ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถานการณ์เรือนจำโลก 1 ปี หลังการระบาดของ โควิด-19 “นักโทษล้นคุก” สร้างปัญหาใหญ่ต่อการจัดการโรคระบาด

รายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก 2021 หรือ Global Prison Trend 2021 ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ และองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International – PRI) ได้เปิดเผยผลของรายงานพร้อมจัดเวทีเสวนาทางออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติมในมิติต่างๆ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ในเรือนจำ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าหลายประเทศทั่วโลก ประสบปัญหาในการจัดการปัญหาเมื่อมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ เพราะเรือนจำเป็นสถานที่แออัด มีจำนวนนักโทษสูงกว่าศักยภาพในการรองรับของเรือนจำมาก

 

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ต้องขังเสียชีวิตจากเชื้อโควิด 19 แล้ว 3,931 ราย ใน 47 ประเทศ และพบผู้ต้องขังติดเชื้อกว่า 532,100 คน ใน 122 ประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล ตัวเลขที่แท้จริงจึงอาจสูงกว่านี้มาก

 

“จำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าความสามารถในการรองรับของเรือนจำ” เป็นประเด็นหลักที่ผู้ร่วมเสวนาจากหลายประเทศ แสดงความคิดเห็นตรงกันว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปิดเผยให้เห็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ซ่อนอยู่ใต้พรมของเรือนจำหลายแห่งทั่วโลก เพราะเมื่อไม่สามารถหามาตรการใดมาแก้ปัญหาความแออัดได้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ยิ่งทวีความรุนแรงในเรือนจำ ปัจจุบันกว่า 118 ประเทศประสบกับปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และในบางประเทศมีความเกินอัตราความจุเรือนจำถึง 450-600% เช่น ประเทศเฮติ ฟิลิปปินส์ และคองโก ส่วนประเทศไทยมีผู้ต้องขังอยู่มากกว่า 3 แสนคน แต่ละคนมีพื้นที่นอนประมาณ 1.2 ตารางเมตร หลังจากที่เพิ่งมีการปล่อยตัวครั้งใหญ่ไป

 

 

เพื่อลดความแออัดของเรือนจำ ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโควิด 19 หลายประเทศจึงเลือกใช้มาตรการฉุกเฉินในการปล่อยตัวผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ตั้งครรภ์ โดยมีผู้ต้องขังประมาณ 475,000 คน ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2563 แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์การระบาดดูคลี่คายลง การปล่อยตัวผู้ต้องขังก็ลดน้อยลง ในภาพรวมผู้ต้องขังทั่วโลกที่ถูกปล่อยตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 จึงน้อยกว่าร้อยละ 6 ของประชากรผู้ต้องขังทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ความพยายามในการลดความแออัดในเรือนจำถูกนำมาใช้เพียงมาตรการเฉพาะหน้าในช่วงวิกฤตเท่านั้น ยังไม่ใช่นโยบายที่ยั่งยืน

 

“ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” หรือ ผู้ที่ถูกคุมขังไว้ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิด ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีเงินประกันตัว หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเหตุผลอื่นๆ เป็นผู้ต้องขังกลุ่มใหญ่ที่ถูกพูดถึงทั้งในรายงานฉบับนี้และในวงเสวนาว่าเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดภาวะ “คนล้นคุก” ในหลายประเทศ ในช่วงแรกที่โควิด-19 ระบาด ช่วงต้นปี 2020 มีบรรยากาศของความกระตือรือร้นจากศาลในหลายประเทศที่มีมาตรการปล่อยตัวคนกลุ่มนี้ โดยในช่วงปี 2020 จำนวนผู้ต้องขังระหว่างลดลงไป 43% ในประเทศโคลัมเบีย และ 17% ในเปรู และเหตุผลอีกประการหนึ่งในการลดลงของจำนวนผู้ต้องขังระหว่างมาจากการงดหรือเลื่อนการพิจารณาคดีของศาลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

 

อีกกลุ่มคือ “ผู้ต้องขังคดียาเสพติด” ซึ่งมีอยู่รวมกันทั่วโลกถึงประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งส่วนมากเป็นความผิดที่ไม่รุนแรง โดย 22% ของคนกลุ่มนี้คือผู้มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หลายประเทศจึงหันมาใช้แนวทางอื่นแทนการลงโทษจำคุก เช่น การบำบัดรักษานอกเรือนจำ โทษปรับ การคุมประพฤติ ภายใต้แนวคิดการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของคดียาเสพติด (decriminalization) ซึ่งใช้ได้ผลมาแล้วในหลายประเทศ ก็จะช่วยแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยประเทศไทย ผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากถึง 80% ของผู้ต้องขังทั้งหมด

