ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

Trust Crisis” โจทย์ใหญ่การสร้างความปรองดองในความแตกต่าง

 

 

“ความขัดแย้งคืออะไร? ท่านเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเอง และคิดคำตอบแบบเร็ว ๆ บ้างหรือไม่...”  คำถามเริ่มต้นจากการเสวนาในหัวข้อสร้างความปรองดองในความแตกต่าง โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการเสวนาและการอภิปรายเจาะประเด็นหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10 (The 10th Public Forum on the Rule of Law and Development: Resilient Leaders in Action) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

 

ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คำถามนี้เป็นวิธีการที่ทำให้ทราบ Behavior Insight  รู้ว่าแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีรูปแบบซ้ำ ๆ ของแต่ละกลุ่ม จากการถามคำถามเรื่องความขัดแย้งคืออะไร? กับคน 2 กลุ่ม คือ คนอายุน้อยกว่า 25 ปี กับคนอายุมากกว่า 55 ปี ปรากฏว่า คนอายุน้อยมองว่า “ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ” เมื่อมีความเห็นต่างจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ความร่วมมือ และเสรีภาพ ในขณะที่คนอายุมากกว่า 55 ปี คำตอบที่ได้มากที่สุดมอง “ความขัดแย้ง คือ ปัญหา” รวมถึงความวุ่นวาย ความไม่สามัคคี ความรุนแรง เป็นต้น  

 

 

ผศ.ดร.ธานี  ชี้ให้เห็นว่า เมื่อคน 2 รุ่น คิดไม่เหมือนกันสามารถบอกอะไรได้บางอย่าง นั่นคือ ถ้าวัยรุ่นมองความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติจะจูงใจให้พวกเขาเดินเข้าหาเพื่อทำอะไรบางอย่างในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น แต่ถ้าคิดว่าความขัดแย้งคือปัญหาแบบคนอายุมาก วิธีการจัดการความขัดแย้งจะเปลี่ยนเป็นหลีกเลี่ยงปัญหา หรือใช้อำนาจบางอย่างในการจัดการ หากมองในอีกมิติ โจทย์ของวัยรุ่นมองเรื่องความขัดแย้งเป็นเรื่องของโครงสร้าง ส่วนคนอายุมากกว่าจะมองในลักษณะบุคคลกับบุคคล

 

 

ในประเด็น ความสามัคคี คืออะไร? ปรากฏว่ากลุ่มคนอายุมากมีคำตอบเหมือนกันว่า สามัคคี คือพลัง ในขณะที่วัยรุ่นมองว่า สามัคคี คือทำงานร่วมกันได้ และคำถามสุดท้ายเรื่อง ความสมานฉันท์ คนอายุมาก มองว่าคือเรื่องความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมื่อถามคำถามนี้กับวัยรุ่นส่วนมากกลับไม่มีคำตอบ และส่วนน้อยมองว่าเป็นเรื่อง ประชามติ

 

 

ผศ.ดร.ธานี  กล่าวว่า ความคิดเห็นของคน 2 กลุ่ม แตกต่างกันในเรื่องเชิงโครงสร้างกับบุคคล ไม่มีใครผิดหรือถูก แต่ให้มองกลับไปว่า ความแตกต่างเหล่านี้มาจากไหน? หากมองกลับไปในช่วงของการบริหารประเทศของรัฐบาลจากอดีตถึงปัจจุบัน คน 2 กลุ่มเห็นอะไรบ้าง กลุ่มคนอายุน้อยกว่า 25 ปี ในทางจิตวิทยา เด็กจะเริ่มรับรู้สถานการณ์ภายนอกตอนอายุ 7 ปี ตอนนั้นอยู่ช่วงปลายยุครัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบันที่เป็นรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายรัฐบาล ด้วยวิธีการที่หลากหลาย มองเรื่องทั้งหมดคือเรื่องปกติ และมีความเชื่อว่าเมื่อต้องการอะไร การรวมตัวมากพอจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่คนอายุ 55 ปี ซึ่งเริ่มต้นรับรู้ช่วงอายุ 10 ปี อยู่ในช่วงรัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร จนถึงช่วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นยุคที่ความขัดแย้ง การต่อสู้ทางการเมือง ทำให้เชื่อว่าการมีผู้นำที่สามารถดูแลประเทศให้สงบได้คือทางออก ทั้งหมดคือที่มาว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงสนใจเรื่องโครงสร้าง และรับได้กับความขัดแย้ง ในขณะที่คนอายุมากเชื่อในคนและเห็นความขัดแย้งเป็นปัญหา เนื่องจาก First Impression มีผลเสมอในทางพฤติกรรม

