พัฒนาการและอนาคต: ในโอกาสครบรอบ 2 ทศวรรษ การรับรองข้อมติสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในรูปแบบของการแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักที่ทั่วโลกนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา เพื่อให้ผู้กระทำผิดนั้นได้สำนึกผิดและถูกกีดกันออกจากสังคมและผู้เสียหาย โดยมุ่งให้เกิดความปลอดภัย อย่างไรก็ดี หลายครั้งที่โทษของการแก้แค้นทดแทนกลับไม่ได้ช่วยให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ผู้กระทำผิดจำนวนหนึ่งกลับได้เรียนรู้หนทางการก่ออาชญากรรมจากในเพื่อนผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้กระทำผิดที่ได้รับโทษ เมื่อถูกปล่อยตัว แม้พวกเขาจะพร้อมกลับไปดำเนินชีวิตปกติ แต่เมื่อการรับโทษทัณฑ์ทำให้พวกเขาถูกตีตรา ถูกมองว่าเป็น “คนเลว” กลายเป็นยิ่งกลับทำให้พวกเขาเกิดความเกลียดชังสังคม และกลับไปกระทำผิดซ้ำเพื่อ “แก้แค้น” สังคมแทน
ในห้วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ วงการกระบวนการยุติธรรมในระดับสากลจึงได้มีการศึกษาแนวทางที่เป็นทางเลือกมาทดแทนกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก และหนึ่งในนั้นก็คือการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) โดยเมื่อ พ.ศ. 2545 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ได้ให้การรับรองหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา (Basic Principles on the Use of Restorative Justice Programmes in Criminal Matters) และมีพัฒนาการเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะสถาบันที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมระดับสากลสู่การปฏิบัติจริงในบริบทของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน จึงได้จัดงานเสวนาออนไลน์เชิงวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การรับรองข้อมติสหประชาชาติ เรื่องหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 พร้อมการเผยแพร่วิดีทัศน์ภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดี เรื่อง “ก้อนหินที่หายไป” เพื่อส่งเสริมให้สาธารณะชนเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ง่ายขึ้น
“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ก็ต้องยอมรับครับว่าการที่จะนำกระบวนการนี้มาปรับใช้นั้นมีความจำเป็นที่เราจะต้องอาศัยเงื่อนไขและปัจจัยหลายประการ โจทย์ท้าทายที่เราอยากจะใช้ประโยชน์จากกระบวนการนี้ เพื่อช่วยทำให้ความท้าทายที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเราประสบอยู่นั้นบรรเทาเบาบางลง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนหรือการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล รวมถึงการใช้โทษอาญาโทษจำคุกในปริมาณที่มากเกินไป โดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะเป็นกระบวนการที่เน้นการมีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง แล้วก็มุ่งที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำผิดผู้เสียหายรวมไปถึงชุมชนด้วย” ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวเปิดงาน พร้อมระบุด้วยว่า ในกาลข้างหน้า TIJ จะยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการนำไปใช้ในโรงเรียน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการมีกลไกติดตามผล
“เพราะกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นี้ หัวใจสำคัญ คือ ทุกฝ่ายได้รับการเยียวยาแล้วก็การที่แต่ละฝ่ายได้ตกลงกันไว้ประการใด คุณจะมีกลไกในการติดตามว่ามันเป็นไปตามนั้นหรือไม่ หัวใจสำคัญอยู่ที่การมีข้อมูลที่ถูกต้องและเราก็ได้พยายามทำงานในส่วนนี้ โดยทำเป็นระบบพัฒนาการติดตามประเมินผล โดยมีผู้นำร่องที่เราได้เริ่มทำงานร่วมกับ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องและผู้ปฏิบัติงานในระยะต่อไป”
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ กล่าวปาฐกถาพิเศษเพิ่มเติมถึงพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2540 เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายและอาญา ได้รวบรวมกฎหมายต่างๆ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ และได้พบปัญหาในการใช้ชื่อเพราะ restoration เป็นการฟื้นฟูหรือเยียวยา แต่การแนะนำแนวคิดใหม่ระบวนการยุติธรรมเชิงเยียวยาฟื้นฟูจะไปสอดคล้องกับ rehabilitation ไม่กระตุกถึงแนวคิดหรือความสมบูรณ์ของหลักการนี้ได้ ตอนนั้นจึงนึกถึงคำว่าสมานฉันท์ “สมาน” แปลว่าทำให้สนิทติดกัน เชื่อมกัน เป็นความรู้สึกเยียวยารักษาให้ดีดังเดิม เป็นการ healing ส่วนฉันท์ หรือ ฉันทะ คือพอใจจะทำตรงนั้น จึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่หมายความถึงการพยายามประสานเยียวยาความร้าวฉานด้วยความพอใจของทุกฝ่าย
“ประเทศไทยเรียกกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ให้มองถึงผลสุดท้ายของ Restorative ว่านำสู่ความสมานฉันท์ของผู้เกี่ยวข้อง และมองถึงกระบวนการที่ทำด้วยความพร้อมใจ สะท้อนทั้งเป้าหมายและวิธีการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”
การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทยนั้นช่วยได้หลายเรื่อง ได้แก่ การลดใช้โทษจำคุก การให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายสำคัญที่สุด และควรได้รับการเยียวยา นอกจากนั้นยังเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ชุมชน และครอบครัวได้มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นจุดแข็งของสังคมไทยเดิม คือ ชุมชนและครอบครัวได้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาในเบื้องต้น
ที่ปรึกษา TIJ ให้ความเห็นถึงการดำเนินงานในอนาคตด้วยว่า สังคมต้องทำความเข้าใจเรื่องหลักการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างถ่องแท้ โดยไม่เหมารวมว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องเดียวกัน การไกล่เกลี่ยบางครั้งเป็นเรื่องความเกรงใจผู้ใหญ่ หรือเรื่องความมีอำนาจเหนือของผู้ไปไกล่เกลี่ย ไม่ได้นำไปสู่การยินยอมพร้อมใจของผู้เสียหายหรือการสำนึกผิดของผู้กระทำผิด เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่เข้าใจถึงกระบวนการหรือ process และ outcome ของการทำให้ผู้กระทำผิดสำนึกผิด ผู้เสียหายให้อภัย นำไปสู่การเยียวยาที่แท้จริง ต้องเข้าใจและพัฒนาให้เกิดขึ้น หมายถึงต้องมีการฝึกอบรมวิทยากร และกระบวนการที่เข้าใจเรื่องนี้ กำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน เพื่อให้นำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรต้องมีระบบและกลไกทางกฎหมายมารองรับที่ชัดเจน มีการ monitor และสื่อสารกับสังคมว่าการลงโทษไม่ได้มีจำคุกอย่างเดียว และสามารถสร้างการสำนึกผิดได้ใกล้เคียงกัน
จากนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ได้แก่ อีวอน ดันดูแรนด์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาอาชญาซอร์แวลลีย์ แคนาดา นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศและอดีตรองเลขาธิการด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ร่วมบรรยายในหัวข้อกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับความยุติธรรมทางอาญา โดยต่างมีความเห็นตรงกันว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคและความท้าทายหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการยอมรับในสังคมถึงการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ในบริบทต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมการฝึกอบรมบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจและสามารถนำหลักการ แม้แต่ในขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือการให้ผู้กระทำผิดได้มีโอกาสแสดงความสำนึกในสิ่งที่กระทำ และผู้เสียหายได้รับการเยียวยา มีการให้อภัย โดยทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความสมัครใจของทุกฝ่าย ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นสามารถนำไปใช้ได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นคดีเด็กและเยาวชนหรือผู้ใหญ่ อันจะนำไปสู่ความสงบสุขของสังคมโดยรวมต่อไป
ต่อมา อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการ TIJ นำเสนอ “งานวิจัย Harmonious Justice หนทางสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในประเทศไทย” พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่ชั้นก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาผ่านกิจกรรม RJ in School การพัฒนานวัตกรรมด้านระบบติดตามและประเมินผล RJ และ e-learning และการสร้างความตระหนักสาธารณะ การส่งเสริมความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายผ่านภาพยนตร์สั้นและแคมเปญรณรงค์ และการพัฒนากรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เป็นรูปธรรมและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ได้