 

“องค์ประกอบที่สำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ที่การจัดลำคับความสำคัญในการลงทุนเพื่อให้เกิดการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ดังนั้นเรือนจำ อาจไมใช่แนวทางเดียวที่ตอบสนองต่อเป้าหมายนี้ แต่ยังมีมาตรการทางเลือกอื่นๆแทนการคุมขัง ที่อาจเหมาะสมกว่าในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดบางราย และไม่สร้างปัญหาความแออัดในเรือนจำ” ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในระหว่างร่วมเสวนา

 

ส่วนแนวปฏิบัติที่ดีในการตอบโต้ต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ที่ถูกพูดถึงในเวทีนี้ คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเยี่ยมญาติ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่คนภายนอกจะนำเชื้อเข้าสู่เรือนจำได้ และเป็นแนวทางที่ดีกว่าการห้ามเยี่ยมไปเลยซึ่งทำให้ผู้ต้องขังเกิดความเครียด และวิธีนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่เหมาะจะใช้ไปตลอด เพราะเมื่อสามารถควบคุมการระบาดได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พบญาติเช่นเดิม

 

ส่วนประเด็นที่ถูกพูดถึงมาก คือ “การฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขัง” ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 13ประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรป ที่กำหนดให้ ผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญลำดับแรกๆที่จะได้รับวัคซีนก่อน เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง แต่ก็มีอีกหลายประเทศ ที่ยังใช้อคติจากการมองว่า เป็นกลุ่มผู้กระทำความผิด จึงจัดลำดับความสำคัญของผู้ต้องขังไว้ในลำดับท้ายๆของผู้ที่จะได้รับวัคซีน


 

“เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์” เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูง เพราะทำงานหนัก สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ต้องขังใหม่ และเข้าออกเรือนจำ รายงานฉบับนี้ชี้ว่าบางประเทศมีเจ้าหน้าที่เรือนจำติดเชื้อสูงถึง 88% ของยอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั้งหมด ในขณะที่หลายประเทศไม่เปิดเผยตัวเลขการติดเชื้อในกลุ่มเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน ปัญหาความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เชื่อมโยงกับปัญหาใหญ่ในเชิงระบบ คือ เรือนจำทั่วโลกใช้งบประมาณ ไม่ถึง 0.3% ของ GDP ในการบริหารเรือนจำ ประกอบกับปัญหานักโทษล้นคุก จึงมีเจ้าหน้าที่น้อยกว่าปริมาณงาน โดยประเทศไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกจัดให้อยู่ในโซนสีแดงของปัญหานี้ เพราะมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อผู้ต้องขังถึง 28 คน สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ทั้งหมด มีผู้สะท้อนสถานการณ์เรือนจำโลก ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังการระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า ยังขาด “ข้อมูล” ที่มากพอ ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีงานวิจัย ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบที่แท้จริงของโควิด-19ต่อการบริหารจัดการเรือนจำ และที่สำคัญคือ มีเรือนจำมากกว่า 80 ประเทศ ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากการระบาดในเรือนจำ ดังนั้น เมื่อมีความไม่โปร่งใสหรือการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอ จึงไม่เป็นการยากที่กำหนดนโยบายหรือวิธีการจัดการการระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จากข้อสรุปในเวทีเสวนา Global Prison Trend 2021 จะเห็นได้ว่า ปัญหาความแออัดของเรือนจำ ทำให้การบริหารจัดการในสถานการณ์โรคระบาดของเรือนจำเป็นไปได้ยาก และยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เมื่อข้อมูลจากหลายประเทศระบุต้นเหตุของความแออัด เป็นเพราะมี “คนหลายกลุ่มที่ไม่ควรถูกคุมขัง แต่กลับถูกคุมขัง” และหากกลุ่มคนซึ่งยังไม่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิด หรือกลุ่มคนที่มีความผิดเพียงเล็กน้อย แต่กลับได้รับผลกระทบรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 เพราะความแออัดในเรือนจำ จะส่งผลต่อภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

Back