ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

นวัตกรรมยุติธรรม : เทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

 

“อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว แค่กระจายไม่เท่ากัน” - William Gibson

วลีนี้ไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริงเลย

 

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมนี้ ถูกระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 2030 ในเป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ โดยเฉพาะในหัวข้อที่ 16.3 ที่ระบุถึงการส่งเสริมหลักนิติธรรม ให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างถ้วนหน้า

 

แต่ในปี 2019 มีรายงานว่า ประชากรโลกประมาณ 1.5 ล้านล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม และคาดกันว่าในปัจจุบันที่มีปัจจัยเสริมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวนของผู้คนที่เข้าไม่ถึงความยุติธรรมน่าจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดข้อกังวลใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพราะหากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังหรือความต้องการของสังคมและประชาชนได้ จะส่งผลรุนแรงต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว

 

ดังนั้นจึงเกิดความเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วนของโลก ที่มองว่า การจะปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างถ้วนหน้า จำเป็นต้องทำให้ระบบยุติธรรมมองคนเป็นศูนย์กลาง และตอบสนองต่อประชาชนอย่างรวดเร็ว ทำให้คำว่า “People-Centered Justice System” หรือกระบวนการยุติธรรมที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นคำที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลัง

 

“การเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นการพยายามทำความเข้าใจความต้องการของคนในเรื่องของความยุติธรรม และเชื่อมประสานหน่วยงานที่จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ให้สามารถทำงานได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการในกระบวนการยุติธรรม”

- นิยามของ People-Centered Justice System โดย The Hauge Institute of Innovation of Law (HiiL)

 

TIJ ให้ความสำคัญกับแนวคิดดังกล่าวอย่างมากเช่นกัน โดย ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวระหว่างร่วมบรรยายในหัวข้อ “เทคโนโลยีกับกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ในงานประชุมระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยระบุว่า TIJ มีเป้าหมายให้ความสำคัญกับงาน 3 ประเภท คือ (1) การลดความความไม่เท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ผู้กระทำผิดผู้หญิง และเด็ก เมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (2) การลดความเสี่ยงในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในสังคม (3) งานนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย ด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านความยุติธรรมในสังคมไทย

 

ดร.พิเศษ ยกตัวอย่างจากกลุ่มผู้ต้องขัง โดยระบุว่า หากมองปัญหาบนพื้นฐานความเป็นจริงอย่างรอบด้าน จะเห็นปัจจัยแวดล้อมที่เป็นองค์ประกอบอีกมากหากเราพิจารณาหาสาเหตุก่อนที่ใครคนหนึ่งจะกระทำความผิด และเมื่อเขาถูกลงโทษจนพ้นจากกระบวนการยุติธรรมมาแล้ว การกลับมาอยู่ในสังคมก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอีกหลายมิติ จนเป็นเหตุให้ต้องกระทำความผิดซ้ำหวนกลับไปในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น TIJ จึงพยายามมองกระบวนการยุติธรรมให้เชื่อมต่อทั้งระบบ เพื่อออกแบบกระบวนการและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมมาแก้ปัญหา นำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานภายในขึ้นใหม่ที่เรียกว่า สำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม (Justice Innovation) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการคิดค้น ทดลอง ทดสอบ ในการสร้างระบบนิเวศทางด้านยุติธรรมให้นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในสังคมไทย

 

หัวใจของทีม Justice Innovation คือส่งเสริมนวัตกรรมและร่วมมือกันให้คนเข้าถึงความยุติธรรมได้สะดวก เห็นคนเป็นศูนย์กลางการทำงานโดยตลอด ซี่งเป็นอุดมคติ แต่ในความเป็นจริง จะทำอย่างไรให้มีการใช้ความยุติธรรมได้อย่างพอดีและคำนึงถึงความต้องการและข้อจำกัดของผู้ที่ต้องเข้ามาขอรับบริการในกระบวนการยุติธรรม โดยนำเทคโนโลยีที่กำลังมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมเข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญเพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม

 

“ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่มีอำนาจสูง เราจะคำนึงถึงนโยบายโดยไม่คำนึงถึงเทคโนโลยีไม่ได้ แต่อยากชวนมองว่าเทคโนโลยีเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง หากเรามองเห็นปัญหาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เทคโนโลยีจะช่วยให้เราค้นหาและรับรู้ถึงความต้องการของประชาชน จินตนาการถึงทางออกและทางเลือกใหม่ ๆ ทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ประชาชนรู้สึกสบายใจในการเข้ามารับบริการ”  

- ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ

 

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการ TIJ และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม ได้เล่าถึงแนวคิดการนำคนมาเป็นศูนย์กลางในการออกแบบบริการด้านความยุติธรรม ผ่านมุมมอง 3 ด้าน

 

มุมมองที่ 1 มองจากวิถีชีวิตตามภูมิหลังของคนแต่ละช่วงวัย จะพบว่าในชีวิตคนคนหนึ่ง ประเภทของปัญหาและความรุนแรงของปัญหา (Justice Needs) ก่อให้เกิดความขัดแย้งในชีวิตแตกต่างกัน และมีเครื่องมือจัดการปัญหาที่แตกต่างกันไป บางเรื่องใช้กระบวนการยุติธรรมแบบทางการเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เช่น ในช่วงวัยเด็ก หลายคนตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว เติบโตขึ้นมาในวัยเรียน อาจไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนหรือหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเด็กยังไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกด้วยตนเองได้ อาจผันตัวไปสู่การลักขโมยหรือค้ายาเสพติด การแก้ปัญหาของเด็กในวัยนี้จึงไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องอาศัยกลไกทางสังคมและสาธารณสุขมาช่วยหนุนเสริมอย่างมาก

 

เมื่อโตขึ้นมา ปัญหาการทะเลาะกับเพื่อนนักเรียนหรือเพื่อนบ้าน อาจแก้ได้ง่ายและประหยัดกว่าด้วยระบบยุติธรรมอย่างไม่เป็นทาง เช่น วิธีการไกล่เกลี่ยในโรงเรียน มีผู้นำชุมชนหรือครูมาเป็นคนกลางในการเจรจา ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการขึ้นโรงขึ้นศาลที่ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่าทนาย ค่าเดินทางและต้นทุนแฝงต่างๆ แต่หากปัญหาบานปลายถึงข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกิน การทำร้ายกันถึงชีวิต หลายคนจึงมองหากระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างคู่ขัดแย้ง ดังนั้นในมุมมองแรกนี้ จึงสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการต่อปัญหาแต่ละประเภทในชีวิตคนที่แตกต่างกัน

 

มุมมองที่ 2 มองจากปัญหาคนล้นคุกและอัตราการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐตั้งใจแก้ไขให้ได้ แต่เมื่อมองไปที่ปัญหาจะพบว่า มีผู้พ้นโทษจำนวนมากถึง 1 ใน 3 กลับเข้ามาในเรือนจำอีก เราจึงเห็น 2 คุณลักษณะที่เป็นสมมติฐานสำคัญ คือ คนมีความต้องการ (Needs) และเงื่อนไข ข้อท้าทายในชีวิตต่างกัน ความคล่องตัวในการใช้ทักษะชีวิตและประสบการณ์จึงต่างกัน ทำให้การตั้งหลักเพื่อจะประกอบอาชีพก็แตกต่างกันไปด้วย หากจะแก้ปัญหาให้คนๆ หนึ่งตั้งหลักได้ เราจึงต้องมองหากลไกที่สร้างทางเลือก ตอบโจทย์ความหลากหลายของคนได้ และประคับประคองให้ต่อเนื่อง อย่างน้อยในช่วงปีแรกที่มีสัดส่วนการกระทำผิดซ้ำสูงสุด ให้เค้ากล้าพอจะสู้ปัญหารายวัน ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก เป็นกลไกพี่เลี้ยงที่มากกว่าการคาดหวังให้ครอบครัวและชุมชนดูแล

 

