ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ยุติการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง (END VIOLENCE AGAINST WOMEN)

ผลการสำรวจขององค์การสหประชาชาติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยผ่านประสบการณ์การถูกคุกคามหรือกระทำความรุนแรงทางเพศ ส่วนในประเทศไทยจากประชากรหญิงราว 33 ล้านคน มีผู้หญิงจำนวนมากตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ อย่างไรก็ดีมีเหยื่อเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ยอมเปิดเผยตนเองและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ผู้หญิงที่ถูกกระทำอีกถึงร้อยละ 87 ไม่กล้าร้องเรียน เนื่องจากสาเหตุหลากหลายประการ ทั้งด้วยความอับอาย วัฒนธรรมและความเชื่อ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และอุปสรรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าส่วนใหญ่ความรุนแรงนั้นเกิดจากคนใกล้ชิดหรือคนคุ้นเคย รวมไปถึงสมาชิกในครอบครัว

ผู้หญิงสมควรที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย ปราศจากภัยคุกคามอันเกิดจากอคติทางเพศ และเนื่องจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ ตระหนักว่าการมีอคติทางเพศและการกระทำรุนแรงทางเพศไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อเหยื่อเท่านั้น หากยังมีผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม จึงได้ดำเนินโครงการเพื่อให้การส่งเสริมและเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยที่จะสามารถวิเคราะห์ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการผลักดันนโยบายสำคัญในอนาคต และได้นำไปสู่การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เพื่อจัดทำโครงการวิจัยและกิจกรรมต่างๆ ในด้านการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง


กิจกรรม SpeakUp SpeakOut: SUSO


ในการนี้ TIJ จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรม SpeakUp SpeakOut อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมกิจกรรมเป็นกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ได้แสดงความคิดเห็นและอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยการแบ่งปันความรู้และสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทของตนเองในการต่อสู้กับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง และมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทยที่เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง ส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมมีความตระหนักถึงความเปราะบางของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อและปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้การปกป้องดูแลจิตใจของเหยื่อผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีการสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ผู้หญิงกล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และนำไปสู่การลดอุบัติการณ์คดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง


“ปัจจุบันการรับรู้และทัศนคติของสังคมเป็นอุปสรรคทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงไม่กล้าแสดงตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  ด้วยเพราะความอับอาย หรือเรื่องตราบาปในชีวิต ที่สำคัญผู้หญิงต้องพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ยินยอมในสิ่งที่เกิดขึ้น การที่ผู้เสียหายไม่กล้าออกมาพูด เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำความยุติธรรมให้ปรากฏ และเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างความตระหนักในสังคมด้วยว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ ”  กิตติภูมิ เนียมหอม  ผู้ประสานงานนโยบาย TIJ กล่าว


เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 TIJ ได้จัดกิจกรรม SpeakUp SpeakOut: Her Story Volume 2 ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อาคารจีพีเอฟ ถนนวิทยุ ซึ่งนอกจากการแสดงความคิดเห็นและอภิปรายประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรม AI Workshop: Photograph Collage เพื่อสร้างเสริมความตระหนักรู้ในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยสนับสนุนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นผู้สร้างเนื้อหาและเผยแพร่เนื้อหาด้วยตนเอง มีการสร้างสรรค์รูปแบบการสื่อสารผ่านช่องทางและรูปแบบการสื่อสารทางเลือก และสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งและยั่งยืน อันจะช่วยให้เกิดการรณรงค์อย่างต่อเนื่องต่อไป


ติดตามกิจกรรมดี ๆ และภาพกิจกรรมเพิ่มเติมของ SpeakUp SpeakOut ได้ที่  Facebook : SpeakUp SpeakOut

Back