ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

New Normal ศาลยุติธรรม ส่งผู้พิพากษาเข้าเรือนจำ “เอาคนไม่มีเงินประกันตัวออกจากคุก” เป็นศาลเดียวในโลก  

 

“ศาลยุติธรรมเราเริ่มทำงานเชิงรุกด้วยการ “เอาคนออกจากคุก” ผมส่งท่านรองเมทินี (รองประธานศาลฎีกา) และหัวหน้าผู้พิพากษาหลายคน เข้าไปสัมภาษณ์ผู้ต้องขังในคุกเพื่อหาคำตอบว่า คนเหล่านี้ทำความผิดไม่ร้ายแรงเหตุใดจึงต้องมาติดคุก และเราก็พบว่า บางคนมีสิทธิ์ที่จะประกันตัวออกไปได้ แต่ไม่มีเงินประกันตัว และบางคนพอจะมีเงินประกันตัวอยู่บ้าง แต่ไม่อยากใช้เงินเพื่อการประกันตัว เพราะจะเก็บเงินไว้เพื่อส่งเสียลูกเรียนหนังสือ”

 

นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวถึง หนึ่งในนโยบาย 5 ด้าน คือ การยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานผู้ต้องหาและจำเลย คำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม โดยระบุว่า เมื่อผู้พิพากษาได้เข้าไปเห็นปัญหาเอง ก็เกิดโครงการเชิงรุกขึ้นมา ถามผู้ต้องขังที่เรียกกันว่าเป็น “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” เหล่านั้นว่า ต้องการประกันตัวหรือไม่ ถ้าต้องการประกันตัวก็สามารถทำได้ด้วยกระบวนการง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้เงินเป็นหลักประกัน เพียงแต่ยื่นคำร้องขอประกันตัว แล้วกรอกแบบฟอร์มที่ทางศาลได้ออกแบบ “หลักประเมินความเสี่ยง” ซึ่งหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะหลบหนีน้อย และไม่เป็นอันตรายต่อสาธารณะ จะได้ประกันตัวแน่นอน พร้อมระบุว่า ศาลไทย เป็นประเทศแรกของโลกที่มีกระบวนการเช่นนี้ คือ ศาล เป็นผู้ที่เอาผู้ต้องขังออกจากคุกด้วยตัวเอง

 

นี่เป็นเนื้อหาที่เกิดขึ้นในเวที RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน วิถีใหม่ศาลยุติธรรมยุคโควิด-19 ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ  ในช่วงสนทนาพิเศษกับประธานศาลฎีกา หัวข้อ “ศาลกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน”

 

กำหนดนโยบายศาลยุติธรรมจากการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย
ประธานศาลฎีกา ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นซึ่งเป็นที่มาของนโยบายเหล่านี้ โดยระบุถึงช่วงตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งประธานศาลฎีกาใหม่ ได้ใช้แนวคิดที่ได้รับมาจากการไปอบรมหลักสูตรด้านการบริหารต่างๆ คือ การกำหนดนโยบายใดๆ ก็ตามต้องมาจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้น ดังนั้น เมื่อเข้ารับตำแหน่ง จึงให้คณะทำงานส่งหนังสือไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากการทำงานของศาลยุติธรรม ทั้งบุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่ คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ รวมไปถึงคู่ความ และประชาชน และยังประกาศไปยังสื่อออนไลน์ขอความคิดเห็น โดยตั้งคำถามว่า “ใน 1 ปี จากนี้ไป อยากให้ศาลยุติธรรมทำอะไรบ้าง” เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาประมวลผลก่อนกำหนดเป็นนโยบายของศาลยุติธรรม
 

เมื่อส่งคำขอข้อมูลออกไป พบว่า มีบุคคลจำนวนมากส่งคำตอบเข้ามา โดยแบ่งเป็นข้อมูลจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมประมาณร้อยละ 60 และเป็นความเห็นจากประชาชนทั่วไปร้อยละ 40 พบว่า สิ่งแรกที่ต้องการมากที่สุดคือ ขอให้ศาลยุติธรรมพิจารณาเรื่องกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว และต้องการให้ศาลพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยไม่มีวันหยุดราชการ จึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะ “ความยุติธรรมต้องไม่มีวันหยุดราชการ” จึงเริ่มดำเนินการนโยบายแรกคือ “การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีวันหยุด” ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้พิพากษาและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่เสียสละเวลามาทำงานในช่วงวันหยุดเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมตามสิทธิที่ควรจะได้รับ

 

แต่ในประเด็น “การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว” ประธานศาลฎีกา ยอมรับว่า ในแต่ละคดี มีทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหาย ดังนั้นการพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลใด จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของสาธารณะด้วย

 

