ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ส่งมอบรถเข็นนวัตกรรมโครงการ Hygiene Street Food สร้างโอกาส

 

เขียนโดย สำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ

 

 

วันที่ 22 กันยายน 2564 โครงการ Hygiene Street Food สร้างโอกาส ส่งมอบรถเข็นนวัตกรรมให้แก่ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร Hygiene Street Food รุ่นที่ 2 โดยการออกแบบและผลิตรถเข็นภายใต้โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด (RBS)

 

โครงการ Hygiene Street Food มุ่งส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษสามารถกลับไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมได้อีกครั้ง โดยผ่านการอบรมหลักสูตรเชิงปฏิบัติการ ฝึกทักษะ และสร้างอาชีพขายอาหารให้กับผู้พ้นโทษอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนและเสริมศักยภาพทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ 1.การเสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งด้านสูตรอาหาร หลักสุขาภิบาลอาหาร ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักการตลาดและพื้นฐานการบริหารธุรกิจ 2.การเชื่อมหรือเพิ่มช่องทางส่งเสริมการขายในรูปแบบออนไลน์ 3.การสนับสนุนรถเข็นนวัตกรรม 4.การสนับสนุนเงินทุนในการเริ่มต้นประกอบอาชีพค้าขาย 5.การสนับสนุนวัตถุดิบในการออกร้าน

 

คุณวสันต์ หรือ “พี่ต้น” เป็นผู้เข้าอบรมที่มีความประพฤติดีเยี่ยม เข้าเรียนครบและตรงเวลา มักจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมในการตอบคำถามวิทยากร แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนร่วมหลักสูตรสม่ำเสมอ เมื่อเรียนจบ คุณวสันต์แจ้งความประสงค์ที่จะรับรถเข็นเพื่อประกอบอาชีพขายอาหารตามสั่ง ในช่วงระหว่างที่รอรับรถเข็นมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 คุณวสันต์ได้ลงเรียนหลักสูตรออนไลน์เพิ่มความรู้และศักยภาพของผู้ผ่านการอบรม (Upskill) จัดโดย TIJเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง คณะกรรมการโครงการลงความเห็นว่าคุณวสันต์มีความพร้อมที่จะประกอบอาชีพขายอาหาร จึงได้รับการพิจารณาให้ได้รับรถเข็นนวัตกรรมเป็นคนแรกของผู้ผ่านการอบรม รุ่นที่ 2

 

 

คุณอานนท์ สาครชัยเจริญ ผู้จัดการฝ่ายขายในประเทศ บริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด (RBS) อธิบายคุณสมบัติรถเข็นนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ออกแบบร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิศกรไฟฟ้าจากคณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ที่มุ่งเน้นสุขอนามัยด้านอาหาร ผู้ประกอบอาหาร และการรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ดังนี้

 

  1. มีระบบปั๊มน้ำแบบเหยียบ (มือไม่ต้องจับก๊อก) เพื่อให้คนขายได้ล้างมือก่อนสัมผัสและปรุงอาหาร
  2. มีพื้นที่ปรุงอาหารและประตูจับ ทำจากสแตนเลสอย่างหนาระดับมาตรฐาน Food-Grade พื้นผิวเรียบ มีความทนทาน เช็ดทำความสะอาดง่าย ไม่ขึ้นสนิม ไม่กักสิ่งสกปรกและเชื้อโรค
  3. มีถังดักไขมันภายในรถเข็น เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการดักจับไขมันจากน้ำทิ้งที่มาจากอ่างล้างมือ เพื่อแยกส่วนไขมันออกจากน้ำ ก่อนทำการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม
  4. มีระบบพัดลมดูควันเข้าสู่ปล่องควันสูงด้านบน เพื่อไม่ให้กลิ่นและควันฟุ้งกระจายไปยังบริเวณโดยรอบ
  5. มีระบบไฟฟ้า 2 ตัวเลือก ระบบที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ และระบบปลั๊กเสียบเพื่อการใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาที่ยาวนาน ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เปิดพัดลมดูดควัน และเปิดไฟในเวลากลางคืน
  6. อุปกรณ์ในรถเข็นสามารถถอดประกอบได้ง่าย ปรับเปลี่ยนเป็นเตาย่างหรือเตาแก๊สได้ ถ้าเป็นรถเข็นที่มีเตาแก๊ส จะมีที่เก็บถังแก๊สด้านท้ายรถและมีสายส่งแก๊สที่เก็บในท่อเรียบร้อยและปลอดภัย
  7. รถเข็นมีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง โดยเลือกวัสดุคุณภาพ มีการคำนวณจุดติดตั้งล้อให้ยกและหมุนตัวรถได้ง่าย

