแฟเรือนจันแอนด์เบเกอรี่ เรือนผลิตผักปลอดสารพิษ คุกขี้ไก่ ร้านค้า พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปิดประสบการณ์ตรง ให้ผู้จ้างงานเห็นภาพ และเข้าใจกลุ่มคนที่เคยมองข้าม เพราะในความเป็นจริง คนเหล่านี้คือลูกหลาน คือ อนาคตของชาติ ถ้าพวกเขาสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ก็จะไม่ทำร้ายสังคมอย่างที่ผ่านมา” ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำ จังหวัดจันทบุรี กล่าว

 

นายแพทย์พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน SHE สนับสนุนการสร้างโอกาส ผ่านโมเดลการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของ SHE วิสาหกิจสุขภาพชุมชน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้อดีตผู้ต้องขัง สามารถประกอบอาชีพที่สามารถทำในระยะยาวและต่อเนื่อง นวัตกรรมดัดจัดสรีระโดยนายแพทยพูลชัย สามารถป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม ขจัดความเครียดของคนทำงานจำนวนมาก สอดคล้องกับความต้องการงานของผู้พ้นโทษจำนวนกว่า 5,000 ราย โครงการ SHE ทำให้เห็นว่า Social Enterprise ป้องกันการกลับไปกระทำผิดซ้ำใหม่ และที่สำคัญสะท้อนโอกาสที่เกิดขึ้นแล้วในสังคม โดยคนในสังคมพร้อมที่จะให้โอกาสโดยไม่ตัดสินจากอดีตของผู้ต้องขัง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังจำนวนมาก ยังต้องการความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าภาคส่วนอื่น ๆ คือ ชุมชนและผู้มีอำนาจในชุมชน ผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งที่ถูกปล่อยตัวออกมาแล้วกลับไปกระทำผิดซ้ำ เป็นผลมาจากการเสพยาเสพติด ติดสุรา การติดตามชีวิตกลุ่มเสี่ยงจึงเกิดขึ้นภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “ดอยฮางโมเดล” พบว่าปัจจัยที่ทำให้กลับไปกระทำผิดซ้ำคือ คนใกล้ตัว เช่น เพื่อนหรือคนรัก ที่ชักจูงไปในทางที่ผิด สิ่งที่ต้องทำ คือ สร้างความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับ
การคืนสู่สังคม พัฒนาวิธีการให้มีประสิทธิภาพเพื่อประสานช่องว่างที่เกิดขึ้นในชุมชน หาวิธีลดระบอบอำนาจนิยมมากเพื่อปรับ mindset ของผู้นำชุมชน

 

อีกด้านหนึ่ง ตัวแสดงสำคัญที่มีบทบาทในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ต้องขัง คือ “สื่อ” ซึ่งมักตีแผ่เรื่องราวของ “คุก” ออกมาในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นความหมดหวัง ความท้อแท้ ความรุนแรง ถูกผลิตซ้ำจนทำให้เกิดภาพจำในทางลบ ประชาชนส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์ตรง ดังนั้น ประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่รับรู้เกี่ยวกับเรือนจำจึงเป็นภาพที่สื่อผลิตออกมาให้เห็น ทั้งที่ในความเป็นจริงชีวิตในเรือนจำยังมีมิติในเรื่องของความรัก ความผูกพันระหว่างผู้ต้องขัง การเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน สื่อสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยการเปิดภาพการเปลี่ยนแปลงใหม่ คือ สร้าง self-reflection โดยทำให้เรื่องราวของคนในเรือนจำสามารถเชื่องโยงกับคนทั่วไปและสะท้อนกลับสู่ตัวตนของผู้เสพสื่อ ทำให้ชีวิตในคุกไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป  

 

 

งานเสวนาในช่วงบ่าย ผู้ร่วมบรรยายให้แง่ติดเกี่ยวกับประเด็นนอกเหนือไปจากเรื่องเรือนจำ (Besides Prison) โดยเฉพาะเรื่องของ Non-Custodial Measures ดร. บาร์บารา โอเวน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา สหรัฐอเมริกากล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้กระทำผิดหญิงตัดสินใจละเมิดกฎหมาย เป็นผลมาจากปัญหาความไม่เท่าเทียม ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นมาตรฐานที่จะทำให้สิทธิของผู้กระทำผิดหญิงได้รับการเคารพและการปฏิบัติอย่างยุติธรรม และมุ่งเน้นไปในเรื่องของการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้เมื่อพ้นโทษ (Post-Custodial Measures) นอกจากนี้ ต้องดูไปถึงระดับชุมชน คือเข้าไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงกับครอบครัวก่อนที่จะได้รับโทษ ผู้มีอำนาจต้องประเมินว่าสามารถป้องกันต้นเหตุของปัญหาได้อย่างไร มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังนอกจากจะเป็น
การแก้ปัญหาโดยหลีกเลี่ยงการเข้ามาเกี่ยวข้องเข้าเรือนจำแล้ว ยังส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย

 

สำหรับประเทศไทย มีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังถึง ร้อยละ 85 ในผู้กระทำผิด 100 คน เมื่อมีการพิพากษา ศาลจะเป็น
ผู้ตัดสินใช้มาตรการอื่นก่อนการจองจำ สำหรับการประกันตัว มีกรอบกว้าง ๆ คือ สำหรับผู้ที่ได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี (มีการเปลี่ยนกฎหมายเดิมซึ่งผู้ที่ได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี จึงจะสามารถประกันตัวได้) ซึ่งประกอบกับมาตรการทดแทนอื่น ๆ อาทิ รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ ทำงานบริการสังคม หรือใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ (Electronic Monitoring : EM) งานที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นคือ มาตรการคุมประพฤติ ซึ่งทางเลือกเหล่านี้สามารถลดปัญหาคนล้นคุกได้

 

อีกหนึ่งทางเลือกที่เริ่มมีการใช้ในวงกว้างในระบบยุติธรรมคือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice: RJ) แทนที่กระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) ที่ถูกใช้ในสมัยก่อน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
เน้นการแก้ไขปัญหาโดยการให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และบุคคลหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิด เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ผ่านคนกลาง ผ่านวิธีการต่าง ๆ อาทิ ได้แก่ การไกล่เกลี่ย การประนอมข้อพิพาท การประชุมกลุ่ม ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจึงควรเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในการเข้ามาแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อสร้างสันติสุขและการนำความสมานฉันท์กลับคืนสู่สังคมหรือชุมชนในที่สุด กล่าวโดยสรุป กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ มีจุดประสงค์หลัก คือ การคืนความเป็นมนุษย์ให้กับผู้กระทำผิด สร้างความเข้าใจ หรือ เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างเหยื่อ ผู้กระทำผิด และชุมชน ตามด้วยการชดใช้เยียวยาความเสียหาย จากนั้นจึงค่อยคำนึงถึงมาตรการทางกฎหมายต่อไป

 

“คนเรามีโอกาสที่จะก้าวพลาดกันทั้งสิ้น แต่เมื่อก้าวพลาดไปแล้ว สังคมควรให้โอกาสคนแล้วจึงค่อยคำนึงถึงมาตรการทางกฏหมายต่อไป เมื่อเราบอกว่าไม่ควรจะทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง กลุ่มผู้ต้องขังหญิง เป็นคนกลุ่มหนึ่งภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ถูกทอดทิ้งอยู่ข้างหลังมายาวนาน แม้ที่ผ่านมาจะมีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเราก็ต้องพยายามสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่ให้โอกาส ไม่ทอดทิ้งกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง เป็นสังคมที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าวปิดท้าย

 

 

Back