เมื่อมาดูสถิติการปล่อยตัวชั่วคราวทั่วประเทศ มีคำร้องมากกว่าสองแสนคำร้องในแต่ละปี และศาลชั้นต้นได้ดำเนินการอนุญาตปล่อยตัวในแต่ละปีไปกว่าร้อยละ 90 เช่น ปี 2562 มีจำนวนคำร้อง 217,903 เรื่อง ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไป 200,713 ส่วนปี 2563 ช่วงต้นปีมีคำร้องแล้ว 56,106 เรื่อง และศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปแล้ว 51,076 แต่ตัวเลขนี้ยังไม่ใช่จำนวนที่พอใจ เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนคดีอาญาในศาลชั้นต้น พบว่าในหนึ่งปีจะมีถึง 5-6 แสนคดี แต่กลับมีคำร้องมายื่นแค่ 2 แสนกว่าเรื่องเท่านั้นซึ่งหมายความว่า จำเลยอาจจะยังไม่รับรู้ถึงสิทธิที่พึงมีในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนกรณีที่ไม่อนุญาตปล่อย ส่วนใหญ่เป็นเพราะจำเลยมีโทษคดีอื่นติดอยู่ด้วย หรือคดีขายยาบ้าหลักแสนเม็ดทางศาลอาจไม่ให้ประกันออกไป

 

สำหรับข้อมูลการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ ตามแนวคิด “ความยุติธรรมไม่มีวันหยุด” มีสถิติการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการของศาลชั้นต้น ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 มีคำร้องขอปล่อยตัวในช่วงวันหยุด 3,792 เรื่อง ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไป 3,424 เรื่อง ไม่อนุญาตปล่อยตัว 323 เรื่อง และส่งศาลสูงทั้งสิ้น 45 เรื่อง ซึ่งจะเห็นว่า มีคนได้กลับไปอยู่กับครอบครัวก่อนเวลาเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องถูกขังในเรือนจำต่ออีกหนึ่งหรือสองวันในช่วงเสาร์-อาทิตย์

 

จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสำรวจ ณ วันที่ 1 เมษายนของทุกปี ตั้งแต่ปี 2560 และ 2561 ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ในส่วนของศาลชั้นต้น จะมีจำนวน 10,173 คน และ 11,087 คน ตามลำดับ ถือว่าค่อนข้างสูง ส่วนในปี 2562 ลดลงมาเหลือ 8,963 คน และการสำรวจ ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 มีตัวเลขอยู่ที่ 9,699 คน ส่วนจำนวนที่ขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา จะเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นตัดสินเรียบร้อยแล้วจึงมีจำนวนสูงและกลุ่มนี้จะเปลี่ยนสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดต่อไปในอนาคต ซึ่งศาลจะพยายามลดจำนวนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ให้เหลือเพียง 5% ของคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น

 

สำหรับ “นโยบาย 5 ข้อ ของ ประธานศาลฎีกา” ประกอบด้วย
1. ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานผู้ต้องหาและจำเลย คำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม คือ นโยบายด้านสิทธิเสรีภาพที่กล่าวไปแล้ว

2. ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ คือ ทำให้การพิจารณาคดีมีคุณภาพมากขึ้น ให้ผู้พิพากษาให้ความสำคัญกับการอ่านสำนวน ตรวจสอบพยานหลักฐานให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ให้เป็นความยุติธรรมที่ทุกคนต้องการ

3. นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม การพิจารณาพิพากษาคดี และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ นโยบายนี้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดพอดี ซึ่งศาลได้นำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในหลายกรณี เช่น การสอบพยาน หรือแม้แต่อ่านคำพิพากษาทาง VDO Conference

4. เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริหารงานบุคคล ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างจริยธรรม ระบบอาวุโส และความรู้ความสามารถ ศาลจะเข้มแข็ง ต้องทำให้บุคลากรในศาลได้พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามหลักจริยธรรม นิติธรรม และหลักธรรมภิบาล

5. สนับสนุนบทบาทศาลในการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อภาระแก่สังคมและประชาชน คือ การสร้างความยุติธรรมให้เป็นสีเขียว นอกจากจะทำให้สถานที่ อาคารต่างๆ ร่มรื่น ยังมีความหมายว่า ความยุติธรรมต้องบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติ สะท้อนถึงหลัก “นิติธรรม”

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย



อ่านต่อ
เจาะลึกประเด็นร้อนว่าด้วยงานศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
• รูปแบบการทำงานวิถีใหม่ของศาลโดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิตัลในการบริการประชาชน
• มาตรการเชิงรุกของศาลในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ การปล่อยตัวชั่วคราว
• การบูรณาการร่วมมือของศาลกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
• การติดตามแก้ปัญหาในสถานการณ์โควิด-19
New Normal ศาลยุติธรรมยุคโควิด-19 “เปิดศาล” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้กฎหมาย ประชาชนเข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้ทุกคดี

 


 

 

Back