ดร.อณูวรรณ ยกตัวอย่างการหยิบยืมแนวคิดที่เรียกว่า Project Management Office (PMO) ซึ่งนำมาใช้ทดลองใช้จริงในเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและระยอง เรียกว่าโครงการ White Space Platform เป็นเครื่องมือที่ช่วยเร่งให้เกิดความร่วมมือภายในชุมชน เร่งให้ชุมชนดูแลชุมชนได้ โดยอาศัยตัวกลางคือ PMO มาช่วยบริหารจัดการโครงการและจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงาน พันธมิตรและเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ โดยคนกลางต้องคอยบริหารจัดการความเสี่ยงของแต่ละหน่วยงานให้อยู่ในระดับที่สามารถทำงานร่วมกันได้ พร้อมทั้งผลักดันเป้าหมายในเชิงผลลัพธ์ คือทำให้พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่ร่วมโครงการมีทักษะชีวิตและมุมมองในการจัดการปัญหาที่ดีขึ้น ตลอดจนตั้งเป้าหมายในชีวิตอย่างถูกต้อง เราเรียกว่าเป็นนวัตกรรม เพราะสามารถทำซ้ำ โดยใช้มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operation Procedures) ในพื้นที่อื่นได้ ดังนั้น ในมุมมองที่ 2 จึงสะท้อนว่าความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ (Inter-sectoral Collaboration) คือหัวใจสำคัญ

 

มุมมองที่ 3 มองจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ถูกมองผ่านเคสทำงานจริงของ TIJ ซึ่งเป็นปัญหาลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนคดีทำร้ายร่างกายทั่วไป เพราะผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวไม่สามารถหนีออกจากจุดเกิดเหตุได้ ต้องอยู่ในบ้านร่วมกับผู้ก่อเหตุ โดยมีข้อมูลทางสถิติที่ชี้ให้เห็นด้วยว่า เหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัว เข้าไม่ถึงหรืออาจกังวลที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดูได้จากตัวเลขเหยื่อที่เข้าสู่ระบบจากสาธารณสุขนับหมื่นกรณี แต่เป็นคดีความในชั้นตำรวจเพียงหลักร้อยเท่านั้น เราจึงมีการนำคนหลากหลายอาชีพมาร่วมสนทนากับผู้เสียหายเพื่อทำฐานข้อมูล ทำความเข้าใจปัญหา และพัฒนาเป็นนวัตกรรมช่วยเหลือ ด้วยการสร้างช่องทางแจ้งเหตุและให้คำแนะนำผ่าน แชทบอทที่เรียกว่า MySis ให้ผู้ถูกกระทำมีข้อมูลที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในภาวะคับขัน

 

อย่างไรก็ดี เมื่อมองกลับไป เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำแค่นี้น่าจะไม่พอ เพราะมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ของผู้ประสบเหตุ ต้องขยายกรอบการมองมากขึ้นและทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยเหลือเคสได้จริง การรับเคสเป็นต้นน้ำ แต่ในสายซัพพลายเชนต้องเปลี่ยนวิธีการมองแบบ Survivor Centered Approach มองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ใช้ทีมสหวิชาชีพร่วมกันสร้างเครื่องมือ Early Detection ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขมี screening questions มีเอ๊ะทัศนคติ เพื่อให้ช่วยเหลือเหยื่อได้จริง และสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ ต้องจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้มีเหตุจูงใจให้กระทำรุนแรงอีก พร้อมต้องทำให้เกิดทัศนคติที่ดีในสังคม สนับสนุนให้ทุกคนรับรู้สิทธิของตนเอง ทำให้สังคมไม่เพิกเฉยเมื่อรับรู้ถึงเหตุการณ์เหล่านี้ ดังนั้น ในมุมมองที่ 3 จึงเป็นการมองภาพ survivor-centered approach โดยเน้นการทำงานกับ ecosystem ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ถูกกระทำ ทีมสหวิชาชีพ สังคม และผู้กระทำความรุนแรง

 

การวัดความสำเร็จของนวัตกรรมความยุติธรรมที่ยึด “คนเป็นศูนย์กลาง”

 

