ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

วันที่ 22 กันยายน 2557 ผู้แทนจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักด้านการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อผลักดันให้มีการปฏิบัติที่ดีต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำตามมาตรฐานสากลที่เรียกว่า “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ได้นำคณะผู้แทนรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลเข้าศึกษาดูงาน ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง แขวงลาดยาว กรุงเทพฯ โดยกิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการประสานความร่วมมือระหว่าง TIJ กับสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันยาเสพติดและป้องกันอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ที่ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกันอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และทาง UNODC เห็นว่าประเทศไทยเป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง มีการพัฒนาและปรับปรุงเรือนจำ รวมถึงมีแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารงานสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ จึงได้นำเสนอโครงการศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบงานราชทัณฑ์และการบริหารงานด้านสาธารณสุขของไทยแก่รัฐบาลเนปาล ซึ่งมีดำริที่จะพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์และการบริหารงานสาธารณสุขในด้านการป้องกันโรคเอดส์ ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล ทั้งนี้ รัฐบาลเนปาลได้ส่งผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมาตุภูมิ และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลเข้าร่วมเดินทางเพื่อศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วย

การเยี่ยมชมเรือนจำในครั้งนี้ TIJ ได้ประสานกับทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อพาคณะฯ เข้าเยี่ยมชมสถานพยาบาลภายในเรือนจำ ซึ่งจัดไว้สำหรับให้บริการผู้ต้องขังหญิงตั้งแต่แรกรับ มีการตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเทียบเท่ากับสถานพยาบาลภายนอกเรือนจำ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคัดกรองผู้ต้องขังที่อาจป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรืออาจมีประวัติเป็นโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลภายในสถานพยาบาลแห่งนี้ตั้งแต่รับฝากครรภ์ ตรวจครรภ์  จนกระทั่งเมื่อครบกำหนดคลอดก็จะมีการประสานไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อส่งตัวผู้ต้องขังไปคลอดบุตรก่อนที่จะนำตัวกลับมาพักฟื้นที่เรือนนอนเพทาย ที่จัดไว้เฉพาะสำหรับแม่ลูกอ่อนและเมื่อผู้ต้องขังหญิงที่คลอดบุตรสามารถกลับไปฝึกอาชีพตามศูนย์ฝึกต่างๆ ในเรือนจำได้แล้วทางสถานพยาบาลยังมีบริการรับเลี้ยงเด็กแบบ Day-care โดยจะมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับการฝึกอบรบจากพยาบาลวิชาชีพคอยดูแล

นางกัญจน์รัชต์ แก้วจันทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้าสถานพยาบาล อาคารบัวเมตตา
ทัณฑสถานหญิงกลาง ให้ข้อมูลว่าทางสถานพยาบาลจะประสานงานเพื่อจัดทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ผู้ต้องขังหญิงแรกรับทุกรายที่ร้องขอ และสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่สงสัยว่าตนเองอาจตั้งครรภ์ ก็จะมีการตรวจปัสสาวะและมีการอัลตราซาวน์ระบบสองมิติเพื่อตรวจเช็คอายุครรภ์ให้แก่ผู้ต้องขังด้วย

ด้านนางโสภิต โหมดม่วง หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการผู้ต้องขังกล่าวว่า ทางเรือนจำมีการจัดหาและรับบริจาคเครื่องใช้จำเป็นสำหรับผู้ต้องขังหญิง อาทิ ชุดชั้นใน ผ้าอนามัย ตลอดจนของใช้สำหรับแม่ลูกอ่อน เพราะเล็งเห็นว่าของใช้เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิง ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีและสอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพที่เน้นการปฏิบัติที่คำนึงถึงความแตกต่างด้านเพศสภาพระหว่างผู้ต้องขังหญิงกับผู้ต้องขังชาย


update 23.09.2014

Back