ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ในระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ) ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเตรียมการด้านเนื้อหาสาระ สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ UN Crime Congress ครั้งที่13 โดยการประชุมเตรียมการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นที่สำนักงานสถาบันการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล หรือ ยูนาเฟ่ (UNAFEI) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การประชุมเตรียมการด้านเนื้อหา สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการของ Crime Congress ครั้งที่13 มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อกำหนดรายละเอียดที่สำคัญสำหรับ Crime Congress Workshop หัวข้อที่ 1 ซึ่งมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำเอามาตรฐาน และบรรทัดฐานสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดไปใช้ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการอันมีลักษณะเฉพาะของผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้หญิงและเด็ก

ในโอกาสนี้ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการสื่อสารองค์กร รักษาการผู้อำนวยการสำนักต่างประเทศและประสานความร่วมมือ TIJ ในฐานะผู้แทน TIJ ได้นำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงภารกิจและบทบาทของ TIJ ที่ได้ผลักดัน บรรทัดฐานสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยเฉพาะการดูแลผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้หญิงและเด็ก เช่น การเริ่มดำเนินโครงการกำลังใจในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อปี 2549 การริเริ่มดำเนินโครงการ ELFI ในปี 2551 การเริ่มนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ไปปรับใช้ เมื่อปี 2553 จนนำไปสู่การจัดตั้ง TIJ ในปี 2554

นอกจากนี้ ในฐานะผู้แทน TIJ ดร.พิเศษ ยังได้นำเสนอประสบการณ์ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในการดูแลนักโทษหญิงที่ตั้งครรภ์และนักโทษหญิงที่มีลูกติดในเรือนจำ ซึ่งประมวลจากรายงานการศึกษาวิจัยและประเมินสถานะการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในประเทศไทย ของ TIJ โดยทีมวิจัยของ TIJ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากเรือนจำและทัณฑสถานหญิงกว่า 6 แห่งทั่วประเทศในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ทำให้ที่ประชุมได้เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของ UNAFEI ที่ขอให้ประเทศไทย โดย TIJ ส่งผู้เชี่ยวชาญของไทย ไปเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายสำหรับ Crime Congress Workshop หัวข้อที่ 1ด้วย  โดยเน้นประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของไทย รวมถึงโครงการกำลังใจในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาในการดูแลนักโทษหญิงที่ตั้งครรภ์ นักโทษที่มีลูกติดในเรือนจำ และการดูแลเด็กที่เป็นลูกของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำด้วย


ปรับปรุงแก้ไขล่าสุด วันที่ 30 มิถุนายน 2557

Back