นางสาวกันต์รวี กิตยารักษ์ ผู้จัดการโครงการ สำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม ชวนสำรวจว่าทิศทางของโลกในการพูดคุยเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมที่มองคนเป็นศูนย์กลาง” หรือ People centered justice ในปัจจุบัน คือการคำนึงถึง 3 มิติสำคัญ

 

มิติที่ 1 จะสร้างระบบอย่างไรให้มีความยั่งยืนและไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากอ้างจากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organization for Economic Co-operation and Development - OECD) จะพบว่า มีการเสนอให้ถอดบทเรียนจากภาคการสาธารณสุขของโลก ซึ่งทำได้โดยการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนร่วมกัน เช่น ให้กำหนดเป้าหมายกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางว่าเป็นอย่างไร จะทำให้ทุกคนตั้งกลยุทธ์ไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ ทั้งนี้ 2 คำที่มักได้ยินเสมอเมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางคือ “การเข้าถึง” และ “ความเป็นธรรม”

 

มิติที่ 2 จะวัดผลอย่างไรว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น ซึ่งองค์กร HiiL (The Hague Institute for Innovation of Law) ได้เสนอแนวทางทางการทำ Justice needs Survey ด้วยการสร้างกลไกตัวชี้วัดที่กระบวนการ ผลลัพธ์ และต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งนับรวมต้นทุนทางความรู้สึกของของประชาชนเป็นตัวชี้วัดด้วย

 

นอกจากนี้ ในมิติที่ 3 เรื่องการถอดบทเรียนความสำเร็จของกระบวนการยุติธรรมที่มองคนเป็นศูนย์กลาง องค์กร HiiL ได้สะท้อนผ่านหน้าตาของสิ่งที่จะเข้ามาสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Gamechangers) เช่น การบริการด้านยุติธรรมในชุมชน แอพลิเคชั่นป้องกันความจากความรุนแรง แพลตฟอร์มบรรเทาข้อพิพาทแบบเบ็ดเสร็จ และระบบที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็น เป็นต้น

 

เหตุนี้ “สำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม” จึงได้ดำเนินการสร้างสนามทดลองพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างความยุติธรรมในด้านต่างๆ โดยจะเป็นหน่วยงานที่เชื่อมต่อภาคส่วนอื่นๆ ให้สามารถสะท้อนมุมมองจากสังคมได้ ด้วยทัศนคติที่เชื่อว่าระบบยุติธรรมจะดีขึ้นได้ หากสร้างให้เกิดการร่วมมืออย่างเข้มแข็ง เพราะความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน

 

ในช่วงท้ายของการเสวนา TIJ จึงได้จัด Mini Workshop เพื่อชวนให้ดูว่า ภาพกระบวนการยุติธรรมในอนาคตเป็นอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร และป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้เกิดอนาคตทีไม่พึงประสงค์ เครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้คือ “Future Thinking” ซึ่งจะมาขับเคลื่อนการวางแผนร่วมกัน และถือเป็นการวางฉากทัศน์กระบวนการยุติธรรมไทยร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยเปิดให้ผู้สนใจได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ Possible Future Scenarios ของกระบวนการยุติธรรมไทย ด้วยเครื่องมือการมองอนาคต (Foresight Tool)

 

  • เริ่มได้จากการกวาดสัญญาณแห่งอนาคต (signal) หรือตัวอย่างของอนาคตที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจสำรวจได้ใน 5 มิติ (STEEP) ได้แก่ สังคม (social) เทคโนโลยี (Technology) เศรษฐกิจ (Economics) สิ่งแวดล้อม (Environment) และ การเมือง (Politics) เช่น คดีเกี่ยวกับ Deepfake การถูกลวนลามในโลก Metaverse เป็นต้น  

    ร่วมกันกวาดสัญญาณแห่งอนาคตด้านกระบวนการยุติธรรมไทย เพื่อการวางแผนวันนี้สู่การเดินทางไปในอนาคตที่อยากเห็น ได้ที่นี่

 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ไปทำรายงานฉบับสั้นในหัวข้อ Futures of Justice ต่อไป

 

 

Back