ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เทรนด์ใหม่โลกแก้ปัญหายาเสพติด
เข้าใจรากของปัญหา-ลดโทษ-ลบประวัติ-เสริมมาตรการที่มิใช่การคุมขัง


ประเด็นปัญหายาเสพติดในสังคมโลกปัจจุบันมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องกับสภาพปัญหาของแต่ละสังคม ส่งผลให้การแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถนำไปใช้เป็นสูตรสำเร็จกับประเทศอื่นได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างประเทศที่ประสบปัญหาย่อมจะส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายได้มองเห็นแนวทางที่จะปรับปรุง พัฒนา และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสังคมของตนได้ ในเวทีที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 61 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ระหว่างวันที่ 14 ถึง 16 มีนาคม 2561 ผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดจากนานาประเทศ จึงได้มารวมกันพูดคุยและทบทวนประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดและมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาอยู่ในปัจจุบันร่วมกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการยาเสพติด


สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย นางสาวเจน ฮอลลอเวย์ หัวหน้ากลุ่มโครงการอาชญากรรมและการพัฒนา และนางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด โดยในครั้งนี้ TIJ มีกำหนดจัดกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมดังกล่าวในหัวข้อ “ผู้หญิง นโยบายทางด้านยาเสพติด และสถานการณ์การจำคุกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การบูรณาการประเด็นในมิติเพศภาวะ” และมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่  นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นางสาวเคที่ อัลวาเรซ ผู้ประสานงานโครงการเกี่ยวกับผู้หญิงและการจำคุก จำคุก จาก  International Drug Policy Consortium – IDPC และนายเออเนสโต คอร์เตส จาก Asociación Costarricense para el Estudio e Intervención en Drogas หรือ ACEID


ผู้หญิงอาเซียนส่วนใหญ่ติดคุกเพราะ “ยาเสพติด”
นายเจเรมี ดักลาส เปิดประเด็นการเสวนาว่า ผู้หญิงที่ต้องโทษจำคุกนั้นเป็นประเด็นปัญหาทางด้านนโยบายยาเสพติด โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดยาเสพติดที่มีลักษณะเฉพาะ และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าการใช้ยาเสพติดสังเคราะห์ขยายตัวขึ้นทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมทแอมเฟตามีน และยาไอซ์ โดยมีรายงานว่าในหลายประเทศมีการใช้ยาไอซ์อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ต้องมีการนำข้อกำหนดกรุงเทพ หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังมาใช้ เพราะการใช้ยาเสพติดถือเป็นความผิดทางอาญา อย่างไรก็ดีจะพบได้ว่าศักยภาพในการจัดการปัญหานี้ในภูมิภาคมีความคล้ายคลึงกับทางฝั่งลาตินอเมริกา กล่าวคือ บุคลากรและเทคนิคต่างๆ ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การกำหนดให้การใช้ยาเสพติดเป็นความผิดทางอาญาในกระบวนการยุติธรรมเป็นประเด็นปัญหาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้มีแค่เรื่องการใช้ยาเสพติดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงฝั่งผู้ค้ายาเสพติดด้วย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะพบว่ามีการจับกุมผู้กระทำผิดฐานค้ายาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ในหลายๆ ประเทศยังพบด้วยว่ามีผู้ถูกคุมขังเพื่อรอการไต่สวนจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ได้สร้างปัญหานักโทษล้นเรือนจำในหลายประเทศ มีเรือนจำมากกว่าร้อยละ 50 ที่ต้องรองรับผู้ต้องขังเกินอัตรากำลัง และปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นกับเรือนจำในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน

แนวทางการแก้ไขปัญหาทางหนึ่งคือการเผยแพร่การนำข้อกำหนดกรุงเทพ หรือ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทูตสันถวไมตรีของ UNODC สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ซึ่งเป็นผู้นำเสนอข้อกำหนดดังกล่าวสู่องค์การสหประชาชาติได้ทรงทำงานร่วมกับ UNODC สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยและโครงการกำลังใจในพระดำริ เพื่อสร้างเสริมปัจจัยเกื้อหนุนในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะผลิดอกออกผลอย่างดีในอนาคต เร็วๆ นี้ UNODC จะนำเสด็จคณะของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปยังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อเยี่ยมชมความก้าวหน้าในการดำเนินงานของเรือนจำที่อินโดนีเซียในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ

นอกจากนี้ UNODC จะได้จัดงานประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อผลักดันทางการเมืองในการเสริมสร้างสิทธิแก่ผู้หญิงในเรือนจำ สถานการณ์ที่พบในเรือนจำนั้นมีความเชื่อมโยงกับนโยบายด้านยาเสพติดอย่างมาก กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับคดียาเสพติดเป็นความท้าทาย เพราะถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาคนล้นคุก หากหวังว่าการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในภูมิภาคจะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าว


เข้าใจรากของปัญหา แก้วิกฤติคนล้นคุก
จากนั้นตัวแทนของประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมเสวนา โดยในส่วนของนางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรหญิงในเรือนจำสูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีจำนวนมากกว่าฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา และถือเป็นประเทศที่มีนักโทษหญิงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย จากนักโทษในไทยจำนวนทั้งหมดอยู่ที่ 330,000 คน เป็นนักโทษหญิง 45,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของนักโทษทั้งหมดของประเทศ และมีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2550-2560 อยู่ที่ร้อยละ 8

ข้อกำหนดกรุงเทพได้กำหนดไว้ว่ารัฐบาลควรจะทำความเข้าใจว่าผู้หญิงที่ถูกคุมขังนั้นคือใคร จากผลการศึกษาพบว่า เป็นผู้กระทำผิดเป็นครั้งแรก ร้อยละ 78 กระทำผิดในข้อหายาเสพติด ร้อยละ 80 มีสถานะเป็นมารดา ร้อยละ 78 และยอมรับว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ร้อยละ 50 โดย 1 ใน 3 ของผู้ต้องขัง ต้องโทษจำคุก 1-5 ปี

เส้นทางที่นำพวกเธอเข้าสู่เรือนจำส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำผิดในข้อหามียาเสพติดในครอบครอง การผลิตและจำหน่ายยาเสพติด ผู้หญิงที่กระทำผิดในข้อหานี้มีประสบการณ์วัยเด็กที่เลวร้าย เช่น ถูกล่วงละเมิด ถูกกระทำความรุนแรง และมีประวัติการใช้ยาเสพติดในครอบครัว และถูกกลุ่มเพื่อนที่มีประวัติคล้ายคลึงกันผลักดันให้กระทำความผิด ทั้งการลองใช้ยาเสพติดและนำไปสู่การติดยาเสพติด ในบางกรณีเป็นผู้ที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่นแต่ตามใจลูกอย่างไร้เหตุผล ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งกระทำผิดเพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัว และสุดท้ายคือกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่ดีแต่ด้วยความไร้เดียงสาทำให้ถูกล่อลวงสู่เส้นทางของการเป็นผู้กระทำผิดได้ง่าย

นอกจากนี้ จากการศึกษาผู้หญิงไทยที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำต่างประเทศ 10 คน ยังพบว่าทุกคนเป็นเพียงกลุ่มคนระดับล่างสุดขององค์กรค้ายาเสพติดข้ามชาติ พวกเขาเป็นคนที่รับหน้าที่ส่งยาเสพติดให้คนอื่น และได้สานสัมพันธ์กับผู้ชายที่เป็นอาชญากร อีกหลายคนต้องหาเลี้ยงครอบครัว จึงยอมทำผิดกฎหมาย โดยรูปแบบการกระทำผิดเช่นนี้พบเห็นได้บ่อยครั้ง อาจกล่าวได้ว่าความรักและผูกพัน ความเหงาโดดเดี่ยว และขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้พวกเธอต้องตกเข้ามาอยู่ในวังวนของอาชญากรรม

นางสาวชลธิช เสนอว่า การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันก่อนที่ผู้หญิงจะเดินทางสู่การกระทำผิดด้วยหลายเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับผู้หญิงที่ผิดพลาดไปแล้วจำต้องมีการปฏิบัติต่อผู้หญิงในเรือนจำที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับการศึกษา โดยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการต้องโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขนยาเสพติดข้ามชาติ ผู้หญิงที่มีความเชื่อถือในตนเองต่ำ ขาดทักษะในการดำรงชีวิต และไม่รู้ว่าจะกล่าวปฏิเสธอย่างไร ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต ส่วนนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจำเป็นต้องเพิ่มมิติทางเพศภาวะเข้าไปในการพิจารณาคดี โดยการตัดสินโทษคุมขังควรเป็นมาตรการสุดท้าย


