สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเปิดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง“การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 2”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จยังห้องประชุม The Circle โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทาราศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ทรงเปิดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 2” จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้ประทานพระดำรัสเปิดงาน โดยทรงกล่าวถึงพัฒนาการของประเทศไทยและนานาประเทศในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในบริบทกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังดังที่ปรากฏตามกฎหมายภายในประเทศและมาตรฐานระหว่างประเทศ อีกทั้งยังทรงเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจำต้องร่วมกันสร้าง “โอกาส” ให้แก่ผู้ก้าวพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“...ในประเด็นด้านสุขอนามัยของผู้ต้องขังในเรือนจำนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล็งเห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์การพยาบาลรวมไปถึงการได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังควรได้รับให้เท่าเทียมกับบุคคลภายนอก จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้ง “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยใจ” ขึ้นเพื่อมุ่งเน้นในการส่งเสริมด้านเครื่องมือแพทย์ด้านบริการทางการแพทย์พยาบาล ตลอดจนให้องค์ความรู้ต่างๆด้านสุขภาพอนามัยที่จำเป็นต่อผู้ต้องขัง และให้องค์ความรู้ด้านสุขภาพแก่อาสาสมัครด้านสุขภาพในเรือนจำให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ ข้อกำหนดแมนเดลา และข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณนี้จะนำสู่ความก้าวหน้าในกิจการราชทัณฑ์ไทย และสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังอันจะเป็นไปเพื่อมอบกำลังกายกำลังใจที่ดีในการมุ่งมั่นพัฒนาตนเองของผู้ต้องขังต่อไป”
จากนั้น ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการซึ่งนำเสนอผลการดำเนินงานขององค์กรผู้ร่วมจัดงานโดยมีประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารขององค์กรผู้ร่วมจัดงานเฝ้ารับเสด็จฯ
งานสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิในสาขากฎหมายสิทธิมนุษชนและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ เกี่ยวกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและแนวคิดเกี่ยวกับโทษทางอาญา และมาตรการทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้โทษทางอาญาด้วย