ในวันเดียวกันยังได้จัดให้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “การส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” โดยมี สมชัย พุทธจันทรา ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดี เรื่อง “ก้อนหินที่หายไป” ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภราดา คฑาวุธ สิทธิโชคสกุล หัวหน้าสำนักฝ่ายวิชาการ มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.เชิญพร เรืองสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.ธปภัค บูรณะสิงห์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการระงับข้อพิพาท กองส่งเสริมการระงับข้อพิพาท ผู้แทนอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับมุมมองต่อการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในประเทศไทย รวมทั้งความคาดหวังและแนวทางในการนำไปใช้ในอนาคตตามบทบาทของแต่ละหน่วยงานด้วย
สมชัย พุทธจันทรา กล่าวถึงมุมมองต่อการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ว่า หลังจากมารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ในเรื่อง “ก้อนหินที่หายไป” ทำให้เห็นว่าหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ คำว่า สมาน คือ การทำให้ติดกันเชื่อมกัน แต่ในคำว่าสมาน จะทำให้เชื่อมกันได้ต้องมีความเท่ากันเสมอกันก่อนจึงจะสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างสนิทแนบแน่น อีกเรื่องคือ ฉันทะ เป็นข้อหนึ่งของอิทธิบาท ๔ คือต้องทำให้เกิดความพอใจร่วมกัน ยินดีร่วมกัน จึงจะสมานฉันท์ได้ จึงนำทั้งสองคำนี้มาตีความเป็นความมุ่งหวังให้เกิดการสมาน ความพอใจ ยินดีร่วมกัน และนี่คือหัวใจของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ทั้งยังคาดหวังด้วยว่า การเผยแพร่ภาพยนตร์ชิ้นนี้จะช่วยให้สังคมไทยได้ทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วนรอบด้านถึงความขัดแย้งต่างๆ ก่อนค่อยตัดสินว่าควรทำอย่างไรต่อไป โดยให้เริ่มต้นด้วยคำว่าสมานฉันท์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยมีอยู่แล้ว แต่อาจจะลืมมันไป
ต่อมา ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ภราดา คฑาวุธ สิทธิโชคสกุล หัวหน้าสำนักฝ่ายวิชาการ มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึงการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในมิติของการศึกษา ที่ TIJ ได้เข้าไปร่วมทำข้อตกลงกับทางคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เป็นปีแรกในปีนี้ โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่อง
ผศ.ดร.อดิศร กล่าวถึงแนวคิดในการนำกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์มาใช้ในโรงเรียนและสถานศึกษาว่า มีหลักการพื้นฐานสำคัญคือการนำความเป็นมนุษย์กลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม โดยให้มองอีกฝั่งเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ฟังกันและเข้าใจความรู้สึกของตัวเองและอีกฝ่าย เกิดความเข้าใจความเสียหายที่เกิดขึ้นและการรับฟังอย่างแท้จริงเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้า
“ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่วิธีการจัดการความขัดแย้งเป็นเรื่องไม่ปกติในสังคม เพราะเรามักใช้อำนาจ สั่ง บังคับให้ผู้กระทำผิดได้ชดใช้ความผิด แต่เค้าอาจชดใช้ไปโดยไม่รู้สึกผิด จะทำอย่างไรให้เค้ารู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ รู้สึกถึงผลกระทบต่อผู้อื่น และพยายามชดใช้เยียวยาอีกฝั่งหนึ่ง รวมทั้งครอบครัวของตนเอง โดยพยายามจะสร้างให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นในสถานศึกษาและโรงเรียน ให้เกิดการพัฒนาทักษะและนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคต รวมทั้งขยายโอกาสไปยังเด็กคนอื่นๆ ด้วย” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว
ทั้งนี้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีส่วนสำคัญในการเสริมพลังให้นักศึกษาและพัฒนาครู ให้มีความสามารถในการจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยให้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เพื่อให้เข้าใจในกระบวนการ จะได้ไม่ปฏิบัติแค่เพียงการบอกให้เด็กให้อภัย ยอม หรือขอโทษเพื่อน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลานาน เพื่อสร้างให้เด็กรู้สึกไว้วางใจ ได้รับการรับฟังอย่างจริงใจ ให้รู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจและพร้อมก้าวไปด้วยกันกับเขา โดยหวังว่าโครงการร่วมกับ TIJ จะสามารถนำไปขยายโอกาสในที่อื่นๆ ได้เช่นกัน
