ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 4 - 5 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมเซนทรา แอท เซนทรัล สเตชั่น กรุงเทพฯ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดงานสัมมนาระดมสมองเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไทยเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดหญิงตั้งแต่ขั้นตอนก่อนกระทำผิดถึงชั้นปล่อยตัว โดยเน้นร่วมกันคิดหามาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง (Non-custodial Measures) ซึ่งเป็นมาตรการทางเลือกสำหรับเป็นแนวปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่ต้องโทษอาญา ทั้งนี้ ที่มาของการจัดสัมมนาในครั้งนี้เกิดจาก TIJ ได้ทำการวิจัยเรือนจำและเล็งเห็นว่าประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาภาวะประชากรผู้ต้องขังล้นเรือนจำ อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเอาข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ปฏิบัติ

ดร.นัทธี จิตสว่าง รองผู้อำนวยการ TIJ กล่าวเปิดงานและเล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดสัมมนาครั้งนี้ โดยเริ่มจากอธิบายประวัติความเป็นมาของข้อกำหนดกรุงเทพ หรือ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ว่าเป็นข้อกำหนดแรกของสหประชาชาติที่มีกระบวนการจัดทำและยกร่างโดยประเทศไทยภายใต้การนำของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา ผู้ทรงมีพระวิสัยทัศน์ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทรงเล็งเห็นความแตกต่างทาง ‘เพศสภาพ ’ที่ทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสมเมื่อได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกับผู้ต้องขังชาย  

ดร.นัทธี อธิบายว่า กฎมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษ (Standard Minimum Rules) หรือ SMR ของสหประชาชาติที่ใช้กันอยู่ทั่วไปก่อนที่จะมีข้อกำหนดกรุงเทพนั้น ถูกกำหนดขึ้นมาในบริบทของสังคมสมัยก่อนที่ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย ผู้หญิงทำผิดน้อย แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป จำนวนผู้กระทำผิดหญิงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ SMR ที่เคยใช้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านเพศภาพของผู้ต้องขังหญิงได้ ข้อกำหนดกรุงเทพจึงเป็นมาตรฐานที่เสริมขึ้นมาโดยคำนึงถึงความแตกต่างดังกล่าว นอกจากนี้ข้อจำกัดด้านสถานที่ในเรือนจำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องสร้างมาตรฐานและมาตรการทางเลือกใหม่ๆ สำหรับใช้ปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดหญิง

ดร.นัทธีกล่าวต่อไปอีกว่า TIJ เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการขับเคลื่อนการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพให้ได้รับการปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในการนี้ TIJ ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในไทย โดยได้ทำงานวิจัยสำรวจเรือนจำ พบว่า 80-90% ของผู้ต้องขังหญิงได้กระทำผิดในคดียาเสพติดซึ่งส่วนใหญ่พัฒนามาจากการเป็นผู้เสพ นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่กระทำผิดไม่ได้กระทำผิดในคดีที่แสดงถึงความเลวโดยสันดาน บ้างเป็นคดีลหุโทษ ดังนั้น การใช้มาตรการทางเลือกจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้กับผู้กระทำผิดหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ TIJ จึงได้จัดสัมมนาระดมสมองในครั้งนี้

ด้านนายชาติชาย สุทธิกลม เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในผู้เข้าร่วมสัมมนากล่าวว่าตนเองในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์มองว่า ข้อกำหนดกรุงเทพมีความสำคัญมาก เพราะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง เช่นเรื่องสุขอนามัย การดูแลบุตรติดผู้ต้องขัง ซึ่งในปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนถึง 100,000 คน ตนในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รู้สึกยินดีที่ทาง TIJ จัดทำแผนยุทธศาสตร์กำหนด Non-Custodial Measures และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มารับฟังความคิดเห็นและได้รับทราบมุมมองของสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนายชาติชายได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่าการคุมขังไม่ใช่โทษทางอาญาทางเดียว ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันคิดหามาตรการทางเลือกเพื่อลดปัญหาคนล้นคุกต่อไป


ปรับปรุงล่าสุด 5 สิงหาคม 2557 3:06 PM

Back