 

 

“แม้คน 2 กลุ่ม มีความแตกต่างในค่านิยมบางอย่าง แต่ทุกความแตกต่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้ง แล้วทำไมปัจจุบันความแตกต่างถึงเป็นความขัดแย้ง”  ผศ.ดร.ธานี ยกตัวอย่างความแตกต่างที่กลายเป็นความขัดแย้งในสังคมไทยเพราะ “Trust Crisis” ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นความไม่เชื่อใจกัน ไม่มีพื้นที่สำหรับสร้างความเชื่อใจของคน 2 กลุ่ม ได้อย่างเป็นรูปธรรม รากของความขัดแย้งในประเทศไทย อาจไม่ใช่เรื่องของการทำให้ความแตกต่างกลายเป็นไม่แตกต่าง แต่คือจะบริหารความแตกต่างภายใต้ความเชื่อใจของสังคมได้อย่างไร?  

 

 

การลดความขัดแย้งในสังคมตอนนี้จึงต้องมี Trust Building สำหรับประเทศไทย คือ ทำให้เขามีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผล (Participation) และมีระบบที่โปร่งใส (Transparency) ถ้าเป็นภาษาไทย 2 คำ คือการร่วมทุกข์ร่วมสุข และ ใจเขาใจเรา “ถ้ามีทั้ง 2 คำนี้ จะไม่ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นปัญหาในสังคม” ผศ.ดร.ธานี  กล่าวทิ้งท้าย

 

 

Let’s Get Together #คิดต่างไม่เห็นเป็นไร”

 

 

ประเด็นเสวนา คนละ Gen จึงเห็นต่าง?  “Let’s Get Together #คิดต่างไม่เห็นเป็นไร” โดยผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leader กลุ่ม J ดำเนินรายการโดย คุณฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงมองเรื่องความขัดแย้งเป็นโจทย์ที่ต้องหาทางออกร่วมกันในสังคม พร้อมตั้งคำถามว่า คนเราจะอยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้ง ความแตกต่างจำเป็นต้องเป็นความขัดแย้งเสมอไปหรือไม่

 

 

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) กล่าวว่า วัตถุประสงค์เรื่องนี้ จึงมุ่งไปที่การทำความเข้าใจสภาวะความขัดแย้งผ่านการรับฟัง ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัย การฟังความคิดเห็นอย่างเปิดใจ จากหลายกลุ่ม พร้อมค้นหาความต้องการร่วมกันของคู่ขัดแย้ง และพัฒนาสู่การหาทางออกเพื่อให้คนคิดต่างอยู่ร่วมในสังคมได้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำเครื่องมือต้นแบบที่สามารถปรับใช้กับสถานการณ์อื่น ๆ ในสังคมต่อไปได้ 

 

 

ความขัดแย้งระหว่างรุ่นมีจริงหรือไม่? ขัดแย้งเรื่องอะไร?

 

 

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ ประเทศไทย อธิบายว่า ถ้าเราต้องการทำความเข้าใจคนแต่ละรุ่นตอนนี้ต้องเริ่มที่ศึกษาพวกเขา ทางทีมจึงแบ่งศึกษาจากคน 3 รุ่น ดังนี้ รุ่นเล็กอายุ 18-34 ปี รุ่นกลางอายุ 35-54 ปี รุ่นใหญ่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป โดยใช้วิธีการหลายอย่างรวมกัน อาทิการสัมภาษณ์ การทำการสำรวจ (Survey) ใน 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ ลักษณะร่วมที่สำคัญในแต่ละรุ่น และความเห็นต่อประเด็นสังคม

 

 

สำหรับประเด็นแรก กลุ่มอายุ 18-34 ปี มีลักษณะร่วม คือเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคมแห่งการแบ่งขั้ว สภาวะทางเศรษฐกิจมีความท้าทาย รวมถึงกระแส Digital disruption และเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหาหลากหลาย ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เชื่อในระบบดี สังคมดี ไม่เชื่อในตัวบุคคล ขณะที่ช่วงอายุ 35-54 ปี ที่เป็นรุ่นรอยต่อ เริ่มมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มองเห็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี สภาวะทางเศรษฐกิจเติบโต  อยู่ในช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้ง และอาจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างรุ่นได้ ขณะที่กลุ่มอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เกิดในช่วงที่มีสเถียรภาพบางอย่าง ภาพรวมประเทศเศรษฐกิจและสังคมเติบโต แต่เทคโนโลยีมีอยู่อย่างจำกัด จากประสบการณ์ทำให้คิดว่าคนเราต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบ และมองว่าผู้นำที่ดีทำให้เกิดสังคมที่ดี 

 

 

ส่วนความเห็นต่อประเด็นสังคม กลุ่มอายุ 18-34 ปี มองเรื่องพลเมืองว่า ต้องตื่นตัวทางการเมือง มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพ มองว่าประชาชนคือฐานของประชาธิปไตย มีอำนาจในการปกครอง ต้องแก้ปัญหาที่ระบบ มองเห็นความเหลื่อมล้ำ ชี้ว่าการเมืองไม่เป็นธรรม ไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม และคิดว่าวัยรุ่นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ช่วงอายุ 35-54 ปี กลับมีนิยามคำว่าพลเมืองต่างกัน เช่น ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเด็นสังคม โดยคนรุ่นนี้เชื่อในกติกา มองว่าสังคมจำเป็นต้องมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน มองความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่แก้ได้ มองว่าถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จะแก้ปัญหาการเมืองได้  และเห็นด้วยกับวันรุ่นว่าประเด็นการเมือง กระบวนการยุติธรรม ยังไม่เป็นธรรม ขณะที่กลุ่มอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เชื่อว่าการดูแลประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐ มองไม่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสังคม มีความเชื่อในเรื่องประสบการณ์ที่มากกว่าและอยากให้คนอื่นทำตาม

 

 

ทำอย่างไร? ถึงจะสามารถสื่อสารข้ามรุ่นได้ จะมีวิธีคิดอย่างไร

 

ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ และผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก กล่าวว่า การลดความขัดแย้ง ไม่ใช่การลดความแตกต่าง เพราะความแตกต่างมีความจำเป็นในโลกยุคใหม่ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง นี่คือเรื่องที่สำคัญ จากการศึกษาเพื่อตอบโจทย์เรื่องการสื่อสาร การสร้างพื้นที่ในการสร้างความเชื่อใจ จึงสรุปออกมาเป็นแนวทาง 4E ที่อาจทำให้คนต่างรุ่นเข้าใจกันมากขึ้น ดังนี้  

 

 

  • Empathy การสื่อสารควรอยู่บนฐานของความเข้าอกเข้าใจ
  • Equality ตอบรับเรื่องการอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเที่ยมกัน
  • Express เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีสื่อสาร
  • Eco System เชื่อในการเปลี่ยนระบบมากกว่าตัวบุคคล

 

 

เรื่องของ Empathy คือการทำความเข้าใจคนไทยที่เติบโตมาในเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันตามยุคสมัย ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี  และสังคม เพราะมีความเชื่อว่าแม้บุคคลจะเจอเหตุการณ์เดียวกัน แต่ถ้าเจอต่างช่วงวัย ก็จะให้เหตุผลที่แตกต่างกันจนส่งผลต่อนิสัยและวิธีคิดต่าง ๆ ถ้าถามคน 2 กลุ่มนี้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยจำเป็นหรือไม่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ” จึงไม่แปลกที่กลุ่มคนอายุมากจะตอบว่าไม่จำเป็นมากนัก เพราะคนกลุ่มนี้เติบโตมาในยุคที่มีหลายอย่างจำกัด แต่เศรษฐกิจเติบโดได้ดี ในขณะที่กลุ่มคนอายุน้อยตอบว่าระบอบประชาธิปไตยมีความสำคัญมาก เพราะการขาดประชาธิปไตยจะเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งความคิดเห็นนี้ไม่ได้ชี้ว่าฝั่งไหนถูกหรือผิด แต่เมื่อเกิดในยุคที่ต่างกัน ความเห็นจึงแตกต่าง เรื่อง Empathy จึงเป็นประเด็นแรกที่ต้องทำ

