ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ครบรอบ 7 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ
ให้โอกาสผู้ต้องขัง ลดการกระทำผิดซ้ำ ร่วมกันสร้างสังคมที่ดี

 


การจำคุกเป็นหนึ่งในโทษทางอาญาที่มุ่งจำกัดเสรีภาพผู้กระทำผิด และแยกผู้กระทำผิดออกจากสังคม โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การสร้างความปลอดภัยในสังคมและการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำในอนาคต ดังนั้น ภารกิจสำคัญของเรือนจำจึงรวมถึงการบำบัดฟื้นฟูด้านจิตใจและพัฒนาทักษะอาชีพผู้ต้องขัง เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพกลับคืนสู่สังคม

ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 322,634 คน โดยแบ่งเป็นผู้ชาย 279,862 คน และผู้หญิง 42,772 คน โดยจำนวนดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมียอดผู้ต้องขังโดยรวมสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แม้โทษจำคุกจะเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ผลกระทบของการจำคุกนั้นอาจนำไปสู่การสร้างตราบาปหรือมลทิน (stigma) แก่ผู้ถูกคุมขัง ทำให้ผู้กระทำความผิดเป็นที่รังเกียจต่อสังคมและครอบครัว ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการกลับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอกหลังพ้นโทษ นอกจากนั้น เมื่อผู้ต้องขังต้องรับโทษจำคุกเป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่ภาวะการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของเรือนจำ (institutionalization) ทำให้เกิดความคุ้นชินต่อการอาศัยอยู่ในเรือนจำ รวมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่านิยม วิถีชีวิต และเทคนิคการก่ออาชญากรรมจากผู้ต้องขังร่วมเรือนจำ ทำให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง และไม่รู้สึกเกรงกลัวโทษจำคุกอีกต่อไป นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยหลายฉบับยังพบด้วยว่าโอกาสในการทำงานนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เคยต้องโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำเมื่อได้รับการปล่อยตัว

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น หากยังเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วโลก และประทานพระดำริให้จัดตั้งโครงการ “กำลังใจ” เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง และมีการประสานความร่วมมือโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการให้ความช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ในการพัฒนาทักษะฝีมือให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ ซึ่งนำไปสู่การผลักดันให้เกิดข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United  Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders) และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 65 ได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553

ข้อกำหนดกรุงเทพนั้นมีสาระสำคัญในการปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรือนจำ ตลอดจนการปรับปรุงโปรแกรมต่างๆ สำหรับผู้ต้องขังตั้งแต่กระบวนการแรกรับ การปรับปรุงสภาพจิตใจและทัศนคติ การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง และเพื่อให้เรือนจำแต่ละแห่งได้นำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้จริงตามความเหมาะสม ในการนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์จัดทำ “โครงการเรือนจำต้นแบบ” ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา อีกทั้งมีการจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าด้วยการบริหารจัดการผู้ต้องขังหญิง ตาม “ข้อกำหนดกรุงเทพ” มาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยมีเรือนจำต้นแบบจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1. เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี 2. ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 3. เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4. ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 5. ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และ 6. เรือนจำกลางสมุทรสาคร และเร็วๆ นี้ จะมีการประกาศเรือนจำต้นแบบเพิ่มอีก 4 แห่ง

เป้าประสงค์สูงสุดของการดำเนินงานตามข้อกำหนดกรุงเทพในเรือนจำ คือ การทำให้เรือนจำเป็นสถานที่เปลี่ยนชีวิตอย่างแท้จริง  ด้วยการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง ซึ่งทำโดยการฟื้นฟูสภาพจิตใจผ่านกิจกรรมหลากหลาย พร้อมใช้แนวปฏิบัติของศาสนาต่างๆ มาส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก การให้โอกาสทางการศึกษาเรียนเพื่อได้ข้อมูลความรู้ไปใช้ในอนาคตรวมทั้งเรียนเพื่อปรับวุฒิการศึกษา รวมทั้งยังมีการส่งเสริมการฝึกอาชีพ โดยคำนึงถึงศักยภาพของผู้ต้องขัง และโอกาสในการประกอบอาชีพในถิ่นที่อยู่

นอกจากนี้ ยังเริ่มทำงานเชิงรุกในการปรับปัจจัยภายนอก คือ ส่งเสริมให้สังคมได้ร่วมต้อนรับคนดีสู่สังคม เริ่มตั้งแต่ระดับเล็กที่สุด คือ สนับสนุนให้ครอบครัวช่วยประคับประคอง ชุมชนให้ความร่วมมือในการเปิดใจต้อนรับ และสังคมเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ทำงาน ลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำและร่วมสร้างสังคมที่ดี

ในโอกาสครบรอบ 7 ปี ของการรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2560 นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ก้าวที่พลาดกับโอกาสในการแก้ไข : มิติใหม่แห่งความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ” (Beyond the Prison Walls: Multi-stakeholder Perspectives on Prisoner Rehabilitation and Reintegration) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการส่งต่อผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “สังคมแห่งการให้โอกาส” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ ร่วมรับฟังความคืบหน้าล่าสุดของการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ในประเทศไทย และความท้าทายของกระบวนการยุติธรรมไทยในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อ “คืนคนดีสู่สังคม” ได้ที่ Facebook Live : tijthailand.org  ในวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เวลา 09.00-12.30 น.

Back