ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ระบบยุติธรรมทางอาญาที่ตอบสนองต่อการคุ้มครองผู้หญิงจากการกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในประเทศไทย


ประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นและเป็นที่ถกเถียงมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่เป็นสังคมชายเป็นใหญ่ เพศหญิงถูกมองว่าเป็นมีสรีระที่ธรรมชาติสร้างให้เปราะบางกว่าผู้ชาย และต้องพึ่งพาเพศชาย โดยได้รับการอบรม หรือปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเพศหญิงถูกกระทำรุนแรงจากเพศชาย มักจะถูกคนรอบข้างกดดันให้ปิดบัง ถูกกล่าวโทษว่ามีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรงเอง และโน้มน้าวให้ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมกับผู้กระทำความผิด

 

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้เปิดเวทีเสวนาว่าด้วยเรื่องของแนวทางการสนองตอบความรุนแรงต่อผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมไทย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสันทนี ดิษยบุตร อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานอัยการ คดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้อำนวยการสำนักงาน  เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นางสาวกรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม UN Women นางสาวบุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน นักวิจัยด้านความรุนแรงในครอบครัว และผู้ก่อตั้ง SHero ดร.พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และ นางวรภัทร แสงแก้ว นักจิตวิทยาและหัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์และศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี กระทรวงสาธารณสุข

 

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภาพรวมความรุนแรงว่า ความรุนแรง เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ  คนทุกวัยสามารถจะตกเป็นเหยื่อได้ทั้งสิ้น แต่ผู้หญิง ถือเป็นตัวแทนของกลุ่มเปราะบาง และจากสถิติ ถือเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่มีมากที่สุด และนำไปสู่ทัศนคติว่า ผู้หญิงต้องได้รับการปกป้องจากผู้ชายกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้ชายเห็นผู้หญิงเป็นสมบัติ เครื่องประดับ ของรางวัล นำไปขัดหนี้ ขัดดอก รวมทั้งกลายเป็นสินค้า วัฒนธรรมเหล่านี้ ทำให้ผู้หญิงเกิดทัศนคติต่อตัวเองว่า “ต้องพึ่งพิง” และทำให้ผู้ชายรู้สึกว่า “ตัวเองเหนือกว่า”

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถูกกระทำรุนแรงและตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ระหว่างกระบวนการสืบสวนสอบสวน จากชั้นพนักงานสอบสวน ไปถึงอัยการ และชั้นศาล เธอต้องเล่าเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อยืนยันต่อกระบวนการยุติธรรมว่า เธอถูกล่อลวงให้มีกิจกรรมทางเพศโดยไม่ยินยอม

 

อย่างไรก็ดี เห็นว่า กฎหมายไทยมีพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ ในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว จากเมื่อก่อนคำว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” ไม่เคยมีให้ได้ยิน ตอนนี้ก็มีปรากฎอยู่ในกฎหมายมาแล้วมีการตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา) เกิดความพยายามและเกิดกระบวนการต่าง ๆ ที่จะพัฒนากระบวนการยุติธรรม ทั้งในวิธีพิจารณาความกฎหมาย ในกฎหมายศาลเยาวชนครอบครัว

 

แต่ในความก้าวหน้า ก็ยังพบอุปสรรคที่สำคัญ คือ กฎหมายที่ออกมา ถูกเสนอจากมุมมองของผู้ร่างกฎหมายแต่เพียงมุมเดียว กลายเป็นการตัดสินและคิดแทนในเชิงมายาคติว่า “ครอบครัวควรอยู่ร่วมกัน จึงจะดี” ทั้งที่ความจริงแล้ว บางคนควรที่จะอยู่แยกกันดีกว่า

 

ในมุมของกฎหมาย ผศ.ดร.ปารีณา เสนอว่า การร่างกฎหมานไทยร่างโดยคณะกรรมการในส่วนของรัฐ การร่างกฎหมายจึงเป็นมุมมองจากอำนาจรัฐ โดยที่คนใช้กฎหมายไม่มีโอกาสที่จะให้ความเห็น นอกจากนี้ ยังได้สรุปด้วยว่า คดีความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ควรเป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจในรายละเอียดเป็นพิเศษ มากกว่าคดีใดๆ เนื่องจากมีความละเอียดอ่อนตั้งแต่เริ่มแรกจนจบกระบวนการ เราควร มีกฎหมาย ‘วิธีพิจารณา’ เฉพาะกับความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว อาจจะตั้งต้นจากสิทธิของผู้เสียหายที่มีอยู่ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มีหน่วยงานที่จะทำให้ผู้เสียหายฟ้องคดีโดยไม่ต้องไปผ่านตำรวจ อัยการ แต่เข้าถึงศาลเลย ซึ่งกระบวนการที่ศาลจะปกป้องจะพัฒนา จากแนวคิดของศูนย์พิทักษ์สิทธิของผู้เสียหายที่ศาลกำลังจะทำเป็นตัวตั้งต้นก็ได้

 

ด้าน นางสันทนี ดิษยบุตร เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ ในฐานะที่เป็นอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว เปิดเผยว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่มีความยากตั้งแต่ก่อนเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม โดยการร้องทุกข์ในคดีทางเพศ มีความอ่อนไหวที่แตกต่างไปจากคดีอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกเป็นผู้เสียหาย ต้องคิดด้วยว่า “คุ้มมั้ย ที่จะร้องทุกข์” และที่น่าเศร้ามากที่สุด คือเหตุผลที่ผู้เสียหายมักจะบอกว่า “ไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะช่วยเขาได้”

 

ส่วนการไกล่เกลี่ยนั่น อาจจะเป็นมายาคติของผู้ร่างกฎหมาย ในความเป็นจริง ผู้ถูกกระทำที่เขาออกมาร้องทุกข์ส่วนใหญ่ เป็นเพราะเขาถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ ๆ มาแล้วหลายครั้ง ถูกกระทำจนไม่สามารถทนได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจออกมาร้องทุกข์ แต่กระบวนการยุติธรรม กลับบอกให้เขากลับไปคุยกันใหม่อีก เป็นมายาคติที่กระบวนการยุติธรรมพยายามจะรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยการไกล่เกลี่ยในทุกขั้นตอน แต่ไม่ได้มองว่าในความเป็นจริง

 

ประเด็นสำคัญที่เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างอีกกรณีคือ การพิจารณาคดีเมื่อผู้หญิงที่ถูกกระทำ กลายเป็นฝ่ายตอบโต้บ้าง มักจะลงเอยด้วยการตัดสินจากเหตุเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยไม่ได้นำเหตุการณ์ที่ผู้หญิงถูกทำร้ายอย่างยาวนาน มาอยู่ในการพิจารณาลงโทษด้วย

 

เหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้ อัยการสันทนี อ้างถึง มาตรฐานสากลที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติในการกำจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา” ซึ่งมีข้อหนึ่งที่บอกว่า “การที่ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง จนทนไม่ไหว และกลายมาเป็นผู้กระทำเสียเอง ควรนำมาเป็นเหตุปัจจัยในการพิจารณาลงโทษด้วย” ดังนั้น นี่จึงเป็นปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมต้องแก้ไข ต้องตอบสนองทันทีเมื่อผู้ถูกกระทำเข้ามาร้องทุกข์

 

“หากว่าผู้ถูกกระทำ เดินเข้ามาหากระบวนการยุติธรรมเพื่อขอให้ช่วยเหลือ แต่กระบวนการยุติธรรมกลับผลักเขากลับไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย วันหนึ่งเขาอาจจะกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมคดี ที่เขากลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง” อัยการสันทนี กล่าวทิ้งท้าย

 

