ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ในระหว่างวันที่ 18 – 21 กุมภาพันธ์ 2557 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด (UNODC) ได้ร่วมกันจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ เพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในทางปฏิบัติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ในสาขาการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 90 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 28 ประเทศ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ของ UN องค์การระหว่างประเทศ และกลุ่มองค์การไม่แสวงหากำไรจากทั่วโลก

ที่มาของการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ เพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในทางปฏิบัติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็กฯ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นผลความสำเร็จสืบเนื่องหลังจากประเทศไทย ภายใต้การนำของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ทรงนำเสนอร่างข้อมติว่าด้วยยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและตอบสนองต่อความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) สมัยที่ 22 เมื่อวันที่ 22 – 26 เมษายน 2556 ซึ่งที่ประชุมได้ให้การรับรอง โดยภายใต้ร่างข้อมติดังกล่าว ประเทศไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในทางปฏิบัติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็กฯ ด้วย

สำหรับการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในทางปฏิบัติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็กฯ ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงได้รับเลือกให้เป็นประธานการประชุม และทรงมีพระดำรัสเน้นย้ำ ต่อที่ประชุมในระหว่างพิธีเปิดการประชุมถึงความสำคัญของบทบาทกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการคุ้มครองเด็ก การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและตอบสนองต่อการป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก และส่งเสริมสิทธิเด็ก และทรงเน้นยำด้วยว่าการกำหนดมาตรการ ที่จะสามารถตอบสนองปัญหาความรุนแรงของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านสังคม

เอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวต่อที่ประชุมว่า TIJ เล็งเห็นความสำคัญของความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้นทั่วโลก และได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน ซึ่งเห็นได้จากรายงานขององค์กรระหว่างประเทศ ที่ระบุว่ามีเด็กจำนวนมากที่ถูกกระทำรุนแรง ไม่ว่าจะในรูปแบบการบังคับใช้แรงงาน การกระทำรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ ดังนั้น TIJ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหยุดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในทุกรูปแบบ

ด้านนายเจเรมี่ ดักลาส ผู้อำนวยการ UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า การสนับสนุนประเทศสมาชิกUNODC ให้สามารถป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อเด็กเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ UNODC โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่การท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทวีความรุนแรงขึ้นด้วย โดยที่การกระทำเหล่านี้ มักไม่เป็นที่เปิดเผย ไม่มีการรายงาน ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ จึงทำให้สังคมยังขาดองค์ความรู้ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเด็ก

สำหรับร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในทางปฏิบัติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็กในสาขาการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (the Draft Model Strategies) ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝ่ายเลขานุการสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทาง (Guideline) ในการปฏิบัติของประเทศต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความรุนแรงต่อเด็กที่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งการดูแลและให้ความช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

โดยตลอดระยะเวลาของการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 90 คน ได้ร่วมกันพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในทางปฏิบัติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็กฯ ในองค์ประกอบย่อย 3 ส่วน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ทั่วไปในการป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก และการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการเก็บข้อมูล 2.ยุทธศาสตร์และมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการตอบสนองต่อคดีความรุนแรงต่อเด็กและการปกป้องเด็กที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม และ 3.ยุทธศาสตร์และมาตรการในการป้องกันและการตอบสนองต่อความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

สำหรับส่วนที่ 1 ของยุทธศาสตร์ ฝ่ายเลขานุการ UNODC เสนอแนะว่า ส่วนที่ 1 ของร่างยุทธศาสตร์ฯ มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก แต่เนื่องจากกฎหมายอาญาอาจไม่ครอบคลุมเพียงพอและในบางครั้งการกระทำรุนแรงที่ได้รับความยินยอมจากเด็ก รวมทั้งการกระทำรุนแรงต่อเด็กตามความเชื่อทางศาสนา สังคม และวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องมีการประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการสร้างสภาพแวดล้อม และการรณรงค์ที่เป็นการคุ้มครองเด็ก ตลอดจนสนับสนุนการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก

ในการหารือถึงส่วนที่ 2 ของยุทธศาสตร์ มีที่มาจากการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เหตุความรุนแรงต่อเด็กมักจะไม่ถูกรายงาน เนื่องมาจากความกลัว และไม่มีกระบวนการรายงานที่น่าเชื่อถือ และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงต้องมีการส่งเสริมให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีมาตรการคุ้มครองเด็ก และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกลไกการค้นหาข้อเท็จจริงและรายงานที่มีประสิทธิภาพ โดยยึดในหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง เพื่อรับรองความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และศักดิ์ศรีของเด็กที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

ส่วนการหารือในส่วนที่ 3 ของยุทธศาสตร์ ที่ประชุมได้มุ่งเน้นที่การตอบสนองปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเด็กที่กระทำความผิดมักมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายและจิตใจขณะอยู่ในสถานที่ควบคุมตัว และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ดังนั้น มาตรการในส่วนนี้ จึงมุ่งการลดจำนวนเด็กที่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยใช้การเบี่ยงเบนคดี มาตรการเชิงสมานฉันท์ และทางปฏิบัติอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างการจับกุม ก่อนพิจารณาคดี ระหว่างพิจารณาคดี และการควบคุมตัวเด็กไว้ในสถานกักขังต่างๆ

การประชุมที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ TIJ และ UNODC ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทย ที่ได้มีส่วนร่วมผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็กให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในระดับสากล


Update as of 20.03.2014 11.48 by OSCOM Team

Back