ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

“บ้านกาญจนาภิเษก” กับการลบมายาคติ คนก้าวพลาดมุ่งสร้างพื้นที่สว่าง คืนเยาวชนคนดีสู่สังคม

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดกิจกรรมเชิญผู้ร่วมหลักสูตรผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD Program) รุ่นที่ 2 เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก  จังหวัดนครปฐม เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจเรื่องการสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามหลักนิติธรรม ถอดบทเรียนมิติการฟื้นฟูและเสริมพลังด้านบวกเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม จากเรื่องราวของเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับโอกาสอีกครั้งจากการเรียนรู้ชีวิตใหม่ในสถานพินิจ


การเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจที่อ้างอิงหลักสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการเยียวยาเด็กและเยาวชนที่เคยเลือกเดินทางผิดโดยแทนที่จะปฏิบัติต่อกลุ่มคนเหล่านั้นเสมือนอาชญากร ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ใช้แนวทางการเยียวยา ดูแล แก้ไข ฟื้นฟูเยาวชนเหล่านี้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เปิด “พื้นที่สว่าง” เสริมพลังด้านบวก เพื่อให้พวกเขามีกำลังต่อสู้กับด้านมืดจากอดีตและเลือกที่จะกลับตัวเป็นคนดี เพื่อว่าเมื่อถึงวันพ้นโทษจะสามารถกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครอบครัวและสังคมได้อย่างปกติสุข


นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม หรือ ‘ป้ามล’ กล่าวว่า “‘บ้านกาญจนาฯ ของเราไม่ใช่ ’คุก’ อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ ดังนั้น เด็กเหล่านี้ก็ไม่ควรถูกปฏิบัติเยี่ยง 'นักโทษ' ถึงแม้เขาจะเป็นผู้กระทำผิด แต่เราก็ต้องปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่เขา ซึ่งรวมไปถึงสิทธิมนุษยชน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพยายามเปลี่ยนมุมมองของสังคม จากที่เห็นว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำ ในทางกลับกัน เยาวชนเหล่านี้คือเหยื่อของสังคมเช่นเดียวกัน หน้าที่ของเราคือการแสวงหาความเป็นธรรมให้กับพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดูแลแก้ไขฟื้นฟูเขาด้วยความรัก ให้การศึกษาอย่างที่เขาควรจะได้รับเหมือนเด็กทั่วไป”


ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวเสริมว่า “หลักนิติธรรม เป็นปัจจัยที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ เพราะการมองปัญหาผ่านเลนส์ความเป็นธรรม ด้วยความเข้าใจประเด็นความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางของทุกฝ่าย จะเอื้อให้ผู้มีอำนาจสามารถตัดสินใจหรือออกแบบนโยบายที่ช่วย“อำนวยความยุติธรรม” ให้กับกลุ่มต่าง ๆได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางกายภาพ การศึกษา โอกาส โดยได้รับการปกป้องภายใต้กฏเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเเกิดอาชญากรรม และป้องกันปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้สังคมมีความปลอดภัยในระยะยาว จึงกล่าวได้ว่า แนวทางการเยียวยาภายใต้ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นับเป็นตัวอย่างของการจัดการกับปัญหาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวทางของหลักนิติธรรมเป็นอย่างยิ่ง”


สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือกับสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สนับสนุนการนำหลักนิติธรรมมาปรับใช้ในสังคม โดยการเชิญชวนผู้นำจากทุกภาคส่วนมาร่วมเป็นเครือข่ายการขับเคลื่อนเรื่องหลักนิติธรรมในประเทศไทยผ่านหลักสูตรผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD Program)  และร่วมผลักดันการแก้ปัญหาอาชญากรรมโดยการใช้มิติการพัฒนานำ เพื่อสร้างสังคมที่สงบสุข ปลอดภัย และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง


นครปฐม - 23 มีนาคม 2561

Back