ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

การค้ามนุษย์       ปัญหาขอทาน

วันที่ 23 กรกฎาคม 2556 นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงแห่งมนุษย์
(พม.) กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมงและขอทาน   นอกจากนี้ รัฐบาลเห็นว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมเป็นปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  และมอบให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน  กระทรวงยุติธรรม  และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมืออื่นๆ เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประเมินผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงถูกจัดลำดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ( Tier 2-Watch List) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว ซึ่งหากในปีถัดไปไทยยังไม่สามารถแสดงให้เห็นความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาได้ก็จะถูกปรับลงลงไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีความก้าวหน้าอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ไทยได้รับจากสหรัฐฯ ด้วย

ในปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยมีกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และกฎหมายที่บัญญัติให้การค้ามนุษย์เป็นความผิดอาญา ได้แก่ พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528   พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (แรงงานประมง)  พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิดเกี่ยวกับเพศซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ  อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๑๘๒ ว่าด้วยการขจัดแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๑๓๘ ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้ และอนุสัญญาอื่นที่เกี่ยวกับแรงงานและเตรียมที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและพิธีสารว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  อย่างไรก็ดีในปัจจุบันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ซึ่งประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง โดยมีการนำคนจากพื้นที่ชนบทชุมชนชาวไทยภูเขา หรืออื่น ๆ ส่งไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เป็นประเทศทางผ่าน ของขบวนการค้ามนุษย์ในการพาคนจากประเทศพม่า ลาว จีน เขมร ฯลฯ ไปยังประเทศอื่น ๆ และเป็นประเทศปลายทาง กล่าวคือมีการนำคนจากที่อื่นเข้ามาพักและแสวงหาประโยชน์

ปัญหาการค้ามนุษย์จึงเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย เพราะในหลายกรณีมีความเกี่ยวพันกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและสังคมเป็นจำนวนมาก  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล และทุกภาคส่วนจะร่วมกันศึกษาและแก้ไขปัญหานี้

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยมีกรอบแผนงานด้านอาชญากรรมและการพัฒนาในประเด็นการวิจัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมือง โดยจะมุ่งพัฒนางานวิจัยเชิงหลักฐานและกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ในสังคม



แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2556  หน้า 15
ภาพประกอบจาก : www.thairath.co.th และ www.dailynews.co.th
แก้ไขครั้งล่าสุด : 8 กันยายน 2556

Back