ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

หนากว่ากำแพงคุกคือกำแพงคน

เรื่อง โดย พริสม์ จิตเป็นธม Workpoint Today
ภาพโดย สมศักดิ์ เนตรทอง ช่างภาพประจำสถานีโทรทัศน์ PPTV และ Realframe

 

เราก็เข้าใจนะว่าคนข้างนอกเขาก็กลัวเรา…คำพูดนึงที่เราได้ยินจากคนนอกคือ

เตรียมตัวนะ พวกเลวออกมาแล้ว วันนั้นเราคิดในใจว่าเราเลวขนาดนั้นเลยเหรอ เราขายยา แต่เราไม่ได้ไปบังคับจี้คุณ...วันที่เราออกมาถามว่ากลัวมั้ย เรากลัวนะ กลัวหลายๆ อย่าง แต่เราพยายามยืนอยู่ในจุดที่เราตั้งใจไว้

 

หลายคนคิดว่าอิสรภาพของนักโทษคือการก้าวขาออกจากเรือนจำ แต่สำหรับ “คนรอบ” หรือผู้กระทำความผิดซ้ำ ต่างรู้ดีว่าการกลับสู่โลกภายนอกไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อไม่มีเงิน ไม่มีอาชีพ และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม จนท้ายที่สุดก็ต้องหวนกลับเข้าสู่วังวนเดิม

 

ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงที่คุยกับ “โบว์” อดีตนักโทษที่เริ่มเส้นทางชีวิตใหม่ในวัย 32 ปี ด้วยการทำตามความฝันกับสถานะ “เจ้าของร้านอาหาร” โบว์เล่าถึงเรื่องราวการเผชิญกับ “กำแพงคน” ที่สูงและหนายิ่งกว่ากำแพงคุก

 

 

เมื่อประตูถูกเปิดออกแบบไร้จุดหมาย

 

เคว้ง…กลัวรถ กลัวถนน กลัวไปหมด แค่ก้าวออกมาจะไปซ้ายไปขวายังไม่รู้เลย” 

 

คือความรู้สึกวินาทีแรกของ โบว์ หลังเดินออกมานอกรั้วประตูเรือนจำ พร้อมเงินติดตัวราว 2,000-3,000 บาท ที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ ระหว่าง 3 ปี 9 เดือนที่ถูกคุมขัง

 

โบว์ตัดสินใจเรียกแท็กซี่และเดินทางไปสถานที่ที่รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และไร้คนตีตรา ซึ่งสถานที่นั้นไม่ใช่บ้าน แต่เป็น “โบสถ์”

 

ตอนนี้บ้านเหมือนไม่ใช่บ้านแล้ว ในความคิดของคนที่เคยติดคุกนานๆ แล้วกลับไปอยู่บ้าน มันไม่ใช่แค่ออกมาเข้าค่ายแล้วกลับไปอยู่บ้านนะ มันมีความกดดัน ความอึดอัด” 

 

นี่เป็นครั้งที่ 4 ของการกลับสู่อิสรภาพอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา โบว์ตั้งใจว่าจะหางานทำ เริ่มชีวิตใหม่ และไม่หันหลังกลับไปใช้ชีวิตในสถานที่ที่เขาเรียกมันว่า “โรงเรียน” ไม่ใช่คุก เนื่องจากหลายอย่างที่ได้เรียนรู้หลังกรงเหล็กในวันนั้น กลายมาเป็นกรงเล็บให้โบว์ได้สู้ชีวิตในวันนี้ 

 

เมื่อไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มีฝัน

 

การเข้า ๆ ออก ๆ “โรงเรียน” เริ่มต้นตั้งแต่วัย 16 โบว์พาย้อนอดีตไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นดั่งต้นเรื่องราวทั้งหมด โบว์เล่าว่าตัวเองมีสถานะเป็น “ลูกสาว” คนสุดท้องของป๊าและแม่ หลังจากที่ทั้งคู่มีลูกชายมาแล้วถึง 3 คน ตั้งแต่เด็ก ๆ นอกจากการทำอาหาร การวาดรูปก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งในชีวิตที่โบว์ชอบ จนท้ายที่สุดความชอบก็แปรเปลี่ยนเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ เมื่อตัดสินใจขอที่บ้านเรียนต่อ ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ แต่พี่ชายคนโตของโบว์กลับปฏิเสธคำขอนี้ แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่น้องรัก โดยให้เหตุผลว่าสิ่งที่โบว์ชอบไม่สามารถเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองได้ 

