ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

8 – 9 ตุลาคม 2558 – TIJ จัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอย่างไม่เป็นทางการเพื่อพิจารณาหลักสูตรการฝึกอบรม ในช่วงเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักสูตรการอบรมระหว่างประเทศในการส่งเสริมความตระหนักรู้และพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังหญิงในประเทศต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความเข้าใจในเรื่องความต้องการพื้นฐานและความเปราะบางของผู้กระทำผิดหญิงให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามแนวทางของข้อกำหนดกรุงเทพฯ และมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง


ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุม โดยกล่าวถึงความสำคัญของภารกิจด้านการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพตอนหนึ่งว่า “TIJ มุ่งเน้นการสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานราชทัณฑ์มีความเข้าใจในการประยุกต์นำเอาข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ในทางปฏิบัติให้ได้มากที่สุด โดยมุ่งเน้นการสนับสนุน สร้างความเข้าใจ และ สร้างเครือข่าย ทั้งภายในประเทศ ต่างประเทศและในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสถาบันเครือข่ายสมทบแห่งสหประชาชาติอื่นๆ สามารถนำข้อกำหนดกรุงเทพมาประยุกต์ใช้กับงานราชทัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

โดย Ms.Tomris Atabay ที่ปรึกษาของ TIJ ได้บรรยายและอบรมให้แก่ผู้นำในระดับนโยบาย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันฯ ต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น Mr.Mao Sophearom จากกัมพูชา, Mr. Idang Heru Sukoco จากอินโดนีเซีย, Mr.U Win Naing Lin จากเมียนมาร์ รวมถึง ผู้นำเรือนจำจากประเทศมาเลเซีย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผู้นำจากสถาบันเครือข่ายสมทบแห่งสหประชาติ เช่น UNAFEI, RWI, UNODC เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ด้วย อาทิเช่น Dr.Terutoshi Yamashita ผู้อำนวยการสถาบัน UNAFEI, Ms.Abigali Booth ผู้นำสถาบัน RWI และ Mr.Sven Pfeiffer ผู้แทนจากสถาบัน UNODC ฯลฯ

สำหรับหัวข้อในการอบรม Ms.Tomris Atabay ได้อธิบายถึงแนวคิดและเกณฑ์ในการวัดด้านต่างๆ อาทิเช่น การจัดการด้านความละเอียดอ่อนทางเพศของผู้ต้องขังในเรือนจำ การจำแนกประเภท และ การคัดแยกผู้ต้องขัง ฯลฯ โดยพยายามเชื่อมโยงกับข้อกำหนดกรุงเทพในข้อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็น รวมถึงยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น


จากนั้นในช่วงบ่าย TIJ ได้จัดเสวนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 5 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในหัวข้อ “มุมมองระหว่างประเทศเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีและการถอดบทเรียนในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ” (Expert Roundtable Meeting on The 5th Anniversary of the Bangkok Rules: International Perspectives on Good Practices and Lessons Learned) เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในระดับสากล โดยเฉพาะประเด็นด้านความสำเร็จและความท้าทายที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ และเพื่อระลึกถึงความเป็นมา รวมถึงการดำเนินงานด้านข้อกำหนดกรุงเทพภายหลังจากที่ได้รับรองจากประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 65 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 เป็นต้นมา


ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงประทานพระดำรัสในช่วงพิธีเปิดการประชุม และ ยังทรงร่วมบรรยายในหัวข้อที่ 1 เรื่อง “แนวโน้มและความท้าทายในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในบริบทระหว่างประเทศ” โดยทรงบรรยายถึงแนวโน้มและความท้าทายในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในบริบทของประเทศไทย ซึ่ง ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในหัวข้อดังกล่าว


โดยมีผู้เข้าร่วมการประเสวนากว่า 100 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากหลากหลายองค์กร อาทิเช่น หน่วยงานสหประชาชาติ สถาบันสมทบแห่งสหประชาชาติ (PNIs), องค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐระหว่างประเทศ (INGOs), องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs), สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุล, หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศ และ สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ


TIJ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ และ การเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับการสนับสนุนการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมการอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำระดับนโยบายจากหลายหลายองค์กร นำความรู้ และ บทเรียนในการดำเนินงานตามข้อกำหนดกรุงเทพจากหลากหลายประเทศ มาพัฒนากระบวนการยุติธรรมในประเทศและภูมิภาคของตนเอง และช่วยกันเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานระหว่างกัน เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมในระดับภูมิภาค และ ระดับประเทศให้ดียิ่งขึ้น

Back