ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงร่วมกิจกรรมการฉายภาพยนตร์สารคดี เรื่อง "ข้อกำหนดกรุงเทพสำหรับผู้ต้องขังหญิง" หรือ The Bangkok Rules for Women Prisoners รอบปฐมทัศน์ ณ ห้องประชุม ห้องสมุดด๊าก ฮามมาร์เคิ่ล (Dag Hammarskjold Library) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ  เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556  กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ  สภาวิชาการระบบสหประชาชาติ (ACUNS) ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย และสมาคมสตรีสหประชาชาติ (United Nations Women’s Guild)  เพื่อชี้ให้เห็นถึงความต้องการอันมีลักษณะเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง และแนวปฏิบัติที่ดีของหน่วยงานราชทัณฑ์ในประเทศต่างๆ ในการตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะด้าน และอนุวัติการตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงหรือข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติในการประชุมสมัยที่ 65  เมื่อปี 2553

ข้อกำหนดกรุงเทพนี้ ประเทศไทยมีบทบาทนำในการผลักดันให้สหประชาชาติรับรองเป็นมาตรฐานฉบับแรกในโลกที่ให้ความสำคัญต่อความต้องการเฉพาะด้านอันเนื่องมาจากเพศสภาพของผู้หญิง ตามแนวพระดำริในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา  ซึ่งต่อมาปี 2554 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ การพัฒนาด้านหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งในประเทศ และในระดับนานาชาติ

ในโอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีพระดำรัสว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะช่วยให้ประเทศต่างๆ เรียนรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดกรุงเทพหรือ Bangkok Rules ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

“ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้นำเสนอข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในแง่มุมต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขังเข้าสู่เรือนจำ จนกระทั่งขั้นตอนการปล่อยตัว รวมถึงข้อบทที่ว่าด้วยการศึกษาวิจัย และข้อบทที่ใช้กับผู้ต้องขังหญิงกลุ่มพิเศษต่าง ๆ เช่น ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกติดในเรือนจำ หรือผู้ต้องขังหญิงชาวต่างประเทศ และข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปสู่การปฏิบัติอย่างกว้างขวางจะเกิดขึ้นได้ย่อมต้องอาศัยการสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้างเช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี การเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ซึ่งประเทศต่าง ๆ ดำเนินการร่วมกันนั้น จะช่วยให้เรามีฐานความรู้ที่ดีขึ้นซึ่งจะเป็นสมบัติกลางของแต่ละประเทศ และนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ดีขึ้นด้วย ข้าพเจ้าเชื่อว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ตามแนวทางดังกล่าวได้เป็นอย่างดี"

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จัดทำโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย โดยมอบหมายให้บริษัททูแฮนส์ฟรีเป็นผู้อำนวยการผลิต มีความยาวประมาณ 30 นาที เนื้อหาหลักมุ่งนำเสนอประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ในการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ โดยในการถ่ายทำได้ไปสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขังหญิง รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการราชทัณฑ์ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในหลายประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ออสเตรีย เซอร์เบีย เซียร่า-ลีโอน รวมถึงประเทศไทย  ควบคู่ไปกับการนำเสนอเนื้อหาสาระของข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งอาจนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในสาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรมในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศได้นำข้อกำหนดกรุงเทพฯ ไปปรับใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้ดียิ่งขึ้นด้วย



แหล่งข้อมูล :
http://news.ch7.com/detail/49045/พระเจ้าหลานเธอ_พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา_18-10-56.html
http://cpcjalliance.org/ai1ec_event/documentary-premier-bangkok-rules/?instance_id=278

แก้ไขครั้งล่าสุด : 30 ตุลาคม 2556

Back