ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ทางเลือกเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

 

ประเทศไทยได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องของการนำความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มานานกว่า 10 ปีแล้ว ทว่าการนำไปใช้ยังคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เช่นในคดีอาชญากรรมที่ไม่รุนแรง คดีที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ตรงข้ามกับในระดับนานาชาติที่ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เหยื่อได้รับความเป็นธรรม ผู้กระทำผิดได้แสดงความรับผิดชอบต่อความผิดนั้น ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเยียวยาทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิด ทั้งยังช่วยลดภาระของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และสนับสนุนการฟื้นฟูและคืนอดีตผู้ผิดพลาดกลับสู่สังคมได้อย่างปกติสุข

 

ด้วยตระหนักถึงผลประโยชน์ของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เพื่อส่งเสริมการนำความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปฏิบัติจริงในกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จากทั่วโลก และการประชุมระดับชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ระหว่างวันที่ 17-21 มิถุนายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ แก่เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้สนใจในงานด้านความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

 

นอกจากนี้ ยังได้จัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติเพื่อทบทวนคู่มือความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ระดับนานาชาติที่จัดทำโดย UNODC (Handbook on Restorative Justice Programmes) เพื่อพัฒนาคู่มือฯ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับบริบทในการนำมาใช้งาน และช่วยส่งเสริมการนำหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

 

อย่างไรก็ดี กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถหยั่งรากลึกในสังคมได้ ทางหนึ่งคือการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ TIJ จึงได้ร่วมกับ UNODC จัดการอบรมโครงการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แก่ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้ปฏิบัติงานในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลตทินัม ประตูน้ำ โดยโครงการอบรมในครั้งนี้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเผยแพร่แนวทางการใช้คู่มือความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกได้ร่วมมือกันพัฒนาขึ้น แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในด้านกระบวนการยุติธรรม และมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้นำไปขยายผล ด้วยการจัดโครงการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นทางเลือกในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

 

“การจัดอบรมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ลองนำคู่มือความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ได้มีการทบทวนจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติมาปฏิบัติตริง และถือเป็นการเปิดอบรมการใช้คู่มือนี้เป็นครั้งแรกในโลก โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้ร่วมการอบรมได้เข้าใจมากขึ้นว่า RJ ควรเป็นอย่างไร และ TIJ จะไม่หยุดแค่นี้ เรามองเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ทั้งต่อการลดปัญหาคนล้นคุก ช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ต้นเหตุ เปิดโอกาสผู้กระทำผิดให้ได้สำนึกผิด ส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วม และช่วยลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำ ทั้งหมดนี้ยังช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักนิติธรรมและการสร้างสังคมที่สงบสุขภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมและสันติภาพ”

 

ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างพิธีเปิดงานการอบรมโครงการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562

 

 

ด้าน วาเลอรี เลอโบซ์ หัวหน้างานส่วนยุติธรรม กองปฏิบัติการ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เจ้าภาพร่วมในการจัดอบรมครั้งนี้ ระบุว่า การจัดอบรมนี้เป็นหลักสูตรที่ UNODC พัฒนาขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคู่มือการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างศักยภาพแก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่เข้าร่วมให้สามารถนำแนวคิดเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีกำหนดจะเผยแพร่คู่มือการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่พัฒนาฉบับสมบูรณ์แล้วในต้นปี 2563  

 

ระหว่างการเสวนาในช่วงต้นของการอบรม ผู้เข้าร่วมการอบรมและสังเกตการณ์การอบรม ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก UNODC รวมทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมจากภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย  ได้แสดงความคิดเห็นกันถึงการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในแต่ละประเทศ โดยมีการหยิบยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยน

 

  

 

ความน่าสนใจตอนหนึ่งอยู่ที่ผู้แทนจากเวียดนาม ระบุว่า แม้เวียดนามจะไม่มีกฎหมายหรือมาตรการที่เป็นทางการเกี่ยวกับการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ แต่ก็มีการนำแนวทางการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม อย่างในคดีเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นหนึ่งในความท้าทายที่จะนำแนวทางการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว

 

ซึ่งในกรณีนี้ ทิม แชปแมน ที่ปรึกษาว่าด้วยเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จาก UNODC วิทยากรหลักในการอบรมให้ความเห็นว่า การกระทำรุนแรงในครอบครัวเป็นความท้าทายของการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ทั่วโลก ด้วยถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัว แต่ก็ไม่ควรยอมรับว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ปกติ กฎหมายจึงต้องเข้มแข็งและสามารถปกป้องเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงได้ นอกจากนี้ บทลงโทษทางอาญาก็ไม่ใช่คำตอบเสมอไป การนำแนวทางความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวจะเผยให้เห็นมิติผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเหยื่อ เด็ก และชุมชนที่อาศัย อีกทั้งทำให้ผู้กระทำผิดตระหนักว่าสิ่งที่ทำไปไม่ควรเกิดขึ้น และเป็นการให้โอกาสเหยื่อได้มีส่วนร่วมในการจัดการคดี  

 

 

“ระบบยุติธรรมในปัจจุบันให้ความสำคัญเฉพาะการหาว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดและควรมีบทลงโทษอย่างไร แต่ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เราให้ความสำคัญกับผลกระทบจากอาชญากรรมที่มีต่อเหยื่อ ครอบครัวของทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิด รวมทั้งสังคมด้วย ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงไม่ได้พิจารณาแค่ความยุติธรรมว่าเกิดขึ้นและจบลงที่การแก้แค้นทดแทนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความรุนแรงและผลกระทบที่ต่อเหยื่อทั้งมวล”

 

ทิม แชปแมน กล่าว

Back