 

 

Ecosystem เป็นอีกส่วนทำให้เกิดความแตกต่างบ่อย ๆ เมื่อ 2 กลุ่ม มีรากของปัญหาต่างกัน เพราะคนอายุมากมองว่า ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลและแก้ที่ตัวเราเองได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่มองว่า ปัญหาอยู่ที่ระบบโครงสร้าง ถ้าดินไม่ดี ต่อให้ตั้งใจปลูกต้นไม้ที่ดีที่สุด ต้นไม้ยังไงมันก็ไม่โต

 

 

ในเรื่องความเท่าเทียม หรือ Equality ยังมีความต่างด้วย เนื่องจากความเท่าเทียมของแต่ละคนมีเงื่อนไขต่างกัน เรื่องนี้คนรุ่นใหม่อยากเป็น Equal Partners ในการคุยกับผู้ใหญ่ เพราะไม่ชอบให้ความเห็นถูกด้อยค่า  เพียงเพราะขาดประสบการณ์ ส่วนผู้ใหญ่กลับมองความเท่าเทียมอีกแง่มุม คือ การโตมาในยุคที่มีลำดับชั้นมาตลอด คนกลุ่มนี้ต้องต่อคิวเป็นเวลานานกว่าจะมีคนฟังเสียงเขาเขาในปัจจุบัน จึงเกิดคำถามว่า แล้วทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงอยากลัดคิว? ส่วนเรื่องมุมมองต่อบทบาทและหน้าที่ของประชาชนกับรัฐ กลุ่มคนอายุมาก มักจะเห็นว่าพลเมืองมีสิทธิ มีหน้าที่ ถ้าเกิดอะไรขึ้นในสังคมต้องไม่ใช่การนั่งบ่น แต่คุณควรลงมือทำ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่กลับมองว่า ประชาชนเหมือนลูกค้า รัฐบาลคือผู้ให้บริการ เหมือนร้านอาหาร ประชาชนคือลูกค้า จ่ายเงิน จ่ายภาษี ถ้าสั่งอาหารแล้วทำมาผิด เราไม่ควรลุกไปในครัวทำเอง เสิร์ฟเอง เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่การบ่นหรือเขียนรีวิว อาจจะทำให้ร้านอาหารพัฒนาบริการตัวเองให้ดีขึ้นในอนาคต

 

 

ส่วนสุดท้าย คือ Express รูปแบบการแสดงออกสำคัญกว่าที่คิด เพราะบางครั้งการสื่อสารก็สำคัญ โดยกลุ่มคนอายุมากอาจไม่ชินกับการสื่อสาร เช่น เห็นด้วยกับสิ่งที่พูด แต่รับไม่ได้กับวิธีการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ ที่มีการสื่อสารที่ใช้เสียงดัง ซึ่งต้นตอไม่ใช่เรื่องที่เขาติด Social แต่ถ้าเขาพูดเสียงดังไม่พออาจจะไม่มีใครได้ยิน และไม่มีใครสนใจเขา การสื่อสารอะไรที่เสียดสี จนมีคนพูดถึงจึงอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้มีการสร้างความเชื่อใจ การพูดคุย อาจทำให้การสื่อสารประเภทนี้มันลดลงได้เช่นกัน

 

 

Quiz เครื่องมือเพื่อสร้างความเข้าใจที่มีชีวิต

 

 

เมื่อมีหลักการเป็น 4E แล้ว ก้าวต่อไปคือการสร้างเครื่องมือเป็น Quiz เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาว่าหลักการ 4E ตรงกับสังคมไทยหรือไม่ และทำให้ผู้เล่นรู้จักตนเอง คนรุ่นเดียวกัน คนที่คิดต่าง มากขึ้น ที่สำคัญคือ รู้จักกับอคติของตนเอง ที่อาจมีต่อรุ่นอื่น ๆ เช่นกัน

