ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา TIJ ได้ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ริเริ่มโครงการ Renewing our promise: Fostering progress and investments to advance the application of the Bangkok Rules เพื่อจัดทำกลไกในการทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ ข้อท้าทาย และแนวทางการขับเคลื่อนการใช้ข้อกำหนดกรุงเทพที่สอดรับกับความต้องการของภูมิภาคต่าง ๆ ในอนาคต โดยมีการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกใน 5 ภูมิภาคทั่วโลก
ล่าสุดระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2567 TIJ ร่วมกับ UNODC และสถาบันเพื่อการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดแห่งสหประชาชาติในละตินอเมริกา (ILANUD) จัดการประชุมหารือระดับภูมิภาค ณ เมืองซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกา โดยมีผู้แทนกว่า 80 คน จาก 19 ประเทศ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ภาพรวมการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติใช้ รวมถึงปัญหาอุปสรรคและการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อประเมินความก้าวหน้าและความท้าทายของข้อกำหนดกรุงเทพ
ข้อมูลจากการหารือระบุว่า ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ปัจจุบันมีผู้หญิงในเรือนจำกว่า 95,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีอัตราผู้ต้องขังหญิงต่อประชากรสูงที่สุดในโลก (13.7 คนต่อประชากร 100,000 คน) ผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี มีการศึกษาต่ำ มาจากครอบครัวที่ยากจน และถูกจับกุมในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งสะท้อนถึงการขาดทางเลือกทางเศรษฐกิจและแรงกดดันทางสังคม
ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสนับสนุนงบประมาณ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ การส่งเสริมทักษะอาชีพผู้ต้องขัง และยกระดับการดูแลเด็กที่อาศัยอยู่กับผู้ต้องขังในเรือนจำ และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูล การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อส่งเสริมระบบยุติธรรมที่สนองตอบความต้องการทางเพศภาวะ รวมทั้งยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เป็นเยาวชนหญิง ผู้ต้องขังเพศทางเลือก และผู้ต้องขังหญิงต่างชาติด้วย
“ข้อกำหนดกรุงเทพมีจิตวิญญาณที่รวมเราเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการมุ่งช่วยเหลือผู้คนเป็นหัวใจสำคัญ ผู้หญิงที่ถูกพรากอิสรภาพนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและครอบครัวของเรา การช่วยให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจะนำไปสู่การสร้างโลกที่ปลอดภัย มีมนุษยธรรม และเท่าเทียมยิ่งขึ้น” ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวในที่ประชุม
ที่ประชุมยังได้กล่าวถึงปัญหาท้าทายในด้านของการขาดแคลนแหล่งเงินทุน และเสนอกรอบแนวทางเพื่อสร้างกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนผู้หญิงในระบบยุติธรรมด้วย
ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดจาก TIJ กล่าวย้ำถึงประเด็นนี้ว่า “ผู้บริจาคและการพูดคุยเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงมักจะมองข้ามผู้หญิงที่ถูกคุมขัง และแม้การปรับใช้ข้อกำหนดกรุงเทพเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านี้ในหลายข้ออาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุน แต่ก็มีอีกหลายข้อเช่นกันที่หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมจะช่วยให้การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้เห็นผลสำเร็จอย่างแท้จริง”
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการสนับสนุนการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ และยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของนานาประเทศในการยกระดับสิทธิและคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก โดยการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพระดับโลกในครั้งหน้า ซึ่งเป็นการประชุมสำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์