ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

กิจกรรมถอดบทเรียนการบริหารเรือนจำช่วงโควิด-19 และก้าวต่อไปของโครงการเรือนจำต้นแบบ

TIJ ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในการดำเนินการขับเคลื่อนมาตรฐานสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใต้ชื่อโครงการเรือนจำต้นแบบตามมาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพ

 

ในระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2565 TIJ ได้ดำเนินการจัดสัมมนา ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนการบริหารจัดการเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19”  พร้อมทั้งลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี และเรือนจำกลางนครสวรรค์ โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 19 คน จากเรือนจำที่เคยผ่านการรับรองให้เป็นเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ โดยนางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพฯ ได้กล่าวต้อนรับและสรุปผลการดำเนินโครงการเรือนจำต้นแบบตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเรือนจำและทัณฑสถานหญิงทั่วประเทศผ่านการรับรองรวม 17 แห่ง ระหว่างปี 2558 – 2563 โดยเรือนจำต้นแบบเหล่านี้เป็นสถานที่ในการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแรงบันดาลใจอันนำไปสู่โครงการนำร่องในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

 

ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาสถาบันฯ ได้ขึ้นกล่าวเปิดสัมมนา พร้อมทั้งบรรยายพิเศษเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินโครงการเรือนจำต้นแบบในอนาคต ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานราชทัณฑ์ การสนับสนุนงานด้านเทคนิค ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาด้านอาคารสถานที่ (hardware) โปรแกรมการดูแลผู้ต้องขัง (software) และการส่งเสริมทักษะเจ้าหน้าที่ (peopleware) เดินหน้าควบคู่กับไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ แม้ประกาศนียบัตรรับรองเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ ทั้ง 17 แห่ง จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่เครือข่ายเรือนจำต้นแบบ รวมทั้งเรือนจำอื่นๆ ทั่วประเทศ ยังสามารถสมัครเข้าร่วมรับการประเมินได้ใหม่ในอนาคต

 

นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนาและศึกษาดูงาน ผู้เข้าร่วมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในเรือนจำ  การบริหารจัดการเรือนจำในช่วงวิกฤต และสรุปปัญหาข้อท้าทายที่เรือนจำต้องเผชิญรวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต ก่อนจะปิดท้ายด้วยการนำเสนอแนวทางความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่พร้อมจะสนับสนุนผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษในมิติต่างๆ เช่น การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) การสนับสนุนด้านการฝึกอาชีพจากสมาคมสตรีไทยคาทอลิก และบริษัท โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอยี่ จำกัด (มหาชน) 

 

Back