ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ และ UN Women จับมือส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมและเสริมพลังผู้หญิง
หนุนความเท่าเทียมทางเพศ สร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐ-เอกชน

 


สร้างพลังการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เดินหน้าการส่งเสริม

การเข้าถึงความยุติธรรม และเสริมพลังให้กับผู้หญิงในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างแนวทางปรับปรุงกฎหมาย การพัฒนางานวิจัยและศักยภาพผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาความรุนแรงและไม่เท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง นำมาสู่การพัฒนาสังคมที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ประการ

แม้ประเทศไทยได้ถูกเลื่อนเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความพยายามปฏิรูปกฎหมายและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีส่วนทำให้ “ผู้หญิงยุคใหม่” ได้รับสิทธิมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อน ๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงซับซ้อนมากขึ้น ผู้หญิงบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงโอกาสและการพัฒนา อาทิ ผู้หญิงในกลุ่มผู้อพยพหรือคนชายขอบ ผู้หญิงในเขตชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นต้น TIJ และ UN Women มองว่าการจัดการกับปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือและความรับผิดชอบจากทุกภาคส่วนเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก ปรับปรุงกรอบกฎหมายและนโยบาย การสนับสนุนทางงบประมาณ และสร้างองค์ความรู้ของสังคมในวงกว้าง

กุญแจสำคัญ คือ การลงมือปฏิบัติ อันมาจากความเข้าใจต้นตอและแนวโน้มของปัญหา รวมถึงข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงและผลักดันความเสมอภาคทางเพศ ตลอดจนการเข้าถึงความยุติธรรมและโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้

นายกิตติภูมิ เนียมหอม รักษาการหัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและเด็ก กล่าวว่า สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของหลักนิติธรรม การมีธรรมาภิบาล และกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำไปสู่การพัฒนาสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง TIJ และ UN Women ได้มีแผนงานสนับสนุนผลสัมฤทธิ์เหล่านี้ โดยในปี 2561-2562 จะมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อการเสริมสร้างเครื่องมือทางกฎหมาย สร้างความเข้าใจความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะและการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงาน สร้างการตระหนักรู้และเสริมสร้างทัศนคติของคนในสังคมผ่านรูปแบบความร่วมมือใหม่ ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน

ที่ผ่านมา UN Women ได้ดำเนินงานผลักดันสิทธิและความเสมอภาคในประเทศไทยและภูมิภาคแปซิฟิกมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา และสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่าน SpeakUpSpeakOut แคมเปญ และ HeforShe แคมเปญ  อีกทั้ง ได้มีการขยายความร่วมมือกับศาลครอบครัวกลางและเยาวชนแห่งประเทศไทยจัดทำมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานในการคุ้มครองผู้เสียหายและผู้กระทำผิดหญิง

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา (2561) TIJ และ UN Women ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและจัดโปรแกรมพัฒนาผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนงานวิจัยต่าง ๆ ที่ตีแผ่ข้อมูลเชิงลึกของสถานการณ์ความไม่เสมอภาคและความรุนแรงทางเพศในระดับประเทศ อาทิ รายงานการศึกษาเรื่อง คดีข่มขืน ความเข้าใจเรื่องการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อความรุนแรงทางเพศในไทยและเวียดนาม ซึ่งชี้ว่าผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศต้องเผชิญแนวปฏิบัติทางกฎหมาย ทัศนคติทั่วไปเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่การยอมความหรือล้มคดี ซึ่งผลจากการศึกษานี้นำมาสู่แนวทางปรับปรุงกรอบกฎหมาย เป็นต้น

ความร่วมมืออย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วนในสังคมจะเป็นประโยชน์ในการค้นหาแนวทางป้องกันและปรับปรุงข้อกฎหมาย ผ่านการประสานความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนทรัพยากรแบบบูรณาการของสหประชาชาติทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อยกระดับสิทธิและการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงในประเทศไทย เป็นการยุติอาชญากรรมและพฤติกรรมลอยนวลของผู้กระทำรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น อันจะนำมาสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนต่อไป

Back