ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

การรับมือกับโควิด-19 ผลกระทบ และแนวโน้มอาชญากรรมโลก อุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 

“สถานการณ์โควิด-19 แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร  สะท้อนให้เห็นความย้อนแย้ง ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดประเทศที่มีความมั่นคงด้านสาธารณสุข และมีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวย จึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อโควิดในสัดส่วนที่สูงกว่า ประเทศที่ยากจนและมีความเปราะบางทางด้านสาธารณสุขเสียอีก”

 

ส่วนหนึ่งจากถ้อยความของ ศาสตราจารย์ชีลา ยาซานอฟฟ์ นักวิชาการจาก Harvard University's John F. Kennedy School of Government ที่ได้นำเสนอการถอดบทเรียนเพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีเสวนาคู่ขนานของการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 (The 18th National Symposium) ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

 

 

งานนี้มีผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา เช่น คุณเอนริโก้ บิซอญโญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาข้อมูลและการเผยแพร่ประจำสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เวียนนา (UNODC Vienna) ประเทศออสเตรีย นำเสนอแนวโน้มของอาชญากรรมทั่วโลกในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 คุณชีลา ยาซานอฟฟ์ นักวิชาการจาก Harvard University's John F.Kennedy School of Government เสนอภาพรวมระดับโลกของสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ปัจจุบัน คุณโลวิตา รามกุตตี รองผู้อำนวยการผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามข้อกำหนดของสหประชาชาติหรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ดำเนินรายการโดย ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันยุติธรรมแห่งประเทศไทย

 

ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละท่านได้นำเสนอข้อมูลจากการติดตามสถานการณ์ การกำหนดนโยบายจากประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมในภาพรวมระดับโลก และแนวโน้มอาชญากรรมระหว่างประเทศ พร้อมเสนอแนวทางการรับมือกับปัญหาด้วย

 

ถอดบทเรียนการรับมือในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ

 

สำหรับประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ ชีล่า นักวิชาการจาก Harvard University's John F. Kennedy School of Government ได้นำเสนอผลการศึกษาเชิงนโยบายเปรียบเทียบที่เธอทำร่วมกับสถาบันวิจัยหลายประเทศ โดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างการกำหนดนโยบายในแต่ละประเทศเพื่อรับมือและจัดการกับโรคโควิด-19 สาเหตุที่ศึกษาเชิงเปรียบเทียบ เพราะเธอมองว่า วิกฤติการระบาดโควิด-19 ทำทุกประเทศได้รับผลกระทบ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องพรมแดนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมการแพร่ระบาด

 

ข้อสังเกตสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกาเป็นเบอร์หนึ่งใน Global Health Security Index Map แต่เพราะเหตุใดจึงควบคุมการระบาดได้แย่มาก หรืออย่างอินเดียที่มีการระบาดมาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศแถบยุโรป หรือ ไทย ก็ถือว่าการควบคุมโรคระบาดของอินเดียดีกว่า ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ “เราจะใช้อะไรในการวัดความฉุกเฉิน”

 

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะมีเรื่องการตีตรา ทำให้คนไม่กล้ามาออกบอกว่าเป็นโรคโควิด-19 ขณะที่ในสิงคโปร์ ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในรัฐบาลเพราะรัฐดูแลประชาชนมาเป็นอย่างดีมายาวนานแล้ว เป็นต้น

 

ขณะที่เมื่อพิจารณาที่ระบบสาธารณสุข จะพบว่า ประเทศที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว โควิด-19 จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาในระบบที่เป็นจุดอ่อนมากขึ้น เช่น ในอเมริกา การระบาดระลอกแรกได้โจมตีผู้สูงอายุที่มีจำนวนมาก ทำให้เห็นชัดว่า สังคมในอเมริกาละเลยการดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น กลุ่มที่มีความเปราะบางก็จะได้รับผลกระทบมากกว่า

 

ศาสตราจารย์ ชีลา จึงได้นำเสนอสรุปการถอดบทเรียนเพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่มองใน 3 มิติ เกี่ยวกับ สุขภาพ เศรษฐกิจ และการเมือง โดยแบ่งประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ไว้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

รูปแบบแรก กลุ่มประเทศที่มีการควบคุมสถานการณ์ได้ในทุกมิติ (Control) เช่น ไต้หวัน
ที่อาศัยบทเรียนจากโรคระบาดครั้งก่อนทั้งโรคซาร์ส และไข้หวัด 2009 (ไวรัส H1N1) ด้วยระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่มีการล็อคดาวน์ และพยายามดำเนินธุรกิจโดยมีการพักหรือหยุดภาคธุรกิจให้น้อยที่สุด

