ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 - TIJ ได้จัดเวทีเพื่อนำเสนองานวิจัยระยะที่หนึ่งเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ งานวิจัย ดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยที่ TIJ จัดทำร่วมกับ UNODC


ในครั้งนี้ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสำนักกิจการต่างประเทศและประสานนโยบาย พร้อมด้วย Mr. Benjamin Smith ผู้ประสานงานภูมิภาคด้านการค้ามนุษย์ จาก UNODC ได้ขึ้นกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลอาญา เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้างานด้านค้ามนุษย์กรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น


Prof. Andreas Schloenhardt ที่ปรึกษาอาวุโสด้านงานวิจัยของ UNODC ได้นำเสนองานวิจัยระยะที่หนึ่ง เรื่อง การค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ถึงประเทศไทย (Trafficking in Persons from Cambodia, Lao PDR, and Myanmar to Thailand) งานวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ รายละเอียด และเปรียบเทียบเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์


สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว ประกอบกับประเทศไทยให้ค่าตอบแทนกับผู้ใช้แรงงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านต่างต้องการอพยพเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหางานทำ ในขณะที่กลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งสบโอกาสในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่อพยพผ่านทางชายแดน


ทั้งนี้ Prof. Andreas ได้เสนอข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่ง คือ แม้ว่าประเทศไทยจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ แต่ในความเป็นจริงการแก้ปัญหานี้ยังมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายและการปฏิบัติ โดยเฉพาะระบบราชการที่อาจยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทันท่วงที ภายหลังการนำเสนองานวิจัย ผู้เข้าร่วมได้ซักถามแลกเปลี่ยนประเด็นข้อสงสัยต่องานวิจัยดังกล่าว ซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินการวิจัยขั้นต่อไป

Back