 

 

 

ผศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ผู้ออกแบบและผู้อบรมหลักสูตร Hygiene Street Food กล่าวว่า ร้านของคุณวสันต์มีความสะอาดและจัดเป็นสัดส่วนตามที่ได้อบรม อุปกรณ์เครื่องครัวและภาชนะได้มาตรฐาน จานชามที่ยังไม่ได้ใช้มีผ้าสะอาดคลุมปิดไว้ การแต่งกายพร้อมประกอบอาหาร เช่น มีหมวกคลุมศีรษะ ผ้าปิดปาก สวมผ้ากันเปื้อน และใส่ถุงมือตลอดเวลาขณะที่ประกอบอาหาร นอกเหนือจากรสชาติอาหารที่ทำได้อร่อยมากแล้ว ความสะอาดจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าประทับใจและกลับมาที่ร้านอีก

 

 

 

คุณวสันต์ เล่าว่า เดิมที่บ้านขายอาหารอยู่แล้ว เห็นคุณพ่อคุณแม่ขายก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่เด็ก เขาพอมีพื้นฐานด้านการทำอาหารอยู่บ้าง เมื่อทราบว่ามีการเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับอาหารจึงมาสมัคร ตอนที่เรียนชอบวิชาทำอาหารที่สุด เพราะได้ลงมือทำพร้อมกับเพื่อน ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  เขาได้ทำอาหารคาว อาหารหวาน และเครื่องดื่ม ขอขอบคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ไปอบรมกับ สจล. ได้วิชาความรู้ใหม่ ๆ จากผู้สอนและห้องทดลอง เช่น การตรวจหาเชื้อ การฆ่าเชื้อ การทำอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การจัดร้าน การเก็บรักษาวัตถุดิบ การนำของมาใช้แบบ first in first out และได้คำเตือนใจว่า “ทำอาหารอร่อยแล้วต้องสะอาดด้วย” รวมทั้งได้ความสนุกสนานและมิตรภาพจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน

 

 

คุณวสันต์ลงเรียนออนไลน์เพิ่มเติมในหลักสูตร Upskill กับ TIJ ได้เรียนรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ ขายของบนช่องทางโซเชียลมีเดียและสมัครแอปพลิเคชันสั่งอาหาร เขาทำตามเพราะเหมาะกับสถานการณ์โควิด ตอนนี้ใช้อยู่ 2 เจ้าและขับไปส่งเองในระยะ 2 กิโลเมตร ที่ร้านเข้าโครงการเราชนะและคนละครึ่ง ช่วยให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่าย และมี QR Code ให้ลูกค้าสแกน เพื่อความสะดวกเวลาชำระเงิน หลังจากเรียนจบได้วิชาความรู้แล้วมั่นใจ จึงเปิดร้านอาหารตามสั่งของตัวเอง ให้คุณพ่อคุณแม่หยุดพักที่ต่างจังหวัด

 

 

 

คุณวสันต์เปิดใจว่า เขาดีใจมากที่ได้รับรถเข็นนวัตกรรมนี้ เขาตั้งชื่อร้านว่า “ร้านอาหารตามสั่งป้าลัยบ้านเลขที่ 5” เป็นชื่อของคุณแม่ที่ขายอาหารหน้าบ้านในซอยประวิทย์และเพื่อน 14 ถนนอุดมสุข เขาวางแผนไว้ว่า จะตั้งรถเข็นไว้หน้าร้านเพื่อให้เห็นสะดุดตา แล้วพื้นที่ทำอาหารเดิม จะปรับมาขายน้ำสมุนไพร และเพิ่มโต๊ะให้มีที่นั่งมากขึ้น เมนูเด็ดที่ต้องสั่งคือ ข้าวกะเพราเนื้อมีให้เลือกว่าอยากได้เป็นชิ้นหรือเนื้อสับ ข้าวปลาดุกทอดกรอบผัดพริกไร้ก้าง และคะน้าหมูกรอบ อยากให้มาลอง 

Back