 

รูปแบบที่สอง แบบที่ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐ (Consensus) ในการจัดการกับโรคระบาด  เช่น สหพันธรัฐเยอรมนี ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีระบบงานวิจัย เป็นผู้ผลิตยาได้เอง ขณะที่ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศมีเสถียรภาพสูง มีการประกันการว่างงาน

 

รูปแบบที่สาม ความสับสนอลหม่าน (Chaos) ที่ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและคนตายจำนวนมาก  ไม่มีฉันทามติ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความอลหม่านในทุกมิติ ทั้งด้านสาธารณสุขที่ขาดอธิปไตย ด้านสุขภาพรูปแบบต่าง ๆ นี้มีผลต่อการกำหนดนโยบาย เพราะถ้าหากไม่สามารถควบคุมโรคไว้ได้แต่แรกก็จะมีผลที่ตามมา คือ เชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ก็จะเกิดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ประเด็นสำคัญที่ศาสตราจารย์ชีล่าถ่ายทอดระหว่างเสวนา คือ หลายประเทศมีความเข้าใจผิดในการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการกับโควิด-19 เช่น

  1. ความเข้าใจผิดที่ว่า “เราต้องเรียนรู้และทำเป็นคู่มือออกมา”
  2. ความเข้าใจผิดที่ว่า “ในกรณีฉุกเฉิน การเมืองจะนำนโยบาย” ประเด็นนี้ ชีล่า กล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าต้องการทำให้นโยบายมีประสิทธิภาพ ต้องพิจารณาเรื่องการเมืองด้วย
  3. ความเข้าใจผิดที่ว่า “ตัวชี้วัดความสำเร็จและความล้มเหลวชัดเจนอยู่แล้ว” แต่ชีล่ามองว่า ตัวชี้วัดมีมากมาย ขึ้นกับว่าจะใช้มาตรการอะไรมาวัด
  4. ความเข้าใจผิดที่ว่า “ผู้ที่ให้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแยกการเมืองออกจากระบบได้” แต่ในความเป็นจริง คือ คำแนะนำของสาธารณสุขมักถูกละเลย เพราะนักการเมืองอยากให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป
  5. ความเข้าใจผิดที่ว่า “การที่คนไม่เชื่อใจสาธารณสุข คือ คนเหล่านั้นไม่รู้เรื่องอะไร” ประเด็นนี้ ชีล่า มองว่า การที่คนไม่เชื่อใจสาธารณสุข สะท้อนให้เห็นความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อระบบการปกครอง ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่มาก

 

ดังนั้น จากผลการศึกษา หลายประเทศรับมือกับโควิด-19 โดยเน้นการแข่งขันกระตุ้นตลาด การแจกเงินเยียวยา และแผนการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน การแบ่งขั้วความคิดเห็นทางการเมืองสูง ประชาชนไม่เชื่อมั่นในผู้เชี่ยวชาญ (ไม่เชื่อคำเตือนของแพทย์และนักการสาธารณสุข) และมีการจัดการที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นระดับรัฐต่าง ๆ แบบต่างคนต่างทำไม่สอดคล้องกัน

 

สอดคล้องกับที่ โลวิตา รามกุตตี (Ms.Lovita Ramguttee) รองผู้อำนวยการผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการต่อสู้กับภาวะวิกฤติปัจจุบันว่า ความอลหม่านเกิดขึ้นทั่วโลก มีการประท้วงต่อต้านสังคม งานภาครัฐและหน่วยงานสาธารณสุขส่วนกลาง และปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเพิ่มขึ้น มีการกดขี่ การลุกฮือต่อต้าน

 

อย่างไรก็ดี โลวิตา กล่าวว่า “สิ่งแรกที่เห็น คือ การร่วมแรงร่วมใจกันในการสู้กับโรคระบาด เพราะทรัพยากรภายในประเทศเริ่มร่อยหรอลง  เราได้เห็นประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ได้ปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ในการใช้ทรัพยากรของพวกเขาทั้งด้านงบประมาณเงินทุน (fiscal resources) ในประเทศรายได้ปานกลาง (ไทยอยู่ในกลุ่มนี้) ที่ผันงบมา 4 เปอร์เซนต์ของรายได้มวลรวมของประชาชาติ และประเทศรายได้น้อย 2 เปอร์เซนต์  ซึ่งทำให้เห็นช่องว่างระหว่างเงินงบประมาณนี้อยู่ และชี้ให้เห็นว่า การลงทุนด้านการพัฒนาควรเป็นศูนย์กลางของแผนการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 ในทุกประเทศ” ดังนั้น รองผู้อำนวยการโครงการ UNDP จึงได้นำเสนอทางออกสำหรับประเทศไทย เป็น 3 ระยะ คือ

