ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ จัด “Her Story Vol.3” หัวข้อ Online Creative Content

 

โครงการ SpeakUp SpeakOut (SUSO) โดยกลุ่มโครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและเด็ก ของ TIJ จัดกิจกรรม Workshop “Her Story Vol. 3” หัวข้อ Online Creative Content เชิญ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์คณะนิเทศฯ จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศในสื่อและสิทธิผู้หญิง ให้ข้อมูลในประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงและสิทธิของผู้หญิง และคุณกันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี บก.สารคดีนิตยสาร a day มาแบ่งปันเทคนิคการเขียน การย่อยเรื่องยากให้เข้าใจง่าย เพื่อผู้ร่วมงานสามารถบอกต่อ “Her Story” ให้พร้อมเสิร์ฟผู้อ่านยุค 4.0

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าในโลกยุค 4.0 ที่ว่ากันว่า เราต้องก้าวตามโลกให้ทัน แต่สำหรับผู้หญิงนั้น กลับยังถูกหลายคนจำกัดให้อยู่แค่ในกรอบความคิดเดิมๆ เสียอย่างนั้น

 

การสร้างภาพเหมารวม (Stereotype) ตัดสิน จำกัดความ และนิยาม ผู้หญิงให้เป็นไปตามกรอบความคิดที่ฝังลึกมานาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่มีโอกาสก้าวข้ามและไปถึงจุดที่เรียกว่า “ความเท่าเทียม” เสียที  แน่นอน มีคนมองเห็นปัญหานี้ มีคนมองว่ามันไม่ยุติธรรม แต่ใครกัน ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

 

ดร. ชเนตตี ชวนผู้เข้าร่วม Workshop ตั้งคำถามเกี่ยวกับคดีข่มขืน เพื่อหาประเด็นสำคัญที่อาจจะนำมาสู่การแก้ปัญหา คำถามมากมายที่อาจผุดขึ้นมาในหัวทุกคน ต่อเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิด “คนทำเป็นใคร? เมา? ผู้หญิงแต่งตัวล่อแหลม? ที่ไหน เปลี่ยวใช่ไหม? ต้องป้องกันตัวอย่างไรถึงจะปลอดภัย?” คำถามเหล่านี้ ล้วนเป็นคำถามในระดับบุคคล มุ่งหาคนผิด ทำให้โทษกันกันต่อไปเป็นทอดๆ โทษสถานที่ โทษสิ่งมึนเมา โทษแม้กระทั่งเหยื่อที่โดนกระทำ ...เรากำลังหลงทาง...

 

ในโลกโซเชียลทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้ คุณเองคือหนึ่งในนั้น สิ่งสำคัญคือ สำหรับการกล่าวถึงประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ ต้องไม่ใช่แค่การรายงานข่าวว่า เกิดอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ใครทำ แต่ควรตั้งคำถามถึงแก่นของปัญหา ให้สังคมได้ร่วมกันหาคำตอบ ให้เห็นถึงภาพรวมและตัวการใหญ่ ต้องให้สังคมเลิกมองว่า การกระทำความรุนแรงทางเพศเป็นแค่ข่าวอาชญากรรม ต้องยกระดับให้เป็นเรื่องของสิทธิ สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ต้องถามหาการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ต้องตั้งคำถามให้สังคมมองให้เห็นว่าตัวการใหญ่คืออะไร..

 

“ฐานคิดเรื่องชายเป็นใหญ่” หรือปิตาธิปไตย ถูกปลูกฝังและหล่อหลอมให้แกร่งขึ้น ผ่านโครงสร้างทางสังคม ตั้งแต่สถาบันครอบครัว ที่เด็กต้องเกิดมาเห็นแม่ทำงานบ้าน ถูกพ่อรังแก สถาบันการศึกษามีการแบ่งแยก ผู้หญิงต้องเย็บปักถักร้อย ผู้ชายเล่นบอล ผู้หญิงต้องไม่เสียงดังโวยวาย ศาสนสถานบางแห่งห้ามผู้หญิงเข้า ประจำเดือนผู้หญิงเป็นของต่ำ กฎหมาย จารีตใดๆ รวมไปถึงสื่อต่างๆ ที่ร่วมกันสร้างภาพต้นแบบของผู้หญิงที่คิดว่าดี และควรจะเป็น มันคือแนวคิดที่ทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิง กลายเป็นความชอบธรรม

 

Content ที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ว่าจากสื่อใหญ่ หรือคนทั่วไป ยังคงเป็นวาทะชุดเดิมๆ ที่ยังคงถูกผลิตซ้ำและสื่อสารออกไปในทุกรูปแบบ ที่ยังคงตอกย้ำว่า การเป็นผู้หญิงที่ดีต้องเรียบร้อย ต้องทำงานบ้าน ต้องรักษาความบริสุทธิ์ ต้องเป็นผู้ตาม ต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนผู้ชาย เป็นผู้นำไม่ได้ ถูกหาว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจ อ่อนแอ ถ้าเป็นผู้หญิงที่ดีต้องได้แต่งงานเราไม่ควรให้เกิดภาพที่ตายตัวแบบนี้ต่อไป เราจะต้องวาดภาพผู้หญิงขึ้นใหม่

 

ภาพของผู้หญิงที่จะถูกวาดขึ้น ต้องมาปรับฐานคิดของคนในสังคมเสียใหม่ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพื่อได้นิยามใหม่ที่ทุกคนยอมรับ ต้องไม่จำกัดผู้หญิง ไว้ในกล่องเรื่องเพศ ก่อนจะนำเสนอประเด็นเรื่องผู้หญิง ต้องเห็นผู้หญิงตรงหน้าของคุณเป็นคนที่มีคุณค่า ต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงคนนั้น มีความเท่าเทียม มีความดีงาม มีคุณค่าของตัวเขาเอง

 

แต่ในยุค 4.0 สิ่งที่สำคัญไม่แพ้เนื้อหาที่ดี คือเทคนิคการสื่อสารที่จะหยุดความสนใจชาวโซเชียลไว้ให้ได้เทคนิคการเขียน Online Content ซึ่งคุณกันต์กนิษฐ์ ได้แบ่งปันให้ผู้เข้าร่วม Workshop คือ การดึงคนสู่เรื่องที่เราอยากจะเล่า หรือเรื่องยากๆ อาจจะต้องหลอกล่อ ด้วยสิ่งที่น่าสนใจ เสมือนการเอาน้ำตาลมาเคลือบไว้ ซึ่งสามารถใช้เทคนิคนี้ในแต่ละช่วงของงานเขียนตามหมาะสม

 

โดยวิธีการหลักๆ งานเขียนจะต้องเขียนให้เหมือนคุยกับคนอ่าน ให้รู้สึกเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์ สร้างความน่าสนใจ โดยการใช้ Quotation มีภาพหรือกราฟิกประกอบเพื่อพักสายตาสำหรับเนื้อหาที่มีความยาว อาจมีการตั้งคำถามเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม จบด้วยการเสนอแนะหรือการแก้ไขปัญหา สิ่งที่จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่งานเขียน คือ แหล่งอ้างอิงของข้อมูลควรเป็นบุคคลหรือหน่วยงาน ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงต่อเรื่องนั้นๆ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงตัวชี้วัดของงานเขียนในมุมมองของตนว่า ถ้าสิ่งที่เราเขียน ได้ให้ความรู้ หรือความคิดที่อยากจะเปลี่ยน แค่คน 1 คนที่อ่าน ก็มีค่ามากแล้ว ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทำในสิ่งนี้อยู่ เพราะเชื่อว่าพลังของคนตัวเล็กๆ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้

Back