 

 

คุณฐิติรัตน์ อธิบายว่า เครื่องมือนี้คือ “เกมทายใจ” ที่สร้างบนหลัก 4E หัวข้อที่มีคือการแสดงออกเพื่อเรียกร้องประเด็นทางสังคม ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจคนรุ่นต่าง ๆ ทำให้ออกมาเป็นเหมือนบทสนทนาจริง ๆ  โดยทำเป็น2-sided Quiz เลือกของเราแล้วทายใจเขา พร้อมมี Dynamic Real Time เฉลย ปรับตามข้อมูลคนที่เข้ามาเล่น

 

 

เมื่อเข้ามาต้องเลือกว่าผู้เล่นเป็นคนรุ่นไหน ตามช่วงอายุ จากนั้นเลือกรุ่นที่คุณคิดว่า คนรุ่นไหนที่เข้าใจยากและคุณอยากคุยด้วยมากที่สุด? จากคำถามทั้งหมด 5 ข้อ ให้ลองตอบ เลือกตัวเลือกที่ใกล้เคียงกับความคิดเห็นของคุณมากที่สุด ไม่มีคำตอบข้อใดผิดหรือถูก เมื่อตอบแล้ว.. คุณจะได้เห็นว่า สิ่งที่คุณคิดนั้นมีคนคิดเหมือนหรือต่างจากคุณอย่างไรบ้าง ปัจจุบันมีคนเล่นไปกว่า 2,300 คน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักเรียน นักศึกษา หรือถ้าจำแนกเป็นกลุ่ม จะพบว่ามีวัยรุ่นมาเล่นแล้วกว่า 20%  กลุ่ม First Jobber กับ รุ่นกลางกว่า 30%  และรุ่นใหญ่ เกือบ ๆ 10%  

 

 

สำหรับผลที่ได้ออกมาจากกว่า 2,300 คน ตรงกับ 4E หรือไม่นั้น ดร.สันติธาร เริ่มอธิบายจาก Express ในส่วนของรูปแบบการแสดงออก โดยยกตัวอย่างคำถามที่ว่า “คิดอย่างไรกับการขับเคลื่อนสังคมด้วยการด่า” จากกลุ่มที่มีข้อมูลมากที่สุดคือ First Jobber และรุ่นก่อนเกษียณ ปรากฏว่า คนที่เลือกตอบ “สงสารคนที่โดนด่าเหมือนกันนะ แต่มันก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริง ๆ” กลุ่ม First Jobber ตอบข้อนี้ถึง 30%  ส่วนรุ่นก่อนเกษียณอยู่ที่ 16%  

 

 

Eco System ที่มองเรื่องแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลหรือระบบนั้นมองจากคำถามที่ว่า “เมื่อมีปัญหาองค์กรจะทำอย่างไร” คำตอบที่ว่า “โพสต์ลงโซเชียลเหอะ รอระบบคงรอชาติหน้า สังคมนี้ขับเคลื่อนด้วยการด่า” กลุ่ม First Jobber ตอบข้อนี้ 9% ส่วนรุ่นก่อนเกษียณ ตอบ 3% จะเห็นว่าต่างกันถึง 3 เท่า

 

 

จากคำถามที่ว่า “พฤติกรรมชาวเน็ตไทยมีต้นตอมาจากไหน” เพื่อตอบโจทย์ Empathy จากคำตอบ เช่น เพราะคนบางกลุ่มไม่มีช่องทางอื่นในการเรียกร้องของความเป็นธรรม First Jobber ตอบ 66% รุ่นก่อนเกษียณ ตอบ 47%  เรื่องที่เป็นวัฒนธรรมเสพโซเชียลมาก First Jobber ตอบ 33% รุ่นก่อนเกษียณตอบ 60% ถ้าเรามองคำตอบจากคำถามนี้ จะพบว่ารุ่นก่อนเกษียณเกือบ 50% ก็มองว่าเรื่องนี้สะท้อนความไม่เป็นธรรมในระบบอยู่เหมือนกันด้วย

