ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 3-6 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(องค์กรมหาชน) หรือ TIJ โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม และมูลนิธิป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดระหว่างประเทศ (IPPF) จัดการสัมนาวิชาการ "IPPF Thailand Colloquium 2014" ภายใต้หัวข้อ "ผู้ต้องขังหญิง:ข้อกำหนดกรุงเทพฯ และก้าวต่อไป" (Women in Prison : the Bangkok Rules and Beyond)

วัตถุประสงค์ของการจัดการสัมมนาวิชาการ IPPF Thailand Colloquium 2014 ครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ให้องค์กรระดับโลก ได้รับทราบถึงภารกิจของ TIJ ที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน ให้เป็นมาตรฐานแก่นานาประเทศในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก รวมทั้งแสดงผลงานของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง ผ่านทาง"โครงการกำลังใจ" ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาให้เป็นที่ประจักษ์

ที่สำคัญ การได้รับความร่วมมือทางวิชาการกับ IPPF ซึ่งเป็นองค์กรเก่าแก่ระดับโลก มีประสบการณ์และบทบาทยาวนาน ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะนำกรณีศึกษาต่างๆ ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ มาศึกษาหารือร่วมกัน เพื่อผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพฯ ให้สัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยในการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาชญาวิทยาและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจากทั่วโลก เพราะปัจจุบัน IPPF ยังมีสถานะเป็นที่ปรึกษาของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC และ) the Council of Europe ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการได้รับการยมรับของ IPPF ในระดับสากล

ทั้งนี้ ภายในการสัมมนาวิชาการ “IPPF Thailand Colloquium 2014” มีการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก เพื่อการนำความรู้ไปพัฒนาข้อกำหนดกรุงเทพ โดยมีหัวข้อการนำเสนอที่น่าสนใจ เช่น การบรรยาย หัวข้อ “ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำในประเทศไทยและการพัฒนาของข้อกำหนดกรุงเทพฯ” การอภิปรายร่วม หัวข้อ สภาวะที่ผู้ต้องขังหญิงอยู่ภายใต้การจำคุกในเรือนจำ ในมุมมองจากฟิลิปปินส์ การนำเสนอชุดเอกสารคู่มือสำหรับการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ รวมถึงการนำผู้เข้าร่วมสัมมนา เข้าเยี่ยมชมทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของไทยในการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ในงานราชทัณฑ์

เอกอัคคราชทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า ประเทศไทย มีบทบาทที่สำคัญในการผลักดันให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ เพื่อให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีความเหมาะสมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตาม การอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯยังมีหลายประเด็นที่จะต้องมีการศึกษาและอภิปรายต่อไป งานสัมมนาวิชาการ IPPF Thailand Colloquium 2014 เป็นโอกาสอันดีที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติจะได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักที่สำคัญของ TIJ

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในปัจจุบัน จำนวนผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด (SMR) ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะด้านของผู้ต้องขังหญิงได้อย่างครบถ้วน ประเทศไทยจึงผลักดันให้ข้อกำหนดกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานที่ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติ แต่เนื่องจากข้อกำหนดกรุงเทพฯ ไม่มีสถานะบังคับทางกฎหมายโดยตรง ทำให้บางประเทศลังเลที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงเกิดขึ้นจริง

สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ ได้มีการแก้ไขปรับปรุง กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ รวมถึงแนวทางปฏิบัติในทัณฑสถานต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพฯ นอกจากนี้ประเทศไทยยังส่งเสริมให้มีการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง เพื่อลดความแออัดในทัณฑสถานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง งานสัมมนาวิชาการ IPPF Thailand Colloquium 2014 จึงเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศ

นายวอร์เรน ยัง รองประธาน IPPF กล่าวว่า ที่ผ่านมาการออกแบบทัณฑสถานต่าง คำนึงถึงความเหมาะสมของผู้ต้องขังโดยส่วนใหญ่ที่เป็นชาย โดยไม่ได้ให้ความสนใจแก่่ผู้ต้องขังหญิงเท่าที่ควร จึงควรมีการศึกษาความต้องการเฉพาะด้าน รวมทั้งวิเคราะห์ลักษณะการกระทำผิดของผู้หญิง ซึ่งIPPF มีความสนใจในประเด็นดังกล่าว จึงเลือกหัวข้อการสัมมนาในประเด็นของผู้ต้องขังหญิง โดยนำเสนอมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญจากทั้งโลกตะวันตกและเอเชีย

 

Back