“สังคมบ้านเรามีความขัดแย้งเยอะ ทางความคิด ทางอุดมการณ์ ความเชื่อ คุณค่า ความแตกต่างระหว่างกัน สังคมเราต้องการเครื่องมือมาทำงานกับความขัดแย้งเหล่านี้ และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะช่วยให้คนได้กลับมาตั้งหลัก ได้รับฟังซึ่งกันและกัน และถ้าเราสร้างบัณฑิตที่เข้าใจในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ออกจากความทุกข์ของตนเองและผู้อื่นได้ จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมาก และอนาคตก็สามารถขยายไปกลุ่มเป้าหมายอื่น นอกจากสถานศึกษาได้”
ขณะที่ ภราดา คฑาวุธ สิทธิโชคสกุล กล่าวเสริมถึงกระบวนการเชิงสมานฉันท์ ในเครือของมูลนิธิเซนต์คาเบรียลว่า มีการนำแนวทางกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ ด้วยแนวทางการสร้างเด็กหรือเยาวชนให้เป็นมโนธรรมของสังคม ซึ่งโรงเรียนในเครือจะปลูกฝังความเป็นคาทอลิก มีการประยุกต์คุณค่าทางศาสนาคริสต์ ด้านความรัก การให้อภัย การให้โอกาส และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับแนวทางการระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธีตั้งแต่ก่อนจะร่วมมือกับ TIJ เห็นได้จากในระบบโรงเรียนในเครือจะเปลี่ยนห้องปกครองเป็นห้องอภิบาล เป็นการดูแลเด็ก โดยไม่ใช้การลงโทษ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เด็กสำนึกผิด การให้อภัย เปิดโอกาส มีความเข้าอกเข้าใจกัน ด้วยการพูดคุยกัน
ส่วนในปีนี้ มียุทธศาสตร์สำคัญมากคือ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กทุกคน สิทธิเสรีภาพของเด็ก การปรองดองสมานฉันท์เชิงสันติภาพ ความยุติธรรมเชิงสันติ โดยที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม จะมีการจัดอบรมสัมมนาครู การให้ลงลายมือยอมรับนโยบายที่จะไม่มีการละเมิดเด็ก และเด็กจะต้องได้รับรู้สิทธิในฐานะนักเรียนและบุคคลหนึ่งของโรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนมีแนวทางป้องกันและเยียวยาเด็กในโรงเรียน ด้วยการให้มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนละ 1 คน ที่คอยให้คำปรึกษา คำแนะนำแก่เด็ก มีครูเฉพาะด้านทางด้านอภิบาล และให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
สำหรับโครงการนำร่องระหว่าง TIJ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียล ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 นี้ เป็นการจัดค่ายเยาวชน โดยส่งตัวแทนนักเรียนจากสภานักเรียน และครูมาร่วมกันทำเวิร์กช็อป สิ่งสำคัญคือเด็กกลุ่มนี้จะเป็นตัวแทนในการสื่อสารทำความเข้าใจกับเพื่อนนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ให้ทราบแนวปฏิบัติต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้โครงการนี้ช่วยให้เกิดวิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ โดยมีครูหรือนักเรียนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปเป็นผู้คิดค้น นำเสนอ และนำไปพัฒนา เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนด้วย
วงเสวนายังได้กล่าวถึงประเด็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมข้อมูลข่าวสารมาใช้เพื่อสร้างเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดย TIJ ร่วมมือกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาเว็บไซต์องค์ความรู้ในรูปแบบของ e-learning และ e-RJ process เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในสังคม โดยมีการออกแบบให้เป็นแพลทฟอร์มที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน มีระบบสนับสนุนที่ใช้งานได้ง่าย เช่น การกรอกข้อมูล เพื่อขอนัดหมาย หรือติดตามความคืบหน้าในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
อาจารย์ไพสิฐ และ ดร.เชิญพร จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของเว็บไซต์ดังกล่าวว่ามหาวิทยาลัยมีฐานข้อมูลการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงอยู่ในระดับภูมิภาคที่นำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในภาพใหญ่ได้ ด้วยการสังเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะจัดทำขึ้นต่อไปให้เป็นองค์ความรู้ทางเลือกที่อาจจะนำไปสู่การเป็นกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้เป็นรายกรณี
“แพลทฟอร์มนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้เรียนรู้รูปแบบที่ต่างจากกระแสหลักว่ามีวิธีการที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้อย่างไร และที่สำคัญนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่กรณี หรือชุมชน จะเป็นองค์ความรู้ที่อยู่ในทางปฏิบัติของบุคคลหรือชุมชน หรือตามคนที่มีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ย เมื่อมีดิจิทัลแพลทฟอร์มมาช่วย จะทำให้เผยแพร่ความรู้ได้กว้างขวางและอำนวยความยุติธรรมได้รวดเร็วขึ้น” อาจารย์ไพสิฐ กล่าว
ส่วนในเฟสถัดไปจะมีการพัฒนาแพลทฟอร์มให้ใช้ Machine Learning และ Artificial Intelligence (AI) เพื่อตรวจหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในฐานข้อมูล เช่น ปัจจัยใดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
อย่างไรก็ดี ดร.เชิญพร ให้ความเห็นด้วยว่า ความท้าทายหนึ่งก็คือ เมื่อมีแพลทฟอร์มแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือกลไกการดึงดูดให้มีคนเข้ามาใช้งาน (user enticing mechanism) ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือ (trust) ในกลุ่มบุคลากรที่ใช้งาน เป็นหัวใจสำคัญ
อาจารย์ไพสิฐ เสริมว่า สิ่งที่ TIJ กำลังพยายามทำอยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ จะช่วยให้คนเข้ามาใช้ฐานข้อมูลได้เช่นกัน ฐานข้อมูลนี้จะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการจัดการความขัดแย้ง นอกจากนี้หากมีการทบทวนคดีต่างๆ ในจำนวนที่มากพอ ก็จะช่วยให้เห็นถึงบทเรียนจากแต่ละคดี และนำไปสู่การวางแผนการป้องกันการเกิดความขัดแย้ง ทำให้สังคมเรียนรู้ว่าทิศทางการขัดแย้งนั้นกำลังไปในทิศทางใดและต้องรีบทำอย่างไรเพื่อป้องกัน รวมทั้งหากมีจำนวนคดีที่มากพอ ยังจะช่วยให้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ในการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการ วิธีการต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรม เช่นการออกแบบนโยบาย การวางแผนงบประมาณ เพื่อเป็นทางเลือกและทางรอดของกระบวนการยุติธรรมในระดับต่อไปได้
ส่วนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในมุมมองของหน่วยงานทางกฎหมาย ดร.ธปภัค จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เล่าว่า ประเทศไทยมีการใช้กระบวนการยุติธรรมชุมชนมานานแล้ว โดยมีการขับเคลื่อนในช่วง พ.ศ. 2547-2549 แต่พบปัญหาว่าเมื่อมีการเจรจา บางคนจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้กันไว้ และทำให้ต้องเสียเวลาไปขึ้นศาลในวิธีการพิจารณาคดีกระแสหลักต่อไป จากนั้นได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการทำงานวิจัย กระทั่งได้นำเสนอให้จัดทำพระราชบัญญัติส่งเสริมการไกล่เกลี่ยในชุมชน ทั้งในคดีแพ่งและอาญาที่ยอมความได้ หรือเป็นลหุโทษ
“ปัจจุบันประเทศไทยมีคดีกระแสหลักต่อปีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคดี แบ่งเป็นคดีอาญา 5 แสนคดี และคดีแพ่ง 1 ล้านคดี หากนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาช่วยหันเหคดีก็จะช่วยลดคดีเล็กน้อยออกไปได้มาก การมีกฎหมายนี้จึงช่วยให้หน่วยงานของรัฐและภาคประชาชน อย่างชุมชนนำไปใช้ได้ และเกิดเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน ซึ่งผลดีคือ ช่วยลดระยะเวลาการดำเนินคดี ทำให้เกิดการพูดคุยกัน หาคนกลางมาดำเนินงาน ถ้าไกล่เกลี่ยตกลงกันได้คดีก็จบ ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ไปดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักต่อไป”
ดร.ธปภัค ย้ำว่า เรามีการใช้กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ มีศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชน และศูนย์ยุติธรรมชุมชนทั่วประเทศ สิ่งสำคัญคือ พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งให้คู่กรณีได้ทราบว่ามีกระบวนการนี้ เพื่อให้เรื่องขัดแย้งนั้นไม่ต้องไปถึงศาล
นอกจากนี้ ดร.ธปภัค ยังได้กล่าวถึง การเชื่อมโยงบูรณาการกระบวนการไกล่เกลี่ยในรูปแบบออนไลน์ หรือเรียกว่า e-meditation ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถยื่นขอใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ ไม่ว่าคู่กรณีจะอยู่ที่ใดก็สามารถร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยได้ เป็นยุคของ New Normal ที่จะช่วยให้เจรจากันได้สะดวกขึ้น และลดการนำคดีขึ้นสู่ศาลด้วย
“e-meditation ผู้ที่เป็นหน่วยงานรัฐก็สามารถใช้ระบบนี้เชื่อมโยงฐานข้อมูลกันได้ และที่ TIJ ก็มีระบบที่กำลังจะพัฒนาก็ยินดีที่จะเชื่อมโยงระบบกันให้เกิดฐานข้อมูลใหญ่ของประเทศในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่อไป” ดร.ธปภัค กล่าว
รับชมภาพยนตร์สั้น "ก้อนหินที่หายไป"
รับชม งานเสวนาออนไลน์เชิงวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การรับรองข้อมติสหประชาชาติ เรื่องหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา
ดาวน์โหลด รายงานความยุติธรรมสมัครสมาน: แนวทางของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมสมานฉันท์ ทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