 

(1) ระยะสั้น ต้องดูแลกลุ่มเปราะบาง (เด็กเยาวชน คนพิการ กลุ่มหลากหลายเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการสนับสนุนภาคธุรกิจให้เกิดการจ้างงานได้ให้เร็วที่สุด

(2) ระยะกลาง ไทยควรยกระดับการบริการสาธารณะเพื่อสามารถคุ้มครองประชากรกลุ่มเปราะบางในการรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ โดยเฉพาะการขยายระบบการคุ้มครองด้านสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ให้ครอบคลุม และตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม   

(3) ระยะยาว ควรจะยกระดับสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น

 

 

ในส่วนของ UNDP ได้มีส่วนร่วมกับประเทศสมาชิกรวมถึงไทย เพื่อผลักดันวาระ SDGs มีแผนผลักดันแบบครอบคลุม ที่เรียกว่า a broader SDGs push  ซึ่งมุ่งเน้นที่การสร้าง Inclusive Green Globe โดยสนับสนุนให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวเนื่องด้านเทคโนโลยีดิจิทัลปรับให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเน้นการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) เพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ พลิกฟื้นสภาวะเลวร้ายจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

 

มาตรการล็อคดาวน์กับแนวโน้มอาชญากรรมในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 : ปล้นชิงทรัพย์ ลักลอบขนยาเสพติด ลดลง แต่ คดีอาชญากรรมที่จัดตั้งเป็นองค์กร เพิ่มขึ้น

 

 

แนวโน้มอาชญากรรมในช่วงโควิด-19 ตามสถิติงานวิจัยของ UNODC  ล่าสุด พบว่า ในช่วงที่หลายประเทศใช้มาตรการล็อคดาวน์ อาชญากรรมบางประเภทเกิดขึ้นลดลง เช่น คดีปล้นชิงทรัพย์ คดีลักลอบขนยาเสพติด

 

เอนริโก้ บิซอญโญ่  (Mr. Enrico Bisogno) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาข้อมูลและการเผยแพร่ประจำสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงเวียนนา (UNODC Vienna) สาธารณรัฐออสเตรีย ตั้งข้อสังเกตถึง สาเหตุที่ทำให้สถิติอาชญากรรมลดลง ดังนี้ (1) โอกาสในการก่อคดีในที่สาธารณะน้อยลง คนอยู่บ้านมากขึ้น ถูกจำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่ (2) มีการปิดพรมแดนป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้การเข้าถึงแหล่งผลิตยาเสพติดยากขึ้น (3) มาตรการล็อคดาวน์ทำให้เหยื่อหรือผู้ประสบเหตุ เดินทางไปแจ้งความ หรือ เข้าถึงเจ้าหน้าที่รัฐได้ยากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การล็อคดาวน์กลับไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มหรือลดกับคดีฆาตกรรม (Homicide) มากนัก และจากสถิติพบว่า คดีฆาตกรรมนี้มักเกิดกับผู้หญิงมากที่สุด เช่นเดียวกันกับ การเกิดคดีข่มขืน (rape) และคดีกระทำชำเราทางเพศ (sexual assault) ที่เมื่อพิจารณาจากสถิติกว่า 36 ประเทศทั่วโลก พบว่า คดีดังกล่าวลดลงต่ำสุด ในช่วงล็อคดาวน์ที่เข้มงวด เดือนเมษายน 2563 ก็จริง แต่กลับเกิดคดีเพิ่มขึ้นอีกเมื่อผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2563  

 

 

ส่วนอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ คือ คดีอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (organized crime) การกระทำผิดกฎหมายโดยกระทำเป็นกลุ่มองค์กรเพื่อผลประโยชน์ เช่น การลักลอบหรือทุจริตในการค้าขายวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็นและขาดแคลน อย่าง ชุด PPE, เครื่องมือตรวจหาเชื้อ(test kits) และยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น และ อาชญากรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ คือ อาชญากรรมการลักลอบขนแรงงานอพยพผิดกฎหมายเข้าเมือง (Immigrant Smuggling)

 

ประเด็นนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลฯ UNODC ให้เหตุผลว่า ประเทศเศรษฐกิจยากจนจะมีปัญหาว่างงานมากขึ้นอีก ซึ่งทำให้ประเทศเหลานั้นมีแนวโน้มกระทำผิด โดยการค้าแรงงานผิดกฎหมายเดินทางอพยพ ค้าแรงงานไปยังประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ซึ่งทำให้กลุ่มอาชญากร เช่น กลุ่มค้ามนุษย์ อาศัยจังหวะในการหาประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น

