ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก แก่ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ ในนามของรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

การยื่นสัตยาบันสารในครั้งนี้ จะมีผลให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของกลไกความร่วมมือระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างประเทศภาคี อนุสัญญาฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 178 ประเทศ (ประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 179) และภาคีพิธีสารซึ่งมีสมาชิกจำนวน 157 ประเทศ (ประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 158) ในการดำเนินมาตรการต่างๆ ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยกลไกสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศภาคีอนุสัญญา ได้แก่ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ซึ่งจัดให้มีขึ้นทุกๆ สองปี เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการอนุวัติการตามอนุสัญญาดังกล่าว และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาจะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวได้ในฐานะสมาชิกด้วย

การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาและพิธีสารต่อด้านการค้ามนุษย์ยังเป็นการแสดงให้ประชาคมนานาชาติเห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และพร้อมที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา

อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรหรือ United Nations Convention against Transnational Organized Crime (UNTOC) เป็นกรอบความร่วมมือที่กำหนดมาตรฐานสำหรับประเทศสมาชิกในดำเนินการเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรม โดยเน้นด้านการป้องกัน การสืบสวนและการดำเนินคดีเกี่ยวกับฐานความผิดที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ 4 ฐาน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม การฟอกทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด การทุจริตคอรัปชั่น และการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งฐานความผิดร้ายแรงที่มีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๔ ปีขึ้นไป เมื่อความผิดดังกล่าวมีลักษณะข้ามชาติและเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรอาชญากรรม รวมถึงกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐภาคี อาทิ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน การโอนตัวนักโทษ และการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา

สำหรับพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก หรือ Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Girls (Trafficking Protocol) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสตรีและเด็ก โดยกำหนดให้การค้ามนุษย์เป็นความผิดทางอาญา และกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครอง และ ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น การพิจารณาคดีลับ หรือการจัดให้มีการฟื้นฟูทางกายภาพ ทางจิตใจ และทางสังคม และการกำหนดความร่วมมือในการส่งกลับเหยื่อจากการค้ามนุษย์ไปยังประเทศต้นทาง



แหล่งข้อมูล :
http://news.ch7.com/detail/49045/พระเจ้าหลานเธอ_พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา_18-10-56.html
http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/14/40175-การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญ.html
แก้ไขล่าสุด : 28 ตุลาคม 2556

Back