ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

คณะผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD เยี่ยมชมและศึกษาดูงานศาลฎีกา

 

กระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานรัฐ ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคม โดยมี ศาลฎีกา เป็นหน่วยงานสูงสุดในระบบศาลยุติธรรมของไทย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โดยโครงการอบรมหลักสูตร “ผู้บริหารหลักนิติธรรมและการพัฒนา” หรือ RoLD Programme ตระหนักถึงความสำคัญของศาลฎีกาในกระบวนการยุติธรรม และได้นำคณะผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ TIJ เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทและความสำคัญของศาลฎีกาต่อการอำนวยความยุติธรรมในสังคมไทย

 

 

ในการนี้  นายสไลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวต้อนรับ คณะผู้เข้าร่วมอบรมฯ ณ ห้องพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และบรรยายสรุป เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา : นโยบายประธานศาลฎีกาในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและแนวทางการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งผลที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต” ซึ่งอาจสรุปได้ว่า ศาลฎีกามีนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม โดยในขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการวางเป้าหมายหลักเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยไว้ คือ ลดการเรียกหลักประกัน เพิ่มความปลอดภัยให้สังคม และลดการคุมขังในกรณีที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน

 

ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ เช่นการพัฒนาระบบการประชุมปรึกษาคดีขององค์คณะให้เข้มแข็งในทุกชั้นศาล มีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม การพิจารณาคดีพิพากษาคดี และการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การพัฒนาระบบ e-court ให้มีประสิทธิภาพและแพร่หลายมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้

 

อีกทั้งมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคลด้วยการสร้างสมดุลระหว่างจริยธรรมระบบอาวุโส และความรู้ความสามารถ และสนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม และที่ไม่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม

 

  

Back