 

ประเด็นสำคัญ คือ ผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้แนวโน้มอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลลบต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งในแง่การเยียวยาและการป้องกัน ที่มักมีข้อจำกัดทั้งเงินทุนและการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าว ยังทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลกระทบต่อ กลุ่มเปราะบางหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน ผู้หญิงที่มักตกเป็นเหยื่อ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มักถูกละเลยในสถานการณ์นี้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยากขึ้น

 

แนวโน้มอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ซ้ำเติม “ปัญหาคนล้นคุก” ขัดขวางการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่หลายประเทศต้องประสบเหมือนๆ กัน คือ ปัญหาคนล้นคุก ซึ่งประเด็นนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลฯ UNDOC ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในงานเสวนาว่า ปัญหาจำนวนผู้ต้องขังแออัดในเรือนจำมี ทั่วโลก ปี 2561 จำนวนผู้ถูกคุมขังในเรือนจำแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย มีอัตราความแออัดในเรือนจำสูงสุด (Occupancy Rate) เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก ทั้งจำนวนผู้ต้องโทษ (Convicted Prisoners) และผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดี (Unsentenced Prisoners) โดยมีปริมาณนักโทษเกินความจุของเรือนจำที่รับได้คิดเป็นร้อยละ 240 หมายถึง ล้นความจุของเรือนจำไปถึงเกือบเท่าตัว  

 

กรณีของไทยมีการดำเนินการแก้ปัญหาลดความแออัดในเรือนจำ ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563  โดยกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยตัวเลขเมื่อเดือนเมษายนปี 2563 ว่าได้มีการดำเนินมาตรการพักโทษให้แก่นักโทษราว 8,000 คน  โดยกำหนดมาตรการลดวันสำหรับนักโทษที่มีความประพฤติดีและได้รับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษทั้งหมด ได้รับการพิจารณาปล่อยตัวออกจากเรือนจำเพื่อลดความแออัดและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในเรือนจำ (ข้อมูลอ้างอิงจาก เว็บไซต์ https://ilaw.or.th/node/5664)

 

ตามข้อมูลจาก UNODC เมื่อปี 2562 สถานการณ์ในเรือนจำไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดีกว่า ในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศในแถบเอเชียใต้ อย่างอินเดีย ศรีลังกา ที่ยังครองอันดับ 1 ของเรือนจำที่มีจำนวนผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีในอัตราส่วนมากสุด  จากตัวเลขปี 2562 ทำให้เห็นว่าในเรือนจำประเทศไทยรวมกับประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด จำนวนผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีมีร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 

 

ประเด็นสำคัญ คือ เมื่อแนวโน้มอาชญากรรมหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การลักลอบขนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย ขณะที่โทษทางอาญาส่วนใหญ่ คือ การจำคุก ยิ่งซ้ำเติมปัญหาคนล้นคุกที่มีอยู่เดิมให้หนักขึ้น และปัญหานี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อ 16 ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ

 

ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลฯ UNDOC จึงสรุปแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้ (1) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นอกจากการลดความแออัดในเรือนจำแล้ว การป้องกันปัญหาการทุจริตติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 ให้สำเร็จ (2) “โครงการฟื้นฟูผู้ต้องขัง คืนคนดีสู่สังคม เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง (Rehabilitation) มีความจำเป็นอย่างมากในการดำเนินการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก”

 

กล่าวได้ว่า ทุกประเทศล้วนกำลังเผชิญกับวิกฤติ และ หลายประเทศจะต้องได้รับผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การรับมือ และ การปรับตัวจากทุกภาคส่วน ด้วยความร่วมมือร่วมใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังที่ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ผู้ดำเนินรายการเสวนา กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อว่าการรับมือสถานการณ์โควิดต้องทำในระดับโลก เพราะสถานะของพวกเราตอนนี้เปราะบางมาก ท่ามกลางวิกฤตินี้ เราคงต้องปฏิบัติงานภายใต้ความมุ่งมั่นทุ่มเทที่ยิ่งใหญ่ เราจะสามารถติดอาวุธและปรับตัวรับมือกับสถานการณ์อย่างแข็งขัน และบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกคนจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพื่อประโยชน์ของทุกคนในสังคม”

 

ผู้สนใจสามารถติดตามชมบันทึกการประชุมเสวนาย้อนหลังออนไลน์ได้ ที่นี่

Back
chat