ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรม-แห่งประเทศไทย (TIJ) นายนัทธี จิตสว่าง รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถาบัน TIJ ร่วมการประชุมคุมประพฤติโลกหรือ World congress on Probation ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 6 – 12 ตุลาคม 2556 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ปฏิบัติงานด้านคุมประพฤติและด้านกระบวนการยุติธรรมได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน รวมถึงติดตามความก้าวหน้าด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด และทิศทางการแก้ไขผู้กระทำผิด การประชุมคุมประพฤติโลกนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 55 ประเทศ

กิจกรรมการประชุม ประกอบด้วย

  1. การปาฐกถาพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิในกระบวนการยุติธรรมและงานคุมประพฤติ
  2. การศึกษาดูงานสำนักงานคุมประพฤติลอนดอน และการประชุมกลุ่มย่อย



สำหรับประเทศไทยนั้น ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงาน 2 เรื่อง ได้แก่

  1. นายนัทธี จิตสว่าง รองผู้อำนวยการสถาบัน TIJ ได้นำเสนอบทความเรื่อง “การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ด้านการใช้มาตรการไม่ควบคุมต่อผู้กระทำผิดหญิงในประเทศไทย” (Implementing the Bangkok Rules to Women Offenders in the Community)
  2. อธิบดีคุมประพฤตินำเสนอเรื่อง "ยุติธรรมชุมชน: บทบาทของชุมชนในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดและการป้องกันอาชญากรรม" (Community justice in Thailand: the Roles of the Community in Offender Rehabilitation and Crime Prevention)


ในวันที่ 7 และ 11 ตุลาคม 2556 มีการจัดประชุม Strategic Meeting ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับสถาบัน TIJ และ กรมคุมประพฤติ ร่วมกับ National Offender Management Service (NOMS) กระทรวงยุติธรรม โดย Just Solution International เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อหลักประกอบด้วยการนำเสนอโครงการใช้เครื่องมือติดตามตัวในประเทศอังกฤษและเวลส์ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงประโยชน์ และประเด็นท้าทายการใช้เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring: EM) กับผู้กระทำความผิด โดยคณะผู้แทนได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างประเทศไทยและอังกฤษ

จากการร่วมกิจกรรมการประชุม World Congress on Probation และการประชุม Strategic Meeting นั้น สถาบันเพื่อการยุติธรรม- แห่งประเทศไทยมีโอกาสได้เผยแพร่ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ต่อผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในวงการคุมประพฤติ และราชทัณฑ์ให้ตระหนักและรับทราบถึงข้อกำหนดของสหประชาชาตินี้มากขึ้น ประกอบกับได้เผยแพร่ชื่อเสียงและภารกิจของสถาบัน เพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายในการติดต่อประสานงานกับบุคลากรในวงการคุมประพฤติและราชทัณฑ์ จากประเทศต่าง ๆ ตลอดจนองค์กรสำคัญที่เกี่ยวข้องซึ่งได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เช่น Penal Reform International, ICPA, ACA, UNAFEI และ CEP (The European Organization for Probation) เป็นต้น สุดท้าย คือ ได้ศึกษาว่าประเทศอังกฤษและเวลส์มีการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยใช้กับคดีทุกประเภท ยกเว้นคดีสำคัญบางส่วนที่มีความรุนแรงและความเสี่ยงสูงเท่านั้น ซึ่งการนำเครื่องมือ EM มาใช้จึงนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเพิ่มมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดหญิงโดยไม่ใช้การควบคุมตัว การศึกษาดูงานครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อสถาบัน ฯ ในการนำข้อปฏิบัติดังกล่าวไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานของสถาบัน TIJ ต่อไป



แก้ไขล่าสุด: วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556

Back