 

เราไม่ได้ถูกปลูกฝังมาให้มีความฝัน ต้องทำตามสิ่งที่ครอบครัวต้องการ ครอบครัวอยากให้ดูแลร้านข้าวแกงแม่ต่อ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบเขาไม่โอเคกับเรา” 

 

เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นจุดแตกหักในความสัมพันธ์ระหว่างโบว์กับครอบครัว เขาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมัธยมเดิมที่เคยเรียนกลางคัน พร้อมกับเก็บข้าวของย้ายออกจากบ้าน ก่อนที่อดีตนักเรียน ม.3 จะย้ายไปอยู่อาศัยกับ “แก๊งเพื่อน” ที่ได้กลายมาเป็นที่ครอบครัวใหม่ของเขา ณ วันนั้นเอง โบว์ไม่รู้ว่าการได้รู้จักกับเพื่อนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

 

พอไปเจอเพื่อนกลุ่มนี้ เราก็เข้าสู่วงการค้ายา เอาทุกอย่าง ตั้งแต่อายุ 17 เจอคดีเสพ ติดคุกอยู่ไม่ถึงปี หลังจากนั้นพอออกมาก็ยังโคจรอยู่กับเพื่อนกลุ่มนี้ พออายุ 21 เราโดนจับคดีจำหน่ายยาเสพติด มันพลิกชีวิตเราเลย

 

 

เมื่อชีวิตใหม่ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ

 

ในการได้รับอิสระครั้งก่อน ๆ หลายครั้งที่โบว์พยายามไปสมัครงาน แต่เมื่อบริษัทเหล่านั้นเอา ประวัติไปตรวจสอบ  คำว่า “อดีตผู้ต้องขังในประวัติอาชญากรรม” จะลอยห้อยท้ายไม่ต่างกับนามสกุลของโบว์เสมอ และนั่นก็กลายเป็นคำปฏิเสธการว่าจ้างไปโดยปริยาย

 

การตระเวนเขียนใบสมัครงานประจำกลายมาเป็นกิจกรรมที่ไร้ความหวังของโบว์ เขาลองไปสมัครงานพาร์ทไทม์เพื่อหวังจะมีรายได้เลี้ยงชีพบ้าง แต่กลับถูกปฏิเสธอีกครั้งเมื่อเขามีรอยสักรูปไม้กางเขนที่ต้นคอตามศาสนาคริสต์ที่เขายึดถือ และลายการ์ตูน “ป๊อปอาย” ที่แขน

 

ศิลปะบนเนื้อตัวของโบว์ กลายเป็นสิ่งที่คนรอบข้างตีตราโบว์ว่าเป็น “คนไม่ดี” บวกกับประวัติเคยขายยาเสพติดที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ชีวิตใหม่ของโบว์จึงไม่ง่าย หรืออย่างน้อยมันก็ยากกว่าการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม

 

การที่เราออกมามันไม่ใช่แค่เริ่มจากศูนย์ มันเริ่มจากติดลบเลย เราตั้งใจหางานทำ แต่การหางานทำก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ออกมาเหมือนเราเคว้ง…จนกระทั่งหางานทำไม่ได้แล้วอะ เราทำไงได้ นอกจากกลับมาจับตรงนี้เหมือนเดิม กลับมาพัวพันอยู่ในจุด ๆ เดิม ไม่ใช่ว่าเราไม่พยายาม เราพยายามแล้วแต่ไม่มีตัวช่วย…ไม่ได้คิดอยากกลับไปนะ แต่สังคมรอบข้างมันบีบ มันเหนื่อยจริงๆนะ โบว์ ฉายภาพให้เห็นความลำบากของการใช้ชีวิตปกติเมื่อมีสถานะเป็นอดีตผู้ต้องขัง และสาเหตุที่เขากลับไปสู่วังวนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

