เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ คณะผู้แทนถาวรไทย แคนาดา โคลอมเบีย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก องค์กร Women Beyond Walls, Penal Reform International, Pathfinders for Peaceful, Just, and Inclusive Societies และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) จัดการประชุมคู่ขนานหัวข้อ “Promising Practices to Reduce the Harmful Impact of Imprisonment on Women: A Key Step Forward in Implementing the Beijing Declaration and Platform for Action” โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 69 ณ นครนิวยอร์ก
ในโอกาสครบรอบ 15 ปีของการรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการลดผลกระทบของการจำคุกที่มีต่อผู้หญิง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม โดย TIJ ได้นำเสนอข้อค้นพบจากการประชุมหารือระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งมีประเด็นสำคัญได้แก่
- การทบทวนการใช้โทษจำคุก—ระบบยุติธรรมทางอาญาควรนำมาตราการทางเลือกมาใช้แทนการคุมขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความผิดเล็กน้อยที่เกี่ยวโยงกับความยากจน
- การให้ความสำคัญกับประสบการณ์จริง—การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจำคุกได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
- การเสริมพลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หญิง—การให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นผู้นำที่ตระหนักถึงการตอบสนองเชิงเพศสภาวะในกระบวนยุติธรรม
- ความมุ่งมั่นในการหาแนวทางแก้ปัญหา—การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องอาศัยการทุ่มเทอย่างต่อเนื่องและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ระหว่างการประชุมยังมีการแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจจากหน่วยงานอื่น ๆ
- องค์กร Penal Reform International (PRI) และ Women Beyond Walls ได้เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ ที่เน้นย้ำถึงความล้มเหลวของกฎหมายและระบบที่นำไปสู่การเอาผิดทางอาญาต่อผู้หญิงจากความผิดที่เกี่ยวข้องกับความยากจน เช่น การลักเล็กขโมยน้อย การไร้ที่อยู่อาศัย และการขอทาน
- องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างความรุนแรงทางเพศและการจำคุกผู้หญิง พร้อมชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ
- OHCHR กล่าวย้ำถึงวงจรของความยากจนและการจำคุก โดยผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนขั้นรุนแรงและสิทธิมนุษยชนได้เน้นว่า การทำให้ความยากจนเป็นความผิดทางอาญานั้นไม่เพียงแต่ไร้ประสิทธิภาพ แต่ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย
การประชุมครั้งนี้ได้ตอกย้ำถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะร่วมกันปฏิรูประบบยุติธรรม โดยให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน และแนวทางที่คำนึงถึงเพศสภาวะ และการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่ง 15 ปีที่ผ่านมายิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และการลงทุนที่ยั่งยืน เพื่อสร้างระบบยุติธรรมทางอาญาที่เป็นธรรม เสมอภาค และเอื้อให้ทุกชีวิตได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน