ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ จับมือฮาร์วาร์ด – นิติศาสตร์ จุฬาฯ ปั้นเยาวชนผู้นำรุ่นใหม่
ด้าน “หลักนิติธรรม” ครั้งแรกในอาเซียน



สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสถาบัน IGLP (Institute for Global Law and Policy) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวิร์คช็อปเชิงปฏิบัติการ ฝึกอบรมทักษะการวิเคราะห์นโยบายชั้นสูง “Student Workshop for Next-Gen Global Leaders” เพื่อเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนไทยที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในทศวรรษหน้า โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าจากสถาบันด้านกฎหมายและนโยบายชั้นนำจากทวีปอเมริกาและยุโรป ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมาให้ความรู้แก่กลุ่มนิสิตนักศึกษาชั้นแนวหน้าของไทยจากหลากหลายสาขา เพื่อเติบโตเป็นพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้นำนโยบายโลกรุ่นใหม่ผ่านการวิเคราะห์หลักนิติธรรมและนโยบายสาธารณะ (Workshop for Next-Gen Global Policy Leaders) เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของ TIJ และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยความเชื่อที่ว่า เยาวชนรุ่นใหม่มีความสามารถความคิดสร้างสรรค์ และสามารถเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาจากทุกสาขาที่สนใจเข้าร่วมได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์และกำหนดนโยบายสาธารณะ พัฒนาศักยภาพในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการวิเคราะห์และเชื่อมโยง เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะ และสร้างเครือข่ายเยาวชนที่จะเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและคุณธรรมในทุกสาขาวิชา เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน


การอบรมเชิงปฏิบัติการรูปแบบเข้มข้นนี้เป็นการใช้กรณีศึกษาจากนานาชาติร่วมกับรูปแบบของการวิเคราะห์ โดยตั้งเป้าหมายในการเสริมสร้างทักษะภาวะผู้นำฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ และหล่อหลอมทักษะการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นจุดแข็งของการออกแบบหลักสูตรเฉพาะของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อให้เห็นปัญหาใน 4 ประเด็นสำคัญของโลกและนำไปสู่การแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ประกอบด้วย

  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: จากความรับผิดชอบร่วม สู่หน้าที่อันแตกต่างของปัจเจก
  • ประเด็นสาธารณสุขโลก: ปัญหาสิทธิบัตร และโรคภัยสำคัญที่ถูกมองข้าม
  • มาตรฐานกฎหมายแรงงานในตลาดการค้าโลก
  • ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ


เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของเยาวชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการกำหนดนโยบายได้กลายเป็นแนวโน้มของโลก เห็นได้จากการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ผู้นำของประเทศแคนาดา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และล่าสุดที่ออสเตรีย ซึ่งล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อย ด้วยเหตุนี้ การปลูกฝังเยาวชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้นำโลกรุ่นใหม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง


ดังนั้น TIJ จึงได้ขยายการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TIJ Workshop for Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy” ซึ่งเป็นหลักสูตรความร่วมมือด้านหลักนิติธรรมแห่งแรกและแห่งเดียวที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจัดทำขึ้นในเอเชีย โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มผู้นำทางสังคมและผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม ให้ขยายไปครอบคลุมถึงกลุ่มเยาวชนด้วย


“ที่ผ่านมา TIJ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมของเยาวชนในด้านต่างๆ ผ่าน TIJ Youth Program เรามีการจัดการประชุม TIJ Youth Forum on Justice and the Rule of Law ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลาย ประเทศในเอเชียที่ได้ใช้เวทีนี้ในการหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ทางสังคม อันนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างตรงจุด ซึ่งจากการประชุมในลักษณะนี้ทำให้เราได้ตระหนักว่า เยาวชนมีศักยภาพที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างมาก” เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวณิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
“หลักนิติธรรมเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ท่ามกลางการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์สุขภาพ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมโลก การติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้นำโลกรุ่นใหม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อทุกภาคส่วน"


“การเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนรุ่นใหม่ให้ยึดมั่นในหลักนิติธรรม จะช่วยลดช่องว่างของความเลื่อมล้ำ ขณะที่ปัญหาต่างๆ ก็ได้รับการแก้ไขอย่างตรงประเด็น โดยคำนึงถึงความถูกต้องและเป็นธรรม ส่งผลให้การขับเคลื่อนประเทศในทุกภาคส่วนก้าวหน้าไปพร้อมๆ กันในที่สุด” เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

Back