ด้านนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวในมุมของการคุ้มครองผู้เสียหายในคดีความรุนแรงว่า ความรุนแรงในครอบครัวต่างจากการทำร้ายร่างกาย มีนิยามกว้างกว่า คือ ฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่ว่าลหุโทษหรือทำร้ายร่างกาย เป็นความรุนแรงในครอบครัวอย่างหนึ่ง แต่ขยายมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ทางกายภาพ แต่เป็นร่างกาย จิตใจ สุขภาพ บังคับใช้อำนาจครอบงำโดยผิดครองธรรม ทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ยังรวมถึงการติดตามคุกคาม ถ่ายภาพโทรศัพท์ ส่งข้อความทางไลน์ ก่อความเดือดร้อนรำคาญด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำซ้ำ ๆ ทำลายของรักของหวง มีความหมายมากกว่าแค่ตบตีเกิดบาดแผลทางกาย แต่เป็นความเสียใจทำให้เกิดบาดแผลทางใจ ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวได้ แต่กฎหมายก็มีการคุ้มครองคนในครอบครัวที่อาศัยในชายคาเดียวกัน เป็นผู้เป็นสามีภริยา หรืออยู่ในชายคาเดียวกัน หลักสายโลหิต หลักร่วมในลักษณะคู่ชีวิต หุ้นส่วนชีวิต ผู้เคยอยู่ฉันสามีภรรยา บุตรบุญธรรม เป็นสมาชิกครอบครัวอาศัยในครอบครัวเดียวกัน ถ้ามาทำร้ายกัน ถือเป็นบุคคลในครอบครัว ได้บุริมสิทธิ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองเยียวยา ถือว่าต้องเจอทุกวัน จะไม่เอาไปลงโทษเหมือนคนแปลกหน้า

 

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ผู้เสียหายกับผู้กระทำผิดได้รับการคุ้มครองต่างกัน คือ ผู้กระทำผิด ถูกสันนิษฐานว่ายังไม่ผิดจนกว่าจะตัดสินในศาล ในขณะที่ผู้เสียหาย ต้องช่วยเหลือตนเอง การเข้าถึงความช่วยเหลือต้องขวนขวายด้วยตนเอง จึงเป็นความห่วงใยของผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาสังคม

 

ทว่า ที่ผ่านมา ประธานศาลฎีกา ท่านเมธินี ชโลทร ได้มอบนโยบายสำคัญมาช่วยแก้ปัญหาจุดนี้ คือ มีแนวทางให้ปฏิบัติว่า ให้ดูแลสิทธิผู้เสียหาย ให้มีการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า สิทธิที่มีผลต่อความรู้สึก จิตใจของผู้เสียหาย ในกระบวนการ ให้ผู้พิพากษาคำนึงถึงสิทธิ ความรู้สึก จิตใจ มีการชดใช้ เยียวยาทดแทน ทั้งในศาลผู้ใหญ่และศาลเยาวชน

 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 มีแถลงโครงการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย มีหลักใหญ่คือ ที่ผ่านมาศาลเป็นปลายทาง แต่อยากให้ศาลเป็นต้นทาง เมื่อเกิดเหตุรุนแรงให้ผู้เสียหายมาที่ศาลมาแจ้งศาล หรือผ่านทางเว็บไซต์ มาด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์ ศาลจะเป็นผู้แจ้งสิทธิ ชี้ทาง ระบุสิทธิที่ควรมีควรได้สำหรับผู้เสียหาย ให้แสงสว่างเพื่อให้ผู้เสียหายไม่ต้องเจอหลุมบ่อในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นแนวทางเพื่อถ่วงดุลสิทธิระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด ข้อมูลผู้เสียหายก็จะมีประโยชน์ต่อศาลด้วย อีกทั้งมีการคุ้มครองสวัสดิภาพหรือในคดีความรุนแรงที่มีโทษทางอาญา แต่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้หญิงไม่อยากให้ลงโทษ เพียงต้องการให้ยุติความรุนแรงหรือให้ผู้กระทำผิดเปลี่ยนแปลงทัศนคติก็ให้ศาลสามารถออกเป็นคำสั่ง protective order ได้ โดยไม่ต้องรอคำพิพากษา หรือหากมีเหตุฉุกเฉินศาลก็สามารถไต่สวนฉุกเฉินได้

