ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 TIJ จัดงานสัมมนา เรื่อง “การเข้าถึงความยุติธรรม : เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เข้าให้ถึงความเป็นธรรม” (Not just an ‘Access to a Justice Procedure’, yet it’s an ‘Access to Justice’”)

“กระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรมให้กับคนรวย” หรือ “คุกมีไว้ขังคนจน”  ข้อความเหล่านี้พบเห็นบ่อยครั้งในวาทกรรมเสียดสีกระบวนการยุติธรรมมาตลอด แม้ว่าประเทศไทยและนานาชาติจะมีการรับรองและส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ แต่จะเห็นได้ว่าปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมก็ยังคงปรากฏอยู่โดยเฉพาะในสังคมไทย แต่หากจะพิจารณาในระดับนานาชาติจะพบว่า หลายประเทศสามารถดำเนินการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ประเทศเหล่านั้นมีวิธีการอย่างไร??

การสัมมนาในครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการสำรวจทางเลือกและแนวคิดที่จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมทั้งในและต่างประเทศ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม


ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาและกล่าวเปิดงานสัมมนา ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของประเด็นการเข้าถึงความยุติธรรม รวมทั้งกล่าวถึงมิติของการปฏิรูป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อให้เข้าใจถึงพื้นฐานของปัญหาอย่างแท้จริง


สำหรับการอภิปราย แบ่งเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ 1) “การเข้าถึงความยุติธรรม: คิดนอกกรอบ มองรอบด้าน” (Access to Justice: Outside the Nutshell) เป็นการอภิปรายในประเด็นทั่วไปเกี่ยวกับความสำคัญของการสร้างเสริมสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม ความท้าทายและความสำเร็จ 2) “การเข้าถึงความยุติธรรม: กรณีศึกษาเกี่ยวกับเด็กและสตรีในระบบยุติธรรมทางอาญา (Access to Justice: Case Studies on Women and Children in Criminal Justice) เป็นการอภิปรายเจาะลึกในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงความยุติธรรมของกลุ่มบุคคลที่มีความเปราะบางในสังคม เช่น เด็กและสตรีที่เข้าสู่ระบบยุติธรรมทางอาญา ทั้งในฐานะผู้เสียหาย พยาน หรือผู้กระทำผิด 3) “การเข้าถึงความยุติธรรม: กลไกที่มีประสิทธิภาพและแนวปฏิบัติที่ดี (Access to Justice: Effective Mechanisms and Good Practices) เป็นการอภิปรายเจาะลึกในประเด็น แนวคิด หลักการ วิธีการเกี่ยวกับงานบริการสังคมของนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงซึ่งทำโดยปราศจากค่าตอบแทน (pro bono work)


งานสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรเข้าร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนจากหลากหลายฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น นายบุญรอด ตันประเสริฐ (ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ภาค 1), นายสมชาย หอมลออ (กรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย), พ.ต.ท.อภิชาติ หัตถสิน (สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธร ภาค 5), นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง (ที่ปรึกษาศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือ OSCC), Mr.Nicholas Booth (ที่ปรึกษาด้านนโยบายการคลัง, สิทธิมนุษยชน และงานด้านการพัฒนาต่างๆของสหประชาชาติ), Mr.Brain M PEARCE และ Judge Therese Blanche A.Bolunia ผู้พิพากษา สำนักงานศาลยุติธรรม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งวิทยากรจากหลายฝ่ายได้นำเสนอประสบการณ์จากต่างประเทศเกี่ยวกับเทคนิค วิธีการในการสร้างเสริมสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม


ผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้มีจำนวนกว่า 180 คน ประกอบด้วย บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม นักศึกษา นักวิชาการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในภาคประชาสังคม

TIJ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกและแนวคิดที่จะนำมาปรับปรุงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย และจะช่วยเพิ่มมุมมองเกี่ยวกับการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย

ท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวอื่นๆ ได้ที่ www.facebook.com/TIJ2011

Back