 

 

ในส่วน Equality จากคำถามที่ว่า “คำพูดที่คุณไม่ชอบที่สุดคืออะไร” First Jobber บอกว่าการที่คนชอบพูดว่า พวกคุณเอาแต่ต่อว่า เลิกโทษคนอื่นได้แล้ว เพราะว่าการที่เขาต้องต่อว่า เพราะเสียงเขาน้อยกว่าคนอื่น การที่เขาต่อว่าจึงจำเป็น รุ่นก่อนเกษียณจะไม่ชอบที่สุดเวลาคนมาบอกว่า คนที่ปกป้องคนมีชื่อเสียงก็เพราว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนเหมือนกัน เพราะเขาคิดว่าเขาก็สู้มานานกว่าจะมาถึงจุดนี้ การพูดแบบนี้ก็ไม่แฟร์กับเขาเช่นกัน

 

 

ดร.สันติธาร ย้ำในช่วงท้ายว่า ไม่แปลกที่เราจะต่างกัน เพราะสุดท้ายเราต้องเข้าใจว่า เราเหมือนเกิดมาในโลกคนละใบ เช่นเรามีความคิดกับชาวต่างชาติ อย่าไปคาดหวัง บังคับให้ต้องเหมือนเรา แต่ในความต่างก็อาจจะมีความเหมือนกันได้ ไม่จำเป็นต้องขัดแย้ง เพียงแต่เราต้องสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน เชื่อว่าในอนาคตต้องมีการสร้าง Inter-Generational Literacy คือ ทักษะที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนต่างรุ่นได้ เพื่อให้คนรุ่นใหญ่กับคนรุ่นใหม่ สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้  

 

 

  • สำหรับผู้ที่สนใจเล่น “เกมทายใจ” เพื่อทำความรู้จักตนเองและคนต่างรุ่น สามารถเล่นได้ที่ https://tijrold.org/rold-in-action/letsgettogether/

 

 

ความร่วมมือคือพลัง นำหลักนิติธรรมสู่รูปธรรม

 

 

“หลักนิติธรรม เป็นเป้าหมาย เป็นเครื่องมือ และเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการแก้ปัญหาที่ยากของสังคม การมองเห็นปัญหาโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง จากความร่วมมือของเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน จะช่วยให้หลักนิติธรรมที่เป็นนามธรรม เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้”

 

 

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวสรุปในเวที TIJ Public Forum ที่จัดขึ้นผ่านการอบรมหลักสูตรเครือข่ายหลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ RoLD 2020 : The Resilient Leader (Rule of Law and Development 2020) โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

 

 

ผู้อำนวยการ TIJ ระบุว่า การส่งเสริมหลักนิติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการแก้ปัญหาที่ยากของสังคม โดยต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีและความท้าทายของโลก ทำให้เส้นแบ่งหรือพรมแดนที่ตีกรอบว่าด้วยข้อกำหนดกฎหมาย ความยุติธรรม หรือหลักนิติธรรม ไม่ได้อยู่ในบทบาทหน้าที่พันธกิจของนักกฎหมายแต่อย่างเดียว แต่นั่นก็ถือเป็นโอกาสที่จะเชิญชวนบุคคลากรจากหลายภาคส่วน จากสาขาต่างๆ ที่อาจไม่ได้คิดมาก่อนว่ามาเกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรมได้อย่างไร เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมหลักนิติธรรมไปด้วยกัน ดังเช่นที่ TIJ พยายามสร้างเครือข่าย “หลักนิติธรรมและการพัฒนา” (RoLD) ขึ้นมา โดยนำบุคลากรจากหลายภาคส่วนมาร่วมกันสร้างหลักนิติธรรทให้เป็นจริง ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ตามความเชื่อที่ว่า “ความยุติธรรม เป็นเรื่องของทุกคน” และเครือข่าย RoLD ก็ได้พิสูจน์ความเชื่อนี้เป็นอย่างดีแล้วว่า เรื่องหลักนิติธรรมอยู่ในมือของทุกคนได้ สามารถทำให้คำว่า หลักนิติธรรมที่เป็นนามธรรม เกิดเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมขึ้นได้

Back