 

ส่วนการปฏิรูปกฎหมาย นายสิทธิศักดิ์ได้กล่าวถึง ทฤษฎี Battered Women/Wife Syndrome ของสหรัฐอเมริกาหรือ Coercive Control ของอังกฤษ ที่สามารถนำมาอ้างอิงได้ หากผู้หญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำในความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง มีวันหนึ่งเกิดก่อเหตุฆาตกรรมสามีที่ทำร้ายตนเอง เพื่อให้ศาลสามารถนำมาใช้ตัดสินพิพากษาคดีให้ลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ จากตามกฎหมายอาญาเป็นการประหารชีวิต

 

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่อยากเห็นในกฎหมายใหม่ ในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกระทำ ตามหลักของอังกฤษ ห้ามผู้ชายไปถามค้านในคดีของตนเอง เพราะเป็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง รวมทั้งเรื่องของ economic abuse

 

ด้าน นางสาวกรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม UN Women ให้นิยามความรุนแรงต่อผู้หญิงตามหลักสากล คือ ความรุนแรงที่พุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงด้วยเหตุของอคติทางเพศ ด้วยเหตุที่เป็นผู้หญิง แล้วก่อให้เกิดอันตรายทางด้านร่างกาย เพศ จิตใจ และความทุกข์ทรมาน ซึ่งรวมถึงการขู่เข็น คุกคาม กีดกันเสรีภาพ ทั้งในที่สาธารณะและที่ส่วนตัว เพราะฉะนั้นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวก็อยู่ในนิยามความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยเช่นเดียวกัน

 

ส่วนเหตุที่ผู้หญิงไม่สามารถขอความช่วยหรือหรือเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เกิดจาก Cultural Barriers และ Institutional barrier นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทับซ้อนของความเปราะบาง เพราะผู้หญิงมีหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ ผู้หญิงบางกลุ่มจึงพบอุปสรรคนอกจากเรื่องมายาคติ เช่น แรงงานหญิงข้ามชาติในประเทศไทย กรณีที่เป็น Domestic Violence ยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ เนื่องจากสถานะการเข้าเมืองที่กดทับ

 

ทั้งยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ด้วยว่า มีส่วนที่ทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงขึ้นถึง 20-60% โดยจากการทำวิจัยของ ของ UN Women เรื่อง Safe and Fair ซึ่งทำการวิจัยโดยการวิเคราะห์ Big Data ผ่านข้อมูลที่เกิดขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย พบว่ายังมีมายาคติเกิดขึ้นกับผู้หญิง มีการโทษผู้หญิงว่าปฏิบัติตัวไม่ดี เป็นต้นเหตุให้เกิดความรุนแรง รวมถึงเรื่องของการเข้าถึงความช่วยเหลือที่ค่อนข้างจำกัดในสถานการณ์โควิด-19 เพราะหลายหน่วยงานบริการต้องปิด ลดจำนวนลง หรือเปลี่ยนไปให้บริการในเรื่องที่เกี่ยวกับโควิด-19 แทนการช่วยเหลือหรือยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่ยังมีสถิติที่ดีขึ้นบางประการ นั่นคือ ภาคประชาสังคมมีการสนับสนุนเรื่องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงมากขึ้น มีการพูดถึงหรือประณามคนที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง รวมถึงกลุ่มแรงงานหญิงข้ามชาติ  ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในสากล คือ การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืน ในส่วนของ SDG ข้อ 5 เรื่อง Gender equality และ ข้อ 16 เรื่อง Peace, justice and strong institutions เป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม สถาบันต่าง ๆ ในประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจด้วย

 

สำหรับหลักมาตรฐานสากลกรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการในบทบาทใดจะต้องมีข้อกำหนดสำคัญอยู่ 6 ข้อ คือ Safety and Confidentiality คือ ผู้หญิงต้องมีความปลอดภัย และมีการรักษาความลับ  Human rights-based approach คือ ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก  Survivor-centred approach คือ ผู้เสียหายเป็นหลักในการดำเนินการช่วยเหลือ แม้ความต้องการของผู้เสียหายค่อนข้างหลากหลาย แต่การช่วยเหลือต้องครอบคลุมในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม สุขภาพ กระบวนการยุติธรรม หรืออื่น ๆ Women’s Empowerment คือ เนื่องจากความรุนแรงต่อผู้หญิงเกิดจากอคติ ผู้หญิงถูกกดทับ ถูกลดทอนคุณค่า กระบวนการช่วยเหลือจึงต้องมีการเสริมพลังผู้หญิงด้วย Liability offender คือ ผู้กระทำจะต้องรับผิด ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจำกัดเสรีภาพเพียงอย่างเดียว   แต่ต้องชดเชยและเยียวยาทางด้านเศรษฐกิจด้วย และCultural sensitivity และ Age appropriateness คือ ถ้าเป็นเรื่องของต่างชาติ ผู้หญิงที่มีวัยแตกต่างกัน ก็จำเป็นที่จะต้องปรับให้เหมาะสม

 

สำหรับในไทย พบว่ามีมาตรการคุ้มครองที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลหลายข้อ และมาตรการควรมีองค์ประกอบ เช่น ห้ามมิให้ผู้กระทำความผิดก่อให้เกิดความรุนแรง หรือเสียหายต่อผู้เสียหาย หรือบุคคลในอุปการะ ญาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ผู้กระทำความผิดอยู่ห่างจากผู้เสียหาย ลูกๆ และบริวารตามความเหมาะสม สั่งให้ผู้กระทำผิดออกจากบ้าน โดยไม่คำนึงว่าบ้านหลังดังกล่าวจะเป็นของใครผู้กระทำความผิดจะต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ห้ามติดต่อผู้เสียหาย ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ ทั้งโดยตรง โดยอ้อม หรือผ่านบุคคลอื่น ๆ หรือผ่านโซเชียลมีเดีย ห้ามผู้กระทำความผิดครอบครองอาวุธปืน หรือซื้ออาวุธปืน เรื่องการประนีประนอมตามกฎหมายสากล จะไม่มีการบังคับให้ประนีประนอม ถ้ามีขึ้นจะต้องเป็นความประสงค์ของผู้หญิง เป็นต้น

 

ส่วนนางสาวบุษยาภา ศรีสมพงศ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน นักวิจัยความรุนแรงในครอบครัว และผู้ก่อตั้ง SHero มองว่า ผู้หญิงที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมล้วนแต่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ตั้งแต่ มายาคติของสังคมที่ครอบงำผู้หญิงให้ยึดติดกับแนวคิดเรื่อง ความเป็นแม่ ความเป็นเมีย ความเป็นผู้หญิงที่ดี ระบบการศึกษาที่สอนและปลูกฝังให้พวกเธอมีแต่ความคิดชายเป็นใหญ่ โดยไม่ฝึกให้มีการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) ครอบครัว ที่มักจะอ้างคำว่า “ต้องทำเพื่อครอบครัว” “ครอบครัวต้องอยู่ด้วยกัน” “อย่าฟ้องเขาเลยสงสารเขา” สังคมหรือเพื่อนฝูงที่มักจะกล่าวว่า “ไปทำอะไรมาถึงโดนข่มขืน โดนทำร้าย”

 

อีกทั้งกล่าวด้วยว่า นโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศไทย เน้นนโยบายการไกล่เกลี่ย โดยนโยบายดังกล่าวกำหนดขึ้นบนฐานของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ซึ่งการไกล่เกลี่ย ต้องใช้หลัก win-win situation และใช้หลักการประนีประนอม (Compromise) ในการประสานรอยร้าว แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในแวดวงวิชาการระดับโลกว่าไม่เหมาะกับคดีความรุนแรงในครอบครัว หรือ ความรุนแรงในคู่รัก เพราะอำนาจมันไม่เท่ากันตั้งแต่แรก ดังนั้น การนำหลักการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กับกรณีความรุนแรงต่อผู้หญิง หรือ ความรุนแรงในครอบครัวก็อาจจะเป็นไปไม่ได้หรือไม่ ในฐานะที่ได้ทำงานกับผู้เสียหายมาเป็นเวลานาน เธอจึงเสนอกระบวนการเสริมพลังผู้หญิง (women empowerment) 3 ประการ ดังนี้