เมื่อไม่อยากอยู่คุกไปตลอดชีวิต

 

สำหรับ “ผู้กระทำผิดซ้ำ” อย่างโบว์ เป็นกลุ่มคนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ชั้นเลว” การที่จะไต่อันดับขึ้นมาเป็น “ชั้นดี” นั้นต้องมีความประพฤติที่ดี โบว์ได้ช่วยงานหลายอย่างใน “กองนอก” เช่น งานเอกสาร และสารพัดอย่างที่ “ผู้คุม” ขอให้ช่วยเหลือ

 

วันหนึ่งขณะที่โบว์ต้องช่วยพยุง “ยาย” ผู้ต้องขังสูงวัยไปอาบน้ำ ความคิดที่ผุดขึ้นในหัวของโบว์คือการจินตนาการภาพตัวเองหากชีวิตของเขาจะวนกลับเข้ามาอยู่ในเรือนจำตอนอายุเยอะ เมื่อไม่อยากให้ภาพนั้นเกิดขึ้นจริง นั่นเป็นจุดแรกที่โบว์ตั้งเป้าหมายว่าชีวิตในเรือนจำจะจบลงในรอบนี้ และจะเริ่มชีวิตใหม่ตามความชื่นชอบของเขาเอง นั่นก็คือการทำอาหาร

 

ความทรงจำของโบว์ในวัยเยาว์คือการเป็นลูกแม่ค้าขายข้าวแกง และนั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำอาหารเป็นสิ่งที่คุ้นเคย โบว์พูดถึงความสนุกในการนำเมนูอาหารมาฟิวชั่นกันไปมาด้วยแววตาที่สดใสขึ้น ต่างกับแววตาตอนที่เขาเล่าถึงเส้นทางการเดินตามความฝัน

 

อีกไม่กี่วันหนูจะออกแล้วนะ มีอะไรให้หนูซ่อมป่าว โบว์ถามผู้คุมไม่กี่วันก่อนพ้นโทษ

 

ก็ไม่เรียกมึงซ่อมหรอก เดี๋ยวมึงก็กลับเข้ามาใหม่ เจ้าหน้าที่กล่าว

 

นั่นอาจเป็นคำสบประมาทแรกที่โบว์ได้รับก่อนเริ่มชีวิตใหม่ เมื่อออกจากทัณฑสถาน การเริ่มนับหนึ่งยังคงยากเช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ 

 

 

เมื่อได้รับโอกาสให้เริ่มต้นใหม่

 

วันหนึ่งเพื่อนของโบว์ได้แนะนำให้เขาดูโพสต์ประชาสัมพันธ์จากเพจ CARE (ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ) ของกรมราชทัณฑ์ โดยเนื้อหาในโพสต์ได้ระบุถึงรายละเอียดโครงการ “Street Food สร้างโอกาส โครงการของหน่วยงานรัฐที่ร่วมมือกับเอกชน จัดขึ้นมาเพื่อช่วยผู้พ้นโทษให้มีอาชีพ 

 

แม้ส่วนตัวโบว์จะรู้สึกไร้ความหวังเช่นเดียวกับการยื่นสมัครงานแห่งอื่นๆ แต่เขาก็ลองส่งเอกสารสมัครไป 

 

เรานึกว่าเราคงสมัครไม่ได้แล้ว ปรากฏว่าเขาติดต่อกลับมา เราดีใจมาก โบว์เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น นี่คงเป็นอารมณ์เดียวกับตอนที่เขาทราบข่าวว่าความฝันในการมีร้านอาหารของเขากำลังจะเป็นจริงแล้ว

 

“จะไปได้สักกี่น้ำ” คือคำถามที่คนรอบข้างถามมาทันทีที่โบว์บอกว่ากำลังจะเป็นเจ้าของร้านอาหาร แม้สิ่งที่ได้ยินจะชวนให้เจ็บปวดไปทั้งใจ แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่โบว์เลือกทำคือ “ไม่สนใจ เราแคร์ตัวเราเองดีกว่า”

 

ร้านอาหาร “กินแกง” ตั้งอยู่ในย่านเดียวกับที่ครอบครัวและญาติของโบว์พักอาศัย  แน่นอนว่าทุกคนบริเวณนั้นทราบดีว่าประวัติของโบว์เป็นอย่างไร แม้เคยมีความคิดอยากไปอยู่ในที่ที่ไม่มีคนรู้จัก แต่ด้วยเงินทุนและความคุ้นเคยกับสถานที่  ก็ทำให้รถเข็นของโบว์ตั้งอย่างองอาจอยู่ในที่ที่สามารถให้คนรู้จักได้แวะเวียนเข้ามาเป็นลูกค้า 

 

ท่ามกลางคำสบประมาทก็ยังมีคำให้กำลังใจจากผู้คนในละแวกนั้นที่ชื่นชมโบว์ที่หันมาประกอบอาชีพสุจริต แต่หนึ่งกำลังใจที่สำคัญคือการที่ป๊าแอบมาเดินดูร้านของเขา แม้ว่ายังไม่มีบทสนทนาใดเกิดขึ้นระหว่างโบว์และป๊า แต่นี่ก็กลายเป็นแรงที่ทำให้โบว์ตั้งใจว่าจะทำร้านนี้ให้ดีที่สุดเพื่อลบคำดูถูกที่เคยประสบมา

 

กว่าหนึ่งเดือนที่ร้านกินแกง ได้สร้างสรรค์เมนูอาหารหลากหลายตามที่ลูกค้าจะแวะเวียนเข้ามาสั่ง ชีวิตประจำวันของโบว์ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขาต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปตลาด โบว์ตั้งใจว่าวัตถุดิบของร้าน “กินแกง” จะต้องสดใหม่ทุกวัน และความตั้งใจนี้ก็ได้รับผลตอบแทนเป็นรายได้วันละ 1,000 บาท พอให้โบว์หายเหนื่อยได้บ้าง

 

 

การเริ่มต้นใหม่โดยที่มีต้นทุนติดลบอาจจะมีอุปสรรค ต้องใช้เวลา และต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ก่อนจบบทสนทนาโบว์ฝากถึงคนที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ว่าหากรู้สึกเคว้ง หมดกำลังใจ ขอให้อดทนและมองหาโอกาสเพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่ 

 

อดทน ถ้าเกิดเราไม่อดทน แป๊บเดียวเราก็ไป จริง ๆ นะ อดทนให้ได้ มองหาโอกาส มีศูนย์แคร์ มีศูนย์ต่างๆ โอกาสมันมา แค่เราเดินเข้าไปหา โบว์กล่าว

 

ส่วน “กำแพงคน” ที่สังคมได้ก่อสร้างมันขึ้นมา โบว์สะท้อนมุมมองที่เขาคิดว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดการกระทำผิดซ้ำว่า อยากให้ลองเปิดใจและให้โอกาส เราไม่รู้หรอกว่าเขาจะเปลี่ยนจริงไหม จะปรับจริงไหม แต่ถ้าคุณไม่ให้โอกาสเขา เขาจะไม่มีวันได้เปลี่ยนตัวเอง ลองยื่นมือออกมาช่วยบ้าง ให้อาชีพ เขาจะได้ไม่กลับไปทำผิดอีก” 

 

โบว์ทิ้งท้ายด้วยการกล่าวถึงรอยสักรูป ‘ป๊อปอาย’ ที่แขน แม้มันทำให้ใครหลายคนในสังคมตีตราว่าโบว์เป็นคนอย่างไร แต่รอยสักนั้นก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เขาใช้ชีวิตต่อเมื่อต้องผ่านเวลาที่ยากลำบาก

 

เราชอบป๊อปอายเพราะว่า มันเป็นคนธรรมดา แล้วพอกินผักโขมมันก็มีพลังเพิ่มขึ้น…มึงไม่มีพลัง มึงหาอะไรเสริมเข้าไปดิ” 

 

### 

บทความนี้ เป็นผลงานส่วนหนึ่งจากโครงการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชน ในหัวข้อ "การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำผิดซ้ำ" ซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

 

Back