ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2556 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปยังคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทรงให้สัมภาษณ์นางอีดิธ ลีเดอเรอร์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำสหประชาชาติ สำนักข่าวเอพี เกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ "The Bangkok Dialogue on the Rule of Law" ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 นี้ ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ (Siam Kempinski Hotel) กรุงเทพมหานคร

การประชุม Bangkok Dialogue on the Rule of Law จะเป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำระดับโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันนักวิชาการ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ และผู้แทนภาคเอกชนจะได้แลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับความสำคัญของระบบยุติธรรมและหลักนิติธรรมต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน การส่งเสริมสันติภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือเพื่อผลักดันให้เป้าหมายการพัฒนาตามนโยบายของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หลังปี ค.ศ. 2015 ให้ความสำคัญกับมิติด้านหลักนิติธรรม

การประชุม Bangkok Dialogue on the Rule of Law นี้ รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นตามแนวพระดำริ โดยมอบหมายให้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดประชุม จนถึงปัจจุบัน มีผู้นำระดับสูงและผู้นำในวงวิชาการหลายท่านตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว เช่น อาทิ นายโฮเซ่ ราโมส ฮอร์ตา อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และนายเดวิด เคนเนดี้ ผู้อำนวยการ Institute for Global Law and Policy และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ประทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญของการจัดการประชุมดังกล่าว ตลอดจนแนวพระดำริที่ทรงมุ่งผลักดันการส่งเสริมเรื่องหลักนิติธรรมในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรอบของสหประชาชาติ

ทรงมีพระดำรัสตอนหนึ่งว่า “สังคมเราจะไม่สามารถเติบโตและก้าวหน้าได้ หากยังขาดเสถียรภาพและความยุติธรรม สังคมย่อมเกิดความวุ่นวาย หากกฎหมายไม่มีความเป็นธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่ใช้อยู่ไร้ประสิทธิภาพ” 

เมื่อปี ค.ศ. 2000 สหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals, MDGs) ขึ้น เพื่อผลักดันนานาประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนา เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญในมิติต่างๆ เช่น การขจัดความยากจนระดับรุนแรงที่สุดลงให้ได้ร้อยละ 50 การจัดการศึกษาขั้นมูลฐานให้แก่เด็กทุกคน การทำให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการน้ำสะอาดและบริการด้านสุขอนามัย รวมถึงการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคเอดส์ เป็นต้นได้ภายในระยะเวลา 15 ปี  ในการนี้ จึงทรงมีพระดำริว่าเป้าหมายการพัฒนาภายหลังจากเป้าหมายแห่งสหัสวรรษครบกำหนดลงในปี ค.ศ. 2015 นั้น ควรมีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้นมากกว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ แต่ควรรวมถึงเป้าหมายด้านการเข้าถึงความยุติธรรมด้วย  โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ว่าด้วยเรื่องหลักนิติธรรมตามแนวพระดำรินั้น ควรมุ่งให้ทุกประเทศในโลกมีกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียม มีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสสำหรับทุกคน

ทั้งนี้ หลังการประทานสัมภาษณ์ สำนักข่าวเอพีได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ในโอกาสดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ นำไปเผยแพร่ต่อเป็นจำนวนมาก สำหรับบทสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษฉบับเต็มนั้น ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลบนเว็บไซต์ที่ระบุไว้ต่อไปนี้



แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :
http://www.dailynews.co.th/world/240558
http://www.posttoday.com
http://www.cbsnews.com/8301-501364_162-57607492/thai-princess-fights-for-equal-justice/
http://www.nzherald.co.nz/world/news/article.cfm?c_id=2&objectid=11140471
http://www.newsdaily.com/world/10a24a04480c3cac2e5515c9b5669a53/thai-princess-campaigns-for-rule-of-law
http://www.news1130.com/2013/10/14/interview-thai-princess-who-became-criminal-prosecutor-campaigns-for-rule-of-law/

 

ดาวน์โหลด Final Repot: Bangkok Dialogue on the Rule of Law

Back