ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ปัญหาหรือโจทย์ท้าทายต่างๆ ของสังคมไทยในปัจจุบัน เช่น ปัญหาคุณภาพการศึกษา หรือความเหลื่อมล้ำ ทำให้เราเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า การแก้ไขปัญหาสำคัญระดับชาติเหล่านั้น ไม่อาจถือว่าเป็นงานหรือบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลหรือภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไปแล้ว   ไม่ว่าจะด้วยความซับซ้อนของตัวปัญหานั้นๆ เอง หรือด้วยเหตุที่แนวทางในการจัดการกับปัญหาหนึ่งๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่ และอาจกระทบกับกติกาพื้นฐานของสังคมในการจัดสรรทรัพยากรหรือโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างความเป็นธรรมได้ไม่น้อย  ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของทางออก จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่นักกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น  แต่บทบาทการมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาก็ดี บทบาทหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคมก็ดี นั้น ย่อมเป็นของทุกภาคส่วนโดยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

เมื่อเร็วๆ นี้ หลักสูตรผู้บริหารหลักนิติธรรม (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) รุ่นที่ 2 ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้รับเกียรติจาก ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรุณามาให้แง่คิดและมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของตลาดทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในการเข้ามาร่วมดูแลแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกันในสังคมให้ดียิ่งขึ้น เป็นธรรมมากขึ้น หรือลดความเหลื่อมล้ำลง


ดร. ชัยวัฒน์ฯ เริ่มปูพื้นให้ผู้เข้าฟังการบรรยายได้ตระหนักถึงบทบาทหลักในทางเศรษฐกิจและสังคมของตลาดทุน ในฐานะกลไกหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงทางการเงินให้สังคม เพราะเป็นแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ประเทศเจริญก้าวหน้าจากระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น เมื่อผู้ประกอบการมีผลกำไร พนักงานก็ได้รับเงินเดือน ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของผู้ถือหุ้นก็มีรายได้จากเงินปันผล

ในการทำให้ตลาดทุนสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่ตลาดจะต้องเป็นของทุกคนได้อย่างแท้จริง กล่าวคือต้องสร้างเงื่อนไขให้ทุกคนสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างเท่าเทียมกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการและนักลงทุนรายย่อยให้เข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น อาทิ การสร้าง platform การจัดอบรมให้ความรู้แก่บริษัทสตาร์ทอัพ (Start-up)  เพื่อให้มีความเข้มแข็งและสามารถจดทะเบียนเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้  และมุ่งพัฒนาศักยภาพของนักลงทุนรายย่อยให้มีช่องทางออนไลน์ ในการหาความรู้เรื่องการลงทุน การวางแผนการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ฯ  รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชน โดยเน้น 4 “รู้”  คือ รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และรู้ขยายดอกผล รวมทั้งรณรงค์ให้ตระหนักถึงการวางแผนการเงินสำหรับยามเกษียณ อันจะเป็นหนทางลดความเหลื่อมล้ำและปัญหาในสังคมได้

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้กับสังคมได้ผ่านเครื่องมืออีกตัวหนึ่ง คือการทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเน้นการสนับสนุนให้ผู้เล่นเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีความพร้อมและมีทรัพยากรที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก หันไปทำกิจกรรมทางสังคมให้มากขึ้น ซึ่งอาจทำได้อย่างน้อย 2 แนวทาง คือ (1) การจัดกิจกรรมหรือโครงการในลักษณะที่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility  และ (2) แนวคิดหนึ่งคือการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development

แนวทางที่ใช้ CSR นั้นยังอาจแบ่งย่อยได้เป็น 3 ประเภท คือ 1 CSR after Process ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกเหนือจากการทำงานปกติ เช่นกิจกรรมเพื่อสังคม การบริจาค 2. CSR in Process คือ CSR ที่อยู่ในกระบวนการทำงานที่คำถึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม รับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม ส่วน CSR ประเภทที่ 3 คือ CSR as Process คือธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสังคมโดยเฉพาะ เช่น มูลนิธิ Enterprise

ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งคือการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development นั้นมุ่งเน้นการทำธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน แต่ต้องไม่สร้างปัญหาให้กับคนในยุคต่อมา โดยคำนึงถึง 3 ประเด็นสำคัญคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน บริษัทฯ หลักทรัพย์จดทะเบียนต่างๆ ได้ทำกิจกรรมทางสังคมราว 1,000 โครงการ ที่เกี่ยวกับชุมชน การศึกษาสำหรับผู้เยาว์ คนพิการ และผู้สูงอายุ


นอกจากความพยายามของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบตามแนวทาง CSR และ SD แล้ว  ในปัจจุบันก็ยังมีปัจจัยผลักดันอื่นๆ อีกหลายประการที่อาจช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในเชิงสังคมได้มากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือกฎระเบียบของรัฐเพื่อคุ้มครองประชาชน การตระหนักถึงบทบาทของบุคคลและองค์กรต่อความยั่งยืนของโลก การป้องกันความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และท้ายสุดคือปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ในมิตินี้ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะสามารถมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ อาจมีได้หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคซึ่งมีพลังมากในการบอกต่อว่าองค์กรดีหรือไม่ดี  กลุ่มที่เป็นคู่ค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ บริษัทใหญ่อาจมีข้อกำหนดของสินค้าที่ต้องการ เช่น กระบวนการผลิตไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  กลุ่มผู้ถือหุ้นและนักลงทุน อาทิ นักลงทุนสถาบันมีกฎในการเลือกลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาล  หรือแม้แต่ตัวพนักงาน ซึ่งก็ย่อมอยากเลือกทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงดี  และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มสำคัญคือชุมชนและสังคม ซึ่งไม่ต้อนรับบริษัทที่ทำไม่ถูกต้อง


ดร. ชัยวัฒน์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการทำกิจกรรมทางสังคมนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้นำขององค์กรต้องมีความเชื่อและตระหนักถึงความสำคัญ เพราะจะผลักดันให้เกิดเป็นนโยบาย แผนงาน ซึ่งอาจต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน ความตระหนักและการริเริ่มปฏิบัติในระดับองค์กรมีความสำคัญยิ่ง เพราะจะสามารถขยายผลออกไปยังคู่ค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ และท้ายสุดคือทั้งภาคส่วนธุรกิจ ซึ่งมีขนาดใหญ่เพราะความสำคัญทางเศรษฐกิจ ความมุ่งมั่นในการใช้ศักยภาพของธุรกิจเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ จึงนับเป็นพลังสำคัญที่จะนำไปสู่สังคมที่สงบสุขและเป็นธรรม

ติดตามกิจกรรม RoLD Program ได้ที่ http://tijrold.org/

Back