ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ เปิดตัวนิทรรศการเรื่องราวของผู้หญิงในเรือนจำ ในโอกาสครบรอบ 15 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ  

 

 

ข้อกำหนดกรุงเทพ หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders หรือ  Bangkok Rules) เป็นข้อกำหนดที่เกิดขึ้นด้วยการผลักดันของรัฐบาลไทย และได้รับการลงมติรับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2553 ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ข้อกำหนดดังกล่าวได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติใช้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้หญิงในเรือนจำ และการใช้มาตรการทางเลือกที่เหมาะสมกับเพศภาวะ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เปราะบางทั้งผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังที่ดูแลบุตรในเรือนจำ และผู้ต้องขังสูงวัย เป็นต้น 

 

 

ในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของข้อกำหนดกรุงเทพ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีภารกิจหลักเพื่อขับเคลื่อนการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ในระดับสากล ได้จัดนิทรรศการ 15 Years of the Bangkok Rules: Reimagining Success for Women” เพื่อนำเสนอชีวิตของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรม โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านของใช้ส่วนตัวที่มีความหมายแตกต่างกันไป เพื่อสะท้อนตัวตนและเส้นทางชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน งานนิทรรศการนี้จัดแสดงที่ Vienna International Centre   

 

 

ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการ TIJ ได้กล่าวในห้วงพิธีเปิดนิทรรศการถึงจุดเริ่มของข้อกำหนดกรุงเทพที่เกิดจากโครงการกำลังใจในเวที CCPCJ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยจัดแสดงในสถานที่เดียวกันแห่งนี้ พร้อมเน้นย้ำว่า “ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาได้มีการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพอย่างกว้างขวาง แต่ยังมีความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ หัวใจสำคัญของนิทรรศการนี้คือความเชื่อที่ว่าก้าวต่อไปของประชาคมระหว่างประเทศ คือการไปให้ไกลกว่างานราชทัณฑ์ แต่คือการร่วมมือกันข้ามภาคส่วน ไม่เพียงแต่ภาครัฐหรือเอกชน แต่รวมถึงภาคประชาสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงของผู้มีประสบการณ์ตรงในเรือนจำ เพื่อให้เราสามารถทำให้คำมั่นสัญญาของข้อกำหนดกรุงเทพ ที่ได้ให้ไว้ ณ สถานที่แห่งนี้เมื่อหลายปีก่อน กลายเป็นความจริงอย่างแท้จริง”

 

 

ในโอกาสเดียวกัน พณฯ ภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ได้ร่วมพิธีเปิดพร้อมแสดงความยินดีกับ TIJ ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ พร้อมทั้งย้ำถึงจุดยืนของไทยที่ให้ความสำคัญกับข้อกำหนดกรุงเทพมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแสดงความขอบคุณต่อการสนับสนุนที่ไทยได้รับจากมิตรประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม Group of Friends of the Nelson Mandela Rules ที่ไทยเป็นหนึ่งในประธานร่วม 

 

กิจกรรมคู่ขนาน ในหัวข้อ “Renewing our Promise: Strengthening Support for Women in Corrections” 

 

 

นอกจากนี้ TIJ ยังได้ร่วมกับรัฐบาลไทย สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)  United Nations Latin American Institute for Crime Prevention and the Treatment of Offenders (ILANUD)  Penal Reform International (PRI) และรัฐบาลแอฟริกาใต้ จัดกิจกรรมคู่ขนาน ในหัวข้อ “Renewing our Promise: Strengthening Support for Women in Corrections”  เพื่อเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพตลอดระยะเวลา 15 ปี รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อผลักดันการนำข้อกำหนดกรุงเทพ และมาตรการที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ (Gender–responsive approach) ไปใช้ในระดับนานาชาติ 

 

 

ในการนี้ ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กล่าวภายในงานว่า  เวียนนาเป็นสถานที่ต้นกำเนิดของข้อกำหนดกรุงเทพ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่มีการจัดประชุมคู่ขนานครั้งนี้ขึ้น และที่ผ่านมารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นถึงพัฒนาการในการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ในบริบทที่หลากหลายทั่วโลก สะท้อนถึงระบบยุติธรรมที่ตระหนักถึงความต้องการเฉพาะตามเพศภาวะของผู้ต้องขัง รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูบำบัดเพื่อการคืนสู่สังคม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าขึ้นจากระบบยุติธรรมแบบเดิมที่มุ่งเน้นการลงโทษ 

 

อย่างไรก็ดี พบด้วยว่า แนวโน้มของผู้ต้องขังหญิงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนความท้าทายในมิติของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก รวมทั้งสังคมผู้สูงอายุ และภัยอุบัติใหม่ในโลกปัจจุบัน สะท้อนว่า ระบบยุติธรรมที่จำกัดเฉพาะผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมนั้นยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาผู้หญิงในระบบยุติธรรมได้ หากจำต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน และที่ผ่านมาขอขอบคุณ UNODC สำหรับการเป็นผู้นำจัดการประชุม Consultative Meeting ระดับภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมาและในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ และมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ให้มีการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประสิทธิภาพและความก้าวหน้าในการบริหารจัดการระบบยุติธรรมท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ต่อไปในอนาคต 

 


ดร. พิเศษ สอาดเย็น ว่าที่ผู้อำนวยการ TIJ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวสรุปถึงการประชุมครั้งนี้ว่า แม้หลายประเทศจะมีพัฒนาการที่น่าพอใจในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่การขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างแท้จริงยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเปิดรับมุมมองจากกลุ่มที่ไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมมาก่อน ขณะที่นโยบายและกฎหมายในอนาคตควรเป็นผลที่ได้จากประสบการณ์ตรงของผู้หญิงที่เคยเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการแก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำที่ยังคงเป็นความท้าทายระดับโลก ที่ประชุมเห็นพ้องว่าต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การจำคุกในกรณีที่เหมาะสมมากขึ้น
 

 

ในการประชุมคู่ขนานครั้งนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ คลอเดีย บาโรนี หัวหน้าฝ่าย Gender in Criminal Justice Team, UNODC ดักกลาส ดูแรน คาวาเรีย ผู้อำนวยการ United Nations Latin American Institute for Crime Prevention and the Treatment of Offenders (ILANUD) และ อโกซัว อคัฟโฟ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tithandizane Comfort Home ประเทศแซมเบีย
 

 

นิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPCJ) ครั้งที่ 34 ในหัวข้อหลักการประชุม “การรับมืออาชญากรรมที่อุบัติและวิวัฒน์ใหม่ อันรวมถึงอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลักลอบขนสินค้าเชิงพาณิชย์ และการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและอาชญากรรมที่กระทบต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม” (Addressing new, emerging and evolving forms of crime, including crimes that affect the environment, smuggling of commercial goods and trafficking in cultural property and other crimes targeting cultural property) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

Back
chat