ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลักสูตรผู้บริหารหลักนิติธรรม (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) รุ่นที่ 2 ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) TIJ ได้เชิญ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาร่วมเสวนาในหัวข้อ “Thailand’s Journey on Regulatory Guillotine” ร่วมกับคุณกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมและกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน และคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้เผยถึงเส้นทางการปฏิรูปกฎหมายของไทย พร้อมระบุกฎหมายบางอย่างล้าสมัยแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องทันกับโลกปัจจุบัน และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนา


ผู้ร่วมเสวนากล่าวถึงสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ว่าเป็นยุคแห่งการสร้างฐานรากไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีชีวิตที่ดี แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ยังไม่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายพระราชบัญญัติกว่า 650 ฉบับ แต่ถ้าระดับกฎกระทรวง ระเบียบและคำสั่งต่างๆ จะมีมากกว่าหนึ่งแสนฉบับ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับทุกมิติของการดำเนินชีวิต แต่ร้อยละ 90 ของกฎหมายยังเป็นลักษณะควบคุม (Control) คือเป็นระบบอนุมัติ อนุญาต ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกจากบริการภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งผลให้การทำธุรกิจมีความยากลำบาก เกิดความล่าช้า เพราะการทำธุรกรรมต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ การมีกฎหมายเป็นจำนวนมากและซับซ้อนยังส่งผลให้ประชาชนถูกริดรอนสิทธิ์ ในขณะเดียวกัน กฎหมายที่ล้าสมัยก็เป็นต้นทุนของประเทศ เพราะคิดเป็นมูลค่าต่อปีราวร้อยละ 10-20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎหมายให้ทันยุคสมัย ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

ที่ผ่านมา โลกได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการใช้กฎหมายให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนา ในอดีตเป้าหมายของการใช้กฎหมายคือเพื่อควบคุม และหลังจากนั้น ได้มีแนวคิดในการให้เอกชนควบคุมกันเอง (Deregulation) แต่ก็เกิดปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) จึงได้มีการเปลี่ยนแนวคิดเป็นการควบคุมโดยรัฐที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ต่อมาในปีพ.ศ. 2555 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากdาศได้ทำให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายมาเป็นการควบคุมโดยรัฐแต่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น (Better Regulations for Better Lives) และเป็นเครื่องมือไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่กฎหมายไทยยังคงเป็นแนวคิดแบบการควบคุม จึงจำเป็นต้องปรับให้มีประสิทธิภาพตามยุคสมัยเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของโลก


ในการปฏิรูปกฎหมายสำหรับประเทศไทยนั้น สามารถดำเนินการได้ 2 ส่วนควบคู่กันไปคือ “การสะสางกฎหมายเดิม” ซึ่งก็คือการยกเลิกกฎหมายเดิมที่ล้าสมัยที่มีลักษณะควบคุม ริดรอนสิทธิ์ และซับซ้อน ด้วยเครื่องมือ Regulatory Guillotine ซึ่งคัดกฎหมายออกในปริมาณมาก


ในอีกส่วนหนึ่งคือ “การออกกฎหมายใหม่” ซึ่งได้ส่งเสริมให้ใช้หลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบคอบด้วยเครื่องมือ Regulatory Impact Assessment – RIA คือการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย ซึ่งจะสามารถบอกได้เป็นอย่างดีว่ากฎระเบียบที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ในการปฏิรูปกฎหมายทั้ง 2 ส่วนนั้น ความมุ่งมั่นในการปฏิรูปของฝ่ายการเมือง (Political will) นับเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลต้องตัดสินใจและดำเนินการอย่างจริงจัง

จะเห็นได้ว่า ตลอดกระบวนการที่จะทำให้เรามีกฎหมายที่ดีนั้น จำเป็นต้องใช้หลักนิติธรรม เพราะหลักนิติธรรมจะให้ความสำคัญกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน กฎหมายที่ได้จึงมาจากความเห็นชอบของประชาชน และมุ่งพัฒนาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และตอบสนองต่อคนทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าสังคมเราจะสามารถก้าวเข้าสู่โลกยุค 4.0 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ติดตามกิจกรรม RoLD Program ได้ที่ http://tijrold.org/

Back