 

ประการแรก อยากให้ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเสริมพลังผู้หญิง เริ่มต้นจากการฟังผู้หญิงก่อน ประการที่สอง ระบบการศึกษาควรจะยกเลิกการปลูกฝังแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงต้องปกป้องความเป็นครอบครัว หรือ คุ้มครองสถาบันครอบครัว ประการที่สาม ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรพยายามทำความเข้าใจ เรื่อง “วัฏจักรของความรุนแรง”

 

นางสาวบุษยาภา ยังได้เสนอให้ผู้หญิงและผู้เกี่ยวข้องพยายามทำความเข้าใจทฤษฎีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่องการใช้ความรุนแรง เพื่อให้รู้เท่าทันแนวคิด และวิธีการที่ผู้กระทำความรุนแรงใช้ ตลอดจนแนะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสริมพลังหญิง พร้อมรับฟังแบบไม่คิดแทน เน้นเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และทิ้งท้ายได้อย่างสนใจว่า “Domestic Violence มักจะไม่ถูกพูดขึ้นในสังคม เพราะทัศนคติส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านฟังแบบไม่คิดแทน ฟังแล้วถอยออกมาแล้วเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จริงๆ

 

ด้านนางวรภัทร แสงแก้ว นักจิตวิทยาและหัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์และศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ยังมีความเข้าใจในภาคปฏิบัติที่น้อยมากต่อเหตุความรุนแรงในทางเพศหรือความรุนแรงใน โดยเฉพาะในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งยังไม่คุ้นชิน ที่จะต้องคำนึงถึงบริบททั้งด้านสังคมวิทยา จิตวิทยา และการแพทย์ อาจเป็นเพราะพนักงานสอบสวนถูกฝึกมากทำงานด้านคดีอาญา ต้องแสวงหาหลักฐานให้ชัดเจน จึงกลายเป็นเรื่องยากในการทำงานคดีที่อ่อนไหวเช่นนี้

 

ขณะที่ ดร.พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกล่าวถึงอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือการที่กระบวนการยุติธรรมระบุให้ผู้เสียหายต้องเป็นผู้แจ้งความ ทั้งที่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เหมือนการที่ผู้เสียหายต้องขึ้น “ขาหยั่ง” ที่ทำให้เกิดความเสียายทางจิตใจและร่างกายอีกครั้ง จึงไม่มั่นใจในการจะแจ้งความ และในความจริง บางครั้งผู้เสียหายก็ยังไม่ทราบว่าต้องการอะไรหรือต้องทำอะไรหลังจากเกิดเหตุที่เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ

 

อย่างไรก็ตามการคุ้มครองช่วยเหลือที่ทันท่วงทียังเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากนักจิตวิทยาจะสามารถทำให้ผู้เสียหายมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นได้จริง และถ้าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เพียงจุดเดียวโดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้เสียหายดำเนินการเล่าเรื่องหลายครั้งเพื่อลดการซ้ำเติมเหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งกระบวนการขึ้นศาลของผู้เสียหายน่าจะมีแนวทางในการคุ้มครองจิตใจ เช่น ทางเดินพิเศษ การนั่งแยกห้องพิจารณาคดีกับผู้ก่อเหตุ สิ่งเหล่านี้อาจจะสามารถคุ้มครองผู้เสียหายจากคดีทางเพศได้โดยที่ไม่ต้องเกิดกระบวนการแก้กฎหมาย และสามารถเกิดกระบวนการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นได้

Back