สร้างนักกฎหมายในเรือนจำ นำผู้ต้องขังคืนสังคม
ทางด้าน เคที่ อัลวาเรซ ผู้ประสานงานโครงการเกี่ยวกับผู้หญิงและการจำคุก IDCP แลกเปลี่ยนข้อมูลจากประเทศฟิลิปปินส์ว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีจำนวนประชากรหญิงในเรือนจำสูงมาก และมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำสูงถึง 600 เท่า โดยผู้ต้องขังร้อยละ 8 เป็นผู้หญิง หรือคิดเป็นผู้ต้องขังหญิงจำนวน 21,000 คน รวมถึงผู้ต้องขังที่รอการไต่สวน ผู้ต้องขังส่วนใหญ่อยู่ในเรือนจำอย่างแออัดและขาดศักยภาพในการรองรับผู้ต้องขังในปริมาณมาก โดยร้อยละ 60 เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ผู้ต้องขังเหล่านี้เปราะบางต่อการถูกล่วงละเมิดสิทธิและไม่สามารถเข้าถึงการสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพด้านระบบสืบพันธุ์ได้ บางครั้งแม้แต่ครอบครัวของพวกเขาก็ไม่มาเยี่ยมเพราะกลัวตราบาป และมีผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย

เคที่ กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะมองว่าผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้มีความสามารถทางด้านกฎหมาย ดังตัวอย่างในเมืองที่อาศัยอยู่มีปัญหาขาดแคลนทนายของรัฐ มีทนายของรัฐอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่มีมากถึง 12,00 คดี จึงเป็นเรื่องที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ต้องหาจะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ผู้ต้องขังหญิงบางคนถูกจำคุกมานานถึง 12 ปี ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด แล้วในเรือนจำก็มีพื้นที่เพียงพอรับผู้ต้องขังได้เพียง 40 คน แต่กลับมีผู้ต้องขังมากถึง 100 คน ในปี 2558 ฟิลิปปินส์จึงได้เริ่มฝึกอบรมความรู้ด้านกฎหมายให้แก่ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ โดยให้ทางเรือนจำคัดเลือกผู้ต้องขังเข้าร่วมการฝึกอบรม และจากการฝึกอบรมทำให้พบว่าผู้ต้องขังหลายคนมีความสามารถสูงกว่านักเรียนกฎหมาย ผู้ต้องขังหญิงหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเธอสามารถขอประกันตัวได้ ครั้งหนึ่ง หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแล้ว ผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งถึงได้ยื่นขอประกันตัว ทนายของรัฐแจ้งว่าจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นหากผู้หญิงเหล่านี้สามารถอธิบายคดีได้ด้วย ทางองค์กร IDCP จึงขอความร่วมมือจากผู้ต้องขังให้อธิบายคดีด้วย และบางครั้งก็มีความต้องการให้ฝีกอบรมกฎหมายอื่นๆ นอกเหนือจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดร้ายแรงแล้ว  เช่น กฎหมายครอบครัว กฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งช่วยให้ผู้ต้องขังเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นในศาลและคดีของตนได้

นางสาวเคที่ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2560 ผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับการฝึกอบรมความรู้ด้านกฎหมายถูกขนานนามในบทความหนึ่งว่า “กองพันลิปสติก” พวกเธอได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องขังร่วมเรือนจำ และช่วยกระตุ้นเตือนให้เจ้าหน้าที่เรือนจำทราบหากมีคดีใดไม่คืบหน้า ซึ่งทำให้พวกเธอภาคภูมิใจมากที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น แต่หลายครั้งด้วยอาชญากรรมที่ได้กระทำไว้ ทำให้พวกเธอต้องถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลานาน ส่วนการใช้ชีวิตในเรือนจำ ผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับการฝึกอบรมทางกฎหมายจะได้รับเครื่องแบบที่แตกต่างจากผู้ต้องขังอื่นๆ และเจ้าหน้าที่เรือนจำจะจดจำพวกเธอได้ และโดยปกติแล้วปากกาเป็นสิ่งต้องห้ามในเรือนจำ แต่ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะได้รับปากกาขณะอยู่ระหว่างการฝึกอบรม โดยทางเรือนจำจะเก็บคืนเมื่อเสร็จสิ้นการอบรมแล้ว

