ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 12-16 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ผู้แทนสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) นำโดยเอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการTIJ  และคณะ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ UN Commission on Crime Prevention and Criminal Justice (CCPCJ) สมัยที่ 23 ณสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

ในการประชุม CCPCJ สมัยที่ 23 นี้  คณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานหลักในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการต่างประเทศ ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ได้มีบทบาทใน การเสนอและเจรจาผลักดันร่างข้อมติสำคัญรวม 4 ร่าง ครอบคลุมทิศทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบของ CCPCJ ในประเด็นสำคัญ ได้แก่  

  1. การเตรียมการจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 13 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในเดือนเมษายน 2558
  2. การรับรองร่างตัวแบบยุทธศาสตร์ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในกรอบงานยุติธรรมทางอาญา
  3. การทบทวนข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด และ
  4. การส่งเสริมหลักนิติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรอบงานด้านการป้องกันอาชญากรรม และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของนานาประเทศ  โดยในสองประเด็นหลังนี้ ผู้แทน TIJ มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ยกร่างและเจรจาร่างข้อมติที่เกี่ยวข้องด้วย


CCPCJ ในฐานะคณะกรรมาธิการสหประชาชาติที่มีบทบาทด้านวิชาการในการผลักดันนโยบายและแนวปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศตามกรอบวาระงาน (Functional Commission)  เป็นกลไกสำคัญของสหประชาชาติและประเทศสมาชิกเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศโดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมการนำเอามาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติ  

นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมประชุมตามระเบียบวาระ และการเจรจาร่างข้อมติสำคัญแล้ว ในการประชุม CCPCJ สมัยที่ 23 นี้ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 คณะผู้แทนไทยยังได้ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ใช่รัฐบาล จัดกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) เพื่อนำเสนอองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ  โดย TIJ  ได้ร่วมกับสำนักงาน UNODC   สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนาและ   Penal Reform International (PRI) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ที่ดำเนินงานปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเน้นด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด  จัดการประชุมคู่ขนาน โดยเป็นการอภิปรายในหัวข้อ Implementing the Bangkok Rules on Women Offenders and Prisoners: Towards Implementation  ในการนี้ คณะผู้จัดฯ ได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เสด็จมาทรงร่วมการอภิปรายและได้ประทานปาฐกถานำด้วย

ผู้เข้าร่วมการอภิปรายในกิจกรรมคู่ขนานครั้งนี้ ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการ TIJ, ผู้แทน PRI ได้แก่ Ms Andrea Huber ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายประจำสำนักงานใหญ่ PRI และ Ms Taghreed Jaber ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค Middle East North Africa Office และ Ms Piera Barzanò เจ้าหน้าที่ UNODC  โดยมีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหาร TIJ  เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ได้มีการแลกเปลี่ยนในวงอภิปรายดังกล่าวจะเน้นถึงพัฒนาการสำคัญในการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ (UN Bangkok Rules) ซึ่ง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันจนได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม  2553   ซึ่งนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาประมาณ 4 ปี แล้ว ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการมุ่งเน้น(Focus) การส่งเสริมให้มีการนำข้อกำหนดกรุงเทพ ไปปฏิบัติ โดยปรับใช้ให้เข้ากับนโยบายการคุมขังและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของแต่ละประเทศ ในการนี้ ได้มีการนำเสนอพัฒนาการสำคัญในการสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือนานาประเทศให้สามารถนำ ข้อกำหนดกรุงเทพไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่  (1) คู่มือสำหรับผู้บริหารงานด้านการราชทัณฑ์ฉบับปรับปรุงใหม่ของ UNODC  (2) โปรแกรมออนไลน์สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดกรุงเทพได้ด้วยตัวเองซึ่งพัฒนาขึ้นโดย PRI   (3) คู่มือข้อกำหนดกรุงเทพ (Guidance Document) และตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการนำข้อกำหนดกรุงเทพสู่การปฏิบัติ (Index of Implementation) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดความรู้ Bangkok Rules Toolbox ซึ่ง TIJ ร่วมกับ PRI พัฒนาขึ้น ทั้งนี้ ถือเป็นความพยายามของนานาประเทศและผู้มีส่วนได้เสียหลัก รวมถึง TIJ ที่ต้องการผลักดันให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านมิติเพศสภาพผู้ต้องขังหญิง และตอบสนองความต้องการอันมีความเฉพาะ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก


Last update on 20.05.2014 by OSCOM TIJ

Back