ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “มิติใหม่ของการจัดการกับเหยื่ออาชญากรรม” ในวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2557 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น เวลา 9.00 – 15.00 น. เพื่อระดมความคิดจากหน่วยงานหลักในกระบวนการยุติธรรม อาทิ กระทรวงยุติธรรม กรมคุมประพฤติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพธิ ร่วมด้วยนักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม(NGOs) กลุ่มสิทธิเด็กและสตรี โดย Highlight ของงานนี้จะอยู่ที่การอภิปรายในประเด็น “กระบวนการยุติธรรมไทยควรให้ความสนใจกับสิทธิของเหยื่ออาชญากรรมมากขึ้นหรือไม่” “ลงโทษผู้กระทำผิดตามสมควรต้องทำอย่างไร” “ข่มขืนต้องประหาร(?)” ประเด็นนี้ คุณบุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี จะเข้าร่วมอภิปราย นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจ อาทิ” “การคุ้มครองเยียวยาเหยื่อควรเป็นเช่นไร”  “อาชญากรรมรูปแบบใหม่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร และสังคมจะตอบสนองและดูแลเหยื่อเหล่านั้นได้อย่างไร”

ที่มาที่ไปของงานนี้เกิดจาก TIJ เล็งเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า “เหยื่อ” เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาความจริงเมื่อเกิด “อาชญากรรม” ขึ้น เพราะเหยื่อเป็นบุคคลแรกที่จะพาไปสู่ความจริงของการกระทำผิด เป็นผู้สามารถยืนยันและพิสูจน์ความผิดของจำเลย แต่สังคมและกระบวนการยุติธรรมไทยมักจะให้ความสนใจและมุ่งเน้นไปที่ตัว “ผู้กระทำผิด” “การลงโทษ” และ“การบังคับโทษ” และละเลยที่จะให้ความสำคญแก่ผู้เสียหาย หรือ เหยื่อ ที่มักจะถูกละเลยและไม่ได้รับการเยียวยาตามสมควร ทั้งนี้ จากเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นอยู่หลายกรณีในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามว่าสังคมไทยให้ความสนใจต่อ “เหยื่ออาชญากรรม” เพียงใด ดังนั้น TIJ ในฐานะที่เป็นสถาบันที่มีภารกิจในด้านส่งเสริมการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งครอบคลุมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สามารถคุ้มครองผู้หญิงและเด็กในกระบวนการยุติธรรม รวมตลอดถึงการดูแลคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิดและผู้เสียหายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับในนานาอารายประเทศ จึงจัดสัมมนาในครั้งนี้โดยมุ่งหวังเพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ต่อไป

นายอดิศักดิ์ ภานุพงศ์ ผู้บริหารTIJ กล่าวว่า สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับอาชญากรแต่ละเลยเหยื่อผู้ถูกกระทำ แม้จะมีพ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แต่ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น ที่ผ่านมากระบวนการติดตามว่าเหยื่อใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศ ที่ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอ็นจีโอจะระดมความช่วยเหลือ ส่งนักจิตวิทยาเข้าไปดูแลฟื้นฟูจิตใจ ติดตามพัฒนาการของเหยื่อจนมั่นใจว่ามีความพร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดที่ไม่ควรอภัยโทษให้กับอาชญากรที่ก่อคดีรุนแรง โดยเฉพาะนายวันชัย แสงขาว หรือเกมที่ก่อคดีข่มขืนฆ่าเด็กหญิง ซึ่งไม่ควรได้รับการลดหย่อนโทษตามระบบราชทัณฑ์ เพื่อให้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานานให้เกิดสำนึกและชดใช้ความผิดที่ก่อ โดยเชื่อว่าการลงโทษอย่างจริงจังจะช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมได้

ด้านน.ส.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี นักแสดงเเละแกนนำล่ารายชื่อแก้กฎหมายให้ผู้ต้องขังคดีข่มขืนต้องรับโทษประหาร กล่าวว่า ขณะนี้ร่วมรวมรายชื่อผู้ที่เห็นด้วยกว่าหนึ่งแสนคน หลังจากนี้จะเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เพื่อผลักดันแก้กฎหมายให้มีการลงโทษอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้เรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิตผู้ที่ก่อคดีข่มขืนแล้วฆ่าทุกราย เพราะเข้าใจดีกว่ากฎหมายไทย บัญญัติโทษคดีข่มขืนฆ่าในอัตราสูงสุดคือประหารชีวิตอยู่แล้ว แต่อยากทำให้กฎหมาย มีความศักดิ์สิทธิ์มีการลงโทษจริงจัง ไม่ใช่ศาลลงโทษ8ปี จำคุกไม่กี่ปีก็ออกมาแล้ว ดังนั้น จึงอยากถามกลับไปยังสังคมว่าในคดีข่มขืนมีความเป็นไปได้กรือไม่ที่จะไม่อภัยโทษหรืออภัยโทษให้น้อยที่สุดเทียบเคียงจากคดียาเสพติด

"นักสิทธิมนุษยชนที่ออกมาคัดค้านการประหารชีวิต แล้วด่าดาราว่าแต่งตัวยั่วยุทางเพศ ในฐานนะนักแสดงอยากเรียกร้องกลับไปว่า นอกจากคุ้มครองสิทธิ์ของคนร้ายแล้วอยากให้คุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยด้วย องค์กรและมูลนิธิที่มีอยู่ดูแลเหยื่อได้ดีจริงหรือ ถ้าอภัยโทษแล้วปล่อยผู้ต้องขังหมื่นรายออกมา นักสิทธิฯจะดูแลประชาชนอย่างไร ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่ออีก ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันหน้าคุยกันเพื่อหาทางออกให้กับสังคม หากอ้างว่าเรือนจำแออัดก็ควรขยานสถานที่ เพื่อควบคุมคนร้ายไม่ให้ออกมาสร้างความเดือดร้อน" น.ส. ปนัดดา กล่าว

น.ส. ปนัดดา กล่าวถึง กรณีปรากฏภาพดาราสาว ถูกทำร้ายร่างกายว่า เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยมีทัศนคติซ้ำเติมว่าเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว ทั้งที่บุคคลดังกล่าวถือเป็นเหยื่อที่ควรได้รับการปกป้อง และส่วนตัวเห็นด้วยที่นักแสดงสาวหนีออกมาได้ เพราะปกติแล้วผู้หญิงไม่สามารถสู้แรงผูชายได้แน่นอน

ขณะที่น.ส. ทองพูล บัวศรี หรือ ครูจิ๋ว มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ผลกระทบของเหยื่อคดีทางเพศที่เป็นเด็กพบว่าหลังถูกข่มขื่นทำให้เด็กยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งต่อไปง่ายขึ้น จนมูลนิธิฯต้องใช้วิธีทำหมันเด็กกลุ่มดังกล่าวเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ก็ถูกเด็กเรียกร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิ นอกจากนี้พบปัญหาสำหรับของเหยื่อคดีทางเพศว่าไม่มีช่องทางลัดที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อนในการให้ความช่วยเหลือเหยื่อ


ปรับปรุงล่าสุด 31 ก.ค. 2557

Back