ในการฝึกอบรมนี้นักเรียนกฎหมายจะเข้ามาช่วยเหลือผู้ต้องขังในโครงการด้วย ครั้งหนึ่งผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งถูกคุมขังระหว่างการไต่สวนเป็นเวลานาน แต่ไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไร จากนั้นเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำให้หลักฐานคดีสูญหายไปหมด นักเรียนกฎหมายจึงเข้ามาช่วยเหลือโดยให้ข้อมูลแก่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและทำให้คดีคืบหน้าต่อไปได้ สำหรับสิ่งสำคัญที่ผู้ต้องขังจะได้จากการฝึกอบรมนี้ นอกจากจะช่วยให้พวกเธอได้ช่วยเหลือเพื่อนผู้ต้องขังแล้ว พวกเธอยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เมื่อได้รับการปล่อยตัว และอาจจะเป็นทนายความได้ในอนาคต

ทาง IDPC ให้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายรวบรวมข้อมูลของผู้ต้องขังหญิงที่ได้ร่วมโครงการ ทำให้ทราบว่าพวกเธอต่างก็มีความฝัน และได้แสดงความสามารถทั้งด้านการร้องเพลงและเต้นรำให้เจ้าหน้าที่ได้เห็น หลังจากนั้นพวกเธอยังได้ให้ข้อมูลต่อผู้พิพากษาถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

นางสาวเคธี่ กล่าวสรุปว่า โครงการนี้ได้ช่วยให้ผู้หญิงเหล่านั้นได้เกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองคืนมา และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ เป็นการให้โอกาสที่สองแก่พวกเธอ และหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเกิดการนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ให้มากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้

ปฏิรูปกฎหมายสู่การลดโทษ-ลบประวัติ-ไม่จำคุก
ด้านนายเออเนสโต คอร์เตส จาก ACEID ประเทศคอสตาริกา อภิปรายถึงสถานการณ์ผู้ต้องขังหญิงในประเทศคอสตาริกา ว่า คอสตาริกาเป็นประเทศเล็ก แต่กลับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนประชากรในเรือนจำมากติดอันดับในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด สถิตินี้เป็นเรื่องเก่าเพราะการเก็บข้อมูลคดียาเสพติดนั้นทำได้ยาก คอสตาริกานั้นถูกระบุเป็นประเทศหลักในการทำโครงการ CEDD  (the Common European Drug Database - CEDD project) เพื่อศึกษาการจำคุกในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในปี 2557 จำนวนผู้ต้องขังในคอสตาริกามีความแตกต่างกันในด้านอายุระหว่างชายและหญิงในเรือนจำ โดยผู้หญิงจะมีอายุระหว่าง 40-44 ปี ส่วนใหญ่มีภาระต้องเลี้ยงดูลูกอย่างน้อย 2-3 คน พวกเธอถูกจำคุกจากคดีค้ายาเสพติดประเภทกัญชาหรือโคเคนในปริมาณน้อย หรือคดีค้ายาภายในเรือนจำ และร้อยละ 60 เป็นการกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด ขณะที่ผู้ต้องขังชายที่ถูกจำคุกซ้ำในคดียาเสพติดมีเพียงร้อยละ 20 แต่สถิตินี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาใหญ่ก็ยังคงอยู่ที่การกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิง

ด้วยปัญหาดังกล่าวจึงนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายในปี 2556 คือ กฎหมายมาตรา 9161 โดยมีการแก้กฎหมายข้อ 77bis กำหนดโทษให้ผู้หญิงที่ถูกจับในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องโทษคุมขังที่ 3-8 ปี และกำหนดให้มีทางเลือกเป็นบทลงโทษที่มิใช่การคุมขัง รวมทั้งการกำหนดแนวทางการขอลดโทษ ได้แก่ ผู้ต้องคดีมีฐานะยากจนอย่างมาก ผู้ต้องคดีเป็นผู้เปราะบางทางสังคม ผู้ต้องคดีเป็นเยาวชน และผู้ต้องคดีเป็นผู้สูงอายุ เมื่อกฎหมายบังคับใช้ได้ช่วยแก้ไขปัญหาคนล้นคุก ทำให้จำนวนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำลดลงร้อยละ 6 สถิตินี้เฉพาะในส่วนของผู้ต้องขังหญิงเท่านั้น ส่วนเรือนจำชายยังคงพบปัญหาผู้ต้องหาล้นเรือนจำอยู่เช่นเดิม

นอกจากนี้ยังมีการปฏิรูปกฎหมายอื่นๆ เช่น การลบบันทึกประวัติอาชญากรรมหลังจากพ้นโทษ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้หญิงที่พ้นโทษแล้วจะสามารถหางานทำและกลับคืนสู่สังคมได้ โดยจากก่อนหน้านี้ที่กว่าจะลบประวัติได้ต้องใช้เวลา 10 ปี แต่ปัจจุบันลดเวลาลง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่รับโทษ ทั้งยังมีโครงการกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์สำหรับผู้ต้องคดียาเสพติด ให้ได้รับการบำบัดทางการแพทย์ ทั้งนี้อยู่ที่การวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาและความเห็นสนับสนุนของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ อีกทั้งมีโครงการฟื้นฟูเพื่อการคืนสู่สังคมอีกหลากหลายโครงการ โดยอัยการภาครัฐได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรทางด้านสังคมและสุขภาพต่างๆ ยังผลให้จำนวนผู้ต้องขังหญิงที่ต้องคดีค้ายาในเรือนจำลดลง และสะท้อนให้เห็นว่าผู้พิพากษาเริ่มนำแนวทางที่มิใช่การคุมขังมาเป็นทางเลือกในการพิจารณาคดี

เปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมอาญาด้วยบทบาท “ผู้นำ”
ในที่ประชุมเสวนา มีผู้สนใจตั้งข้อซักถามว่า ควรจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงต้องโทษคุมขัง และ UNODC พยายามจะดำเนินงานอย่างไรในเรื่องนี้และการทำงานร่วมกับผู้ที่ติดยาเสพติดในชุมชนต่างๆ

นายเจเรมี ได้ตอบประเด็นนี้ว่า การแก้ปัญหาที่กล่าวมาทั้งในเรื่องของยาเสพติดและคนล้นคุก จำต้องสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำ โดยสิ่งที่ UNODC ดำเนินการอยู่นั้นคือการอธิบายให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถสร้างบทบาทนำในเรื่องนี้ได้ผ่านประชาคมอาเซียน UNODC และองค์กรอื่นๆ โดยหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงนโยบาย ส่วนในทางปฏิบัติกำลังอยู่ระหว่างการวางกรอบนโยบายการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังและข้อกำหนดด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประเด็นนี้ในการอธิบายให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบและตระหนักถึงในวงกว้างอีกด้วย เช่นเดียวกับการประชุมในวันนี้ที่ช่วยให้ภาคีสมาชิกสามารถเผยแพร่แนวความคิดนี้สู่สาธารณชนในวงกว้างได้มากขึ้น

สำหรับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ผู้ที่ติดยาเสพติด UNODC ได้ดำเนินการผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับภาคีเครือข่ายนานาชาติ แต่ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมแก่ผู้ที่ติดยาเสพติดมากนัก และหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนไป นอกจากนี้ UNODC ยังอยู่ระหว่างการร่วมกับองค์กรต่างๆ ในการให้การช่วยเหลือฟื้นฟูและบรรเทาผลกระทบจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งโครงการนี้ยังอยู่ในช่วงทดลอง ทั้งนี้ หากต้องการให้สถานการณ์ยาเสพติดเปลี่ยนไป จำต้องบูรณาการความร่วมมือกับผู้มีอำนาจระดับสูงในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อการบริหารจัดการเชิงนโยบาย รวมทั้งต้องมีเงินทุนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหานี้ด้วยอีกทางหนึ่ง


แปลและเรียบเรียงบทความจาก :
http://cndblog.org/2018/03/side-event-women-drug-policy-and